รู้ยัง!!..ฟันของคนเราแข็งแรงกว่ากระดูก?
ฟันของคนเราแข็งแรงขนาดไหน?
"ฟัน" เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในระบบย่อยอาหารที่ทำหน้าที่กัด ฉีก เคี้ยวและบดอาหารเพื่อให้กลืนอาหารได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการพูดและการออกเสียงอีกด้วย
แม้ว่าฟันจะบิ่น แตกหรือหักได้บ้าง แต่นั่นก็ต้องใช้แรงกระทำต่อฟันไม่น้อย นั่นก็เพราะว่าฟันของมนุษย์เรานั้นแข็งแรงมาก มากเสียยิ่งกว่า กระดูก เหล็กและเหล็กกล้า
ฟันจึงมักจะถูกนำมาใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลหรือชันสูตรศพเนื่องจากเป็นส่วนที่แข็งแรงมีความคงทนมากที่สุดในร่างกายของมนุษย์ (และการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ยังบอกอีกด้วยว่า ฟันมนุษย์นั้นแข็งแรงพอๆกับฟันของฉลาม)
การที่ฟันแข็งแรงขนาดนั้นเป็นเพราะโครงสร้างหลักๆของมันนั่นเอง ได้แก่
1) ตัวฟัน (crown) เป็นส่วนที่โผล่พ้นเหงือกออกมาจากขากรรไกร เป็นส่วนหนึ่งของฟันทั้งซี่ เปรียบได้กับลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ ส่วนรากของฟันก็เหมือนกับรากต้นไม้ที่ฝังตัวอยู่ในดิน
2) ชั้นเคลือบฟัน (enamel) ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งที่สุดและเงาวาวครอบตัวฟันอยู่ โดยมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นสารอนินทรีย์คือ ผลึกแคลเซียมฟอสเฟต ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันฟันเนื้อฟันไว้
3) เนื้อฟัน (dentin) ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในฟัน แม้ว่าเนื้อฟันจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าเคลือบฟัน แต่ก็มีความแข็งแรงมากพอกับกระดูก ทำหน้าที่เป็นส่วนรองรับเคลือบฟัน รับแรงจากการบดเคี้ยวไม่ให้ฟันแตกร้าว และช่วยป้องกันส่วนที่อยู่ชั้นในสุดของฟันซึ่งก็คือ เนื้อเยื่อในของฟัน (pulp)
เนื้อเยื่อในจะบรรจุอยู่ในโพรงฟัน เป็นที่อยู่ของเส้นประสาทและหลอดเลือดนำอาหารไปหล่อเลี้ยงฟัน โพรงประสาทฟันจึงมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นสูง ทำหน้าที่ในการรับความรู้สึกร้อน เย็น ปวด เจ็บ และส่งสัญญาณไปยังสมอง
ดังนั้น หากเคลือบฟันและเนื้อฟันถูกทำลายมาจนถึงชั้นโพรงประสาทนี้แล้ว เราก็จะรู้สึกปวดและสียวฟันมากนั่นเอง
แม้ว่าธรรมชาติจะมีระบบการป้องกันตัวของมัน เคลือบฟันที่มีความแข็งแกร่งก็ยังต้องยอมแพ้ให้กับเชื้อแบคทีเรีย หากเราทานอาหารจำพวกแป้ง หรืออาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงแล้วไม่ดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี เกราะกำบังของฟันก็จะผุ กร่อนและเสียได้