"ขนมจ่ามงกุฎ" ขนมไทยโบราณหาทานได้ยาก
เจ้าของกระทู้เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยและรู้จักขนมไทยโบราณอย่างขนม "จ่ามงกุฎ" กันอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่เคยได้ยินชื่อขนมชนิดนี้ แต่ไม่รู้จักหน้าตาที่แท้จริงของขนม ลองไปดูรูปกันไหมคะ
รูปที่เห็นด้านบนนั้นไม่ใช่ขนมจ่ามงกุฎ หากแต่เป็นขนมไทยที่มีชื่อว่า "ขนมดาราทอง" หรือ "ทองเอกกระจัง" เป็นขนมทองเอกปั้นกลม ๆ มียอดปิดทอง วางบนจานแป้งเล็ก ๆ ที่ติดขอบด้วยเมล็ดแตงโมกวาดน้ำตาล
ขนมดาราทอง หรือ ทองเอกกระจัง
ขนมดาราทอง หรือ ทองเอกกระจัง เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกฯ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการชนะการประกวดงานฉลองปีใหม่ ด้วยความที่ขนมดาราทองมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับมงกุฎของฝรั่งและคล้ายเครื่องหมายดาราในเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้เข้าใจว่าขนมดาราทองเป็นขนมจ่ามงกุฎ
แล้วขนมจ่ามงกุฎมีรูปร่างหน้าตาเช่นใด?
จ่ามงกุฎป็นขนมที่มีชื่อปรากฏอยู่ใน “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งกล่าวถึง ขนมจ่ามงกุฎไว้ว่า
งามจริงจ่ามงกุฏ ใส่ชื่อดุจมงกุฏทอง
เรียมร่ำคำนึงปอง สะอิ้งน้องนั้นเคยยล
ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรมให้คำนิยาม "จ่ามงกุฎ" ไว้ว่า
“จ่ามงกุฎ เป็นชื่อขนมไทยอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งถั่วเขียวกวนกับกะทิและน้ำตาลทรายขาว จนเหนียวคล้ายกะละแมสีขาว นำใบตองอ่อนที่รีดจนเรียบมาห่อเป็นห่อเล็ก ๆ ใส่ไส้ถั่วลิสงคั่วทั้งเมล็ด หรือเมล็ดแตงโมกะเทาะเปลือกแล้วก็ได้”
ปัจจุบันขนมจ่ามงกุฎกลายเป็นขนมที่หารับประทานได้ยาก แต่ก็ไม่ได้สูญหายไปเสียทีเดียว ทุกวันนี้ยังมีผู้สืบทอดอย่าง "อาจารย์อรุณี ศรีราษฎร์" ท่านเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ขนมไทยในวรรณคดี รัชกาลที่ ๒ ที่ยังคงอนุรักษ์ ขนมจ่ามงกุฎสูตรดั้งเดิมไว้
'ขนมจ่ามงกุฎ' จากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานนั้น ต้นตำรับเดิมเป็นของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งมีวิธีการทำที่มีละเอียดอ่อนและพิถีพิถัน ใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อย
ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมส่วนผสมคือ ใบตอง ควรเป็นใบตองตานีก้านที่ 2 หรือ 3 จากยอด ถือเป็นใบตองที่มีความเหนียวกำลังดีไม่อ่อนหรือแก่เกินไป จากนั้นนำใบตองไปตากแดดให้สลด
หากผึ่งแดดไว้ 2 วันจะดีที่สุด เสร็จแล้วนำมาย่างด้วยเตาถ่าน และรีดให้เรียบด้วยเตารีดโบราณ ใบตองจะเป็นเงาสวยเมื่อนำไปห่อขนมจะมีความหอมช่วยเพิ่มรสชาติ
ส่วนการเตรียมแป้งข้าวเหนียว คือนำแป้งไปอบควันเทียน 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที
หัวกะทิควรใช้มะพร้าวห้าวประมาณ 1 กก. นำมาคั้นกับน้ำดอกไม้สดที่ประกอบด้วย ดอกมะลิ กุหลาบมอญ กระดังงาไทย และชมนาด ทิ้งไว้ 3 ชั่วโมงแล้วนำมากรองด้วยผ้าขาวบาง
สำหรับเมล็ดแตงโมให้แกะเปลือกและนำมาคั่วไฟอ่อนจนเหลือง กรอบ แต่ห้ามไม่ไหม้
ทั้งนี้สูตรโบราณแท้จะใช้แป้งทอดตัดเป็นชิ้นเล็กเท่าเม็ดข้าวสุกโรยในตัวขนม ปัจจุบันใช้ถั่วลิสงคั่วหรือเมล็ดแตงโมโรยแทน เพราะสะดวกและสวยงาม
สุดท้ายเหลาไม้ไผ่มาทำเป็นไม้กลัดไว้ห่อขนมกับใบตองเป็นอันเสร็จ
วิธีทำขนม
นำแป้งข้าวเหนียวที่เตรียมไว้มาผสมกับแป้งถั่วและหัวกะทิในสัดส่วน แป้งข้าวเหนียว 3 ถ้วย แป้งถั่ว 1 ถ้วย และหัวกะทิ 6 ถ้วย สามารถปรับเปลี่ยนปริมาณได้ตามสัดส่วนที่ระบุ
ละลายส่วนผสมให้เข้ากันนำไปกรองด้วยผ้าขาวบางและเทลงในกระทะที่ตั้งไฟอ่อน กวนจนใสจึงใส่น้ำตาลลงไป 3 ถ้วย กวนต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ให้เนื้อแป้งร่อนออกจากกระทะ นำใส่ถาดพักทิ้งไว้
ตักใส่ใบตองในลักษณะพอดีคำ นำเมล็ดแตงโมคั่วใส่แล้วห่อด้วยใบตองกลัดด้วยไม้ไผ่ที่เตรียมไว้
นำขนมที่ทำเสร็จแล้วไปตากแดดอีก 1 วัน ก็จะได้ขนมจ่ามงกฎสูตรโบราณพร้อมรับประทาน
ขนมจ่ามงกุฎ
“ขนมจ่ามงกุฎ” เป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขนาดพอดีคำ เนื้อขนมสีขาวนวล กรอบนอก นุ่มใน ไม่เหนียวติดมือ หากไม่ตากแดดจะมีลักษณะหนึบ ๆ ถ้านำไปตากแดดก่อนรับประทานจะอร่อยกว่า
รสชาติจะหอมหวาน ไม่เลี่ยน มีกลิ่นหอมจากใบตองทำให้ยิ่งชวนรับประทาน
ทั้งนี้สูตรขนมจ่ามงกุฎได้มีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนส่วนผสมตามความชอบเฉพาะบุคคล
สำหรับขนมจ่ามงกุฎสูตรดั้งเดิมสามารถหารับประทานได้ที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๒ และตลาดน้ำอัมพวาจังหวัดสมุทรสงคราม
ขนมจ่ามงกุฎ
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
ซ้ำขออภัยค่ะ