พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีดู “คนพาล”
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า คนไหนเป็นคนพาล คนไหนเป็นบัณฑิต?
ในทางพระพุทธศาสนาระบุว่า คนพาลได้แก่ “คนโง่ คนชั่ว” และพึงสังเกตได้ว่า “คนโง่กับคนชั่ว” ถือว่าเป็นอย่างเดียวกัน คือคนที่พูดชั่ว ทำชั่ว คิดชั่ว ไม่ว่าจะมีความรู้สูงส่งเพียงใด ก็ยังเรียกว่า “คนโง่” อยู่นั่นเอง เพราะคนเหล่านี้มักจะทำอะไรโง่ๆ ขาดปัญญา ทำไปด้วยอำนาจกิเลสฝ่ายต่ำ ปล่อยชีวิตให้กิเลสพาไปอย่างเดียว
ถ้าคนๆ นั้นมีกิเลสหนามากๆ เรียกว่า “อันธพาล” คือ โง่อย่างมืดบอด คนที่แสร้งทำตัวว่าเป็นคนดีตำหนิว่าคนอื่นเป็นคนชั่ว ไม่ดีเท่าตนก็ดี หรือคนที่ร่ำรวย อวดรวย อวดอำนาจมีความตระหนี่ บ้ากิเลสก็เข้าข่ายนี้ทั้งนั้น
วิธีดู”คนพาล” พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ดูที่ความคิด คำพูดและการกระทำ
นอกจากนั้นยังดูด้วยว่า การกระทำหรือความประพฤตินั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันหรือประโยชน์ในภายหน้าหรือไม่ถ้าใช่ก็คือเป็นบัณฑิตแต่ถ้าไม่ใช่ก็คือ คนพาลควรหลีกหนีห่างให้ไกล การหนีให้ห่างคนพาลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรทำที่สุด
ดังเช่น เรื่องราวของ อกิตติดาบส ซึ่งเป็นอดีตมหาเศรษฐีหนุ่มของเมืองพาราณสี ที่ได้ออกบวชบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าอย่างสงบ วันหนึ่งก็มีพราหมณ์แก่ๆ คนหนึ่งโซซัดโซเซมาขออาหาร กิตติดาบสก็ให้อาหารที่ตนเองมีอยู่ไปทั้งหมดโดยที่ตัวเองไม่ยอมกินอะไรเลย โดยพราหมณ์คนนี้มาขออาหารจากกิตติดาบสอยู่ถึงสามวัน
ในวันที่สามพราหมณ์ชราก็เลยเปิดเผยตัวจริงให้ทราบว่าตนเองก็คือ พระอินทร์แปลงกายมาเพื่อพิสูจน์ความอดทนของดาบสหนุ่มแล้วถามว่า ท่านอยากจะได้พรอะไรเป็นที่สุด กิตติดาบสแทนที่จะขอทรัพย์สินเงินทอง หรือ ความสะดวกสบาย กลับขอพรที่แปลกประหลาดที่สุดคือ
“ ขออย่าได้เห็นคนพาล อย่าได้ยินคนพาล อย่าได้อยู่ร่วมกับคนพาล อย่าได้สนทนาปราศรัยกับคนพาล และอย่าได้ชอบใจในคนพาลเลยแม้สักนิดเดียว”
พระอินทร์เอง เมื่อได้รับคำขอ ก็สงสัยว่าเพราะอะไรถึงได้กลัวคนพาลเสียขนาดนั้น ดาบสหนุ่มก็ตอบว่า
“คนพาลมักจะแนะนำในสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ ชักชวนทำแต่สิ่งที่ไม่ได้เรื่องคือชวนทำแต่ความชั่ว เวลาพูดดีหรือแนะนำสิ่งที่ดีๆ ให้ก็โกรธ และคนพาลไม่เคยมีวินัยกับอะไรทั้งสิ้นชาตินี้ขออย่าเจอคนพาลเลยดีกว่า”
พระอินทร์ท่านก็เมตตาให้พรนั้นแก่กิตติดาบสให้สมปรารถนา ตลอดชีวิตท่านไม่เคยเจอคนชั่วอีกเลย เมื่อได้เจอแต่คนดีๆ ชีวิตท่านก็มีแต่ความสุข
จากหนังสือเรื่อง ปาฏิหาริย์วิชาศักดิ์สิทธิ์ ๑๐ 38 มงคลชีวิต พาทุกชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง ทุกภพชาติ โดย ธ.ธรรมรักษ์