นายกฯ อย่าเพิ่งปลื้มยอดจองบ้านประชารัฐ
นายกฯ อย่าเพิ่งปลื้มยอดจองบ้านประชารัฐ
ยอดจองบ้านประชารัฐที่ว่ามาก ยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนบ้านเพิ่มในแต่ละปี ที่มาขอกู้คงเป็นบ้านของผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่มากกว่า ไม่ได้ช่วย SMEs จำนวนผู้ได้รับอนุมัติมีน้อยมาก และอาจสร้างความเสี่ยงแก่ธนาคาร การที่อาจกู้ไม่ผ่านจำนวนมากมาย แสดงว่าเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่หนัก รัฐบาลพึงระวัง
ตามที่มีข่าวว่า "นายกฯ ปลื้มประชาชนตอบรับโครงการบ้านประชารัฐกว่า 3 หมื่นราย" (bit.ly/1YPfGTp) นั้น ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) เห็นว่าท่านนายกฯ อาจเข้าใจผิด จึงจัดทำ AREA แถลงฉบับนี้นำเสนอข้อมูลที่แท้เพื่อประโยชน์ทางราชการ ดังนี้:
1. ในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่น่าวิตก เพราะตัวเลขที่ว่า "ตั้งแต่ 23 มีนาคม - 18 เมษายน 2559 มีประชาชนยื่นขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส) และธนาคารออมสิน รวมทั้งสิ้น 33,050 ราย ได้รับการอนุมัติแล้ว 1,628 ราย แบ่งเป็น การยื่นกู้ผ่าน ธอส. 1,698 ราย อนุมัติ 332 ราย ออมสิน 31,352 ราย อนุมัติ 1,296 ราย" แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีผู้กู้ไม่ผ่านเป็นจำนวนมาก แม้มีผู้ขอกู้ 33,050 ราย แต่ได้รับการอนุมัติแล้วเพียง 1,628 ราย ส่วนใหญ่คงไม่ผ่านเกณฑ์
2. การจัดสร้างที่อยู่อาศัยในแต่ละปี ณ อัตราการเพิ่มที่ 2.65% จะเป็นประมาณเกือบ 7 แสนหน่วยต่อปี (bit.ly/206ERFM) จำนวนที่มาขอกู้ที่ 33,050 รายจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่น่าจะมากู้ตามปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ช่วยกระตุ้นอะไรนัก
3. การที่ออมสินรับอนุมัติมากกว่า ธอส. หลายเท่าตัว อาจสร้างความเสี่ยงให้กับธนาคารแห่งนี้เป็นอย่างมาก และการที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ แสดงถึงการมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นทั้ง ธอส.และออมสินจึงแบกรับความเสี่ยงไว้สูงในอนาคต
4. ในจำนวนที่ได้รับอนุมัติให้กู้ หรือมาขอกู้ ส่วนมากอาจเป็นบ้านในโครงการของผู้ประกอบการบ้านจัดสรรโดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ จึงเท่ากับเป็นการกระจายความเสี่ยงของผู้ประกอบการให้ผู้ซื้อบ้านแบกรับความเสี่ยงไว้หรือไม่
5. แม้ส่วนน้อยมากเพียง 5% ที่ได้รับการอนุมัติให้กู้แล้ว แต่จำนวนคนที่มากู้ถึง 33,500 ราย (ทั้งที่ส่วนใหญ่คุณสมบัติอาจไม่ผ่าน) แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของชาติตกต่ำมาก ประชาชนคงไม่มีเงินสด จึงหวังซื้อขายบ้านเพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินของตนเองหรือไม่ ภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้จึงอาจแตกต่างจากที่ทางราชการคาดการณ์ไว้ในแง่ดี
ดร.โสภณ เคยเสนอหนทางง่าย ๆ อย่างหนึ่งก็คือการส่งเสริมการซื้อบ้านมือสองซึ่งเป็นบ้านที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียต้นทุนในการผลิตใหม่ (bit.ly/1S9YmDN) โดยประกาศให้ผู้ที่มีบ้านที่จะขายในราคาถูก ที่อาจเป็นทั้งผู้ประกอบการที่มีหน่วยขายเหลืออยู่น้อย ไม่มีงบประมาณในการโฆษณา หรือประชาชนทั่วไปผู้มีบ้านหรือห้องชุดเป็นของตนเองในราคาไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อให้โอกาสคนซื้อบ้านได้ซื้อบ้านในราคาถูก และคนขายบ้านได้เงินสดไปหมุนเวียนโดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินหรือไม่ต้องไปขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
ทั้งนี้ให้ผู้สนใจขายบ้านลงทะเบียนไว้กับกรมบังคับคดี การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บสก. หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมในการว่าจ้างบริษัทประเมินที่เป็นกลางไปประเมินหน่วยละประมาณ 3,000 บาท เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจกับผู้ซื้อบ้านว่า จะได้บ้านที่มีราคาที่เป็นธรรม และเพื่อป้องกันการทุจริต ก็ให้บริษัทประเมินทำประกันไว้ว่า หากประเมินผิดไปจากความเป็นจริงเกิน 10% ต้องเสียค่าปรับ 20 เท่าของค่าจ้าง
แล้วให้ใช้หอประชุมกองทัพบก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือสถานที่อื่นใดจัดการขายบ้านเหล่านี้ โดยให้ผู้จะขายรายย่อยตั้งโต๊ะขายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือให้บริษัทพัฒนาที่ดิน บสก. สถาบันการเงินที่มีทรัพย์สินจะขายจัดบูธได้โดยเสียค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนผู้ขายบ้านรายย่อย หรือให้บริษัทพัฒนาที่ดินที่มีสินค้าถูกเหล่านี้ขายมาขายกับผู้สนใจซื้อโดยตรง
ให้ผู้ขายบ้านตั้งราคาขายตามราคาที่ประเมินได้ ใครมาก่อนได้ไปก่อน โดยผู้จะซื้อแต่ละรายต้องวางเงินจองไว้ 50,000 บาท โดยสถาบันการเงินที่เป็นกลาง เป็นผู้เก็บรักษาเงินดังกล่าว หากตกลงกันแล้วแต่ผู้ซื้อกลับ 'เบี้ยว' ให้ยกเงินนี้ให้กับผู้ขาย ทั้งนี้ในการซื้อขายนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการซื้อขายเฉพาะบ้านมือหนึ่งบ้านหลังแรกเท่านั้น เพราะวัตถุประสงค์หลักคือการกระตุ้นให้มีการซื้อบ้านเหล่านี้ได้โดยง่ายซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และในกรณีที่ยังมีหน่วยขายเหลือ
ให้ตกลงกับเจ้าของบ้านเพื่อลดราคาเหลือ 80% แล้วนำออกมาประมูลเพื่อส่งเสริมการขายในอีก 1 เดือนให้หลัง