5 เรื่องแปลก...แต่จริง
แสงสว่างแห่งความตาย
ภาพนี้ไม่ใช่ภาพจากภาพยนตร์ไซไฟ และไม่ใช่ภาพที่ถูกแต่งขึ้น (และไม่ใช่แมลงสาบเรืองแสงของแอดหมี) แต่มันเป็นภาพจริงจากอุทยานแห่งชาติอีมาส ในบราซิล
ภาพนี้คือภาพตัวอ่อนของแมลงจำพวกด้วงซึ่งอาศัยอยู่ชั้นนอกของเนินดินและจอมปลวก ในตอนกลางคืนที่มืดสนิทและอากาศชื้น พวกมันจะออกมาจากที่ซ่อนและเปล่งแสงสีเขียวออกมา แสงนี้เกิดจากปฏิกิริยาเคมีในเซลล์พิเศษของสัตว์ที่ทำให้อวัยวะเรืองแสงได้
ตัวอ่อนพวกนี้จะใช้แสงหลอกล่อเหยื่อที่เป็นแมลงตัวเล็กว่ารวมถึงปลวกเจ้าของบ้านออกมาให้มันจับกิน และถ้ามันรู้สึกว่าถูกบุกรุก มันก็จะเปล่งแสงจ้ากว่าเดิม เพื่อขับไล่ศัตรูไป
ฟอสซิลนิ้วมือ?
มีการค้นพบฟอสซิลกระดูกคล้ายมือที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาที่แทนซาเนีย
กระดูกฟอสซิลชิ้นนี้มีอายุอย่างน้อย 1.84 ล้านปี ซึ่งเก่าแก่กว่าอายุมนุษย์มาก กระดูกนี้มีลักษณะคล้ายชิ้นส่วนของกระดูกนิ้วมือ และบังเอิญเข้ากันได้อย่างพอดิบพอดีกับกระดูกนิ้วก้อยซ้ายของมนุษย์สมัยใหม่
โดยนักโบราณคดีกล่าวว่าฟอสซิลชิ้นนี้อายุมากกว่า แต่ดูทันสมัยกว่าฟอสซิลกระดูกคล้ายมือที่เก่าที่สุดที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้เสียอีก แต่ทั้งนี้เรายังไม่ทราบว่ามันเป็นฟอสซิลของสัตว์ชนิดใด
มังกรดำแปซิฟิค
ปลาโบราณน้ำลึกอีกสายพันธุ์หนึ่งที่หน้าตาไม่ดีเท่าไหร่ แต่หน้าตาคงไม่จำเป็นในที่มืดๆ
ชื่อของมัน Pacific Blackdragon มีที่มาจากลักษณะพิเศษของผิวหนัง เนื่องจากเหยื่อแทบทุกชนิดของมันเรืองแสงได้ ส่วนท้องของมันจึงออกแบบไม่ให้แสงทะลุผ่านได้เลย
หมึกมองเห็นทางผิวหนัง
หมึกเป็นสัตว์มีตา และมีตาใหญ่ด้วย แต่มันไม่ได้ใช้ตาในการมองเห็นได้อย่างเดียว การทดลองล่าสุดพบว่ามันสามารถมองเห็นด้วยผิวหนังได้ (University of California)
ผิวของสัตว์จำพวกหมึกจะเปลี่ยนไปมาตามสภาพแวดล้อม เพื่ออำพรางตัวในการล่าและหลบซ่อนจากนักล่า มันเปลี่ยนสีได้เร็วมากและน่าอัศจรรย์
จากการทดลองกับผิวหนังของหมึกที่ยังสด พบว่าผิวของมันมีเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงและตอบสนองต่อแสงนั้นได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาลูกตา และไม่ต้องใช้สมองด้วยซ้ำ
เมื่อฉายแสงสีขาวและฟ้าไปที่ผิวหนังของหมึก มันจะตอบสนองด้วยการเปลี่ยนสีทันทีโดยอัตโนมัติ นั่นทำให้หมึกสามารถเปลี่ยนสีได้อย่างสมูธและรวดเร็ว ดังที่เราเห็นในสารคดี
Rinorea niccolifera ต้นไม้ดูดพิษ
แม้พืชที่สามารถดูดโลหะหนักจากพื้นดินจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรมาก แต่ Rinorea niccolifera ที่เพิ่งถูกค้นพบบนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์นี้ สามารถดูดซับโลหะหนักได้มากกว่าพืชชนิดอื่นถึง 1000 เท่า
Rinorea niccolifera เป็นพืชที่สามารถดูดโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ออกจากดินบริเวณพื้นที่ๆมีการปนเปื้อนได้ โลหะหนักที่ดูดขึ้นมาได้จะถูกเก็บสะสมไว้ในลำต้นและใบของมัน
และเนื่องจากมันสามารถดูดซับโลหะได้ในปริมาณที่สูงมาก ทำให้เหมาะที่จะใช้ปลูกในพื้นที่ที่ดินเกิดการปนเปื้อนสารเคมีและโลหะเป็นพิษ นอกจากนี้เรายังสามารถถลุงเอาโลหะที่สะสมในเนื้อเยื่อของมันมาใช้งานได้ด้วย
แต่โชคร้ายที่พืชชนิดนี้เป็นพืชที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยขณะที่ค้นพบ(2014) มันกระจายตัวอยู่ในพื้นที่บริเวณแคบๆเท่านั้น