ทำไมต้องกินปลา?
ถ้าเทียบน้ำหนักเนื้อปลาในปริมาณที่เท่ากันกับเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ เนื้อปลามีปริมาณโปรตีนที่สูงกว่าในขณะที่มีไขมันน้อยกว่า โปรตีนในเนื้อปลาเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีและย่อยง่าย เพราะลักษณะโครงสร้างของกล้ามเนื้อปลามีความซับซ้อน เกี่ยวพันของมัดกล้ามเนื้อน้อยกว่าเนื้อสัตว์บก เมื่อนำไปทำให้สุกจะหดตัวเพียงเล็กน้อย เนื้อปลานุ่มไม่เหนียว แต่จะแยกออกเป็นชิ้นๆ ตามแนวกล้ามเนื้อ เมื่อเรากินเข้าไปก็จะถูกเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารในร่างกาย ย่อยได้ง่ายกว่า
เนื้อปลามีปริมาณไขมันต่ำว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ ถ้าเราแบ่งปล่เป็นกลุ่มๆ ตามปริมาณไขมันจะแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
- พวกที่มีไขมันต่ำมากซึ่งมีไขมันน้อยกว่า 2 กรัมต่อน้ำหนักเนื้อปลาสด 100 กรัม ได้แก่ ปลากราย ปลาไหล ปลานิล ปลาเก๋า
- ปลาที่มีไขมันต่ำ 2-4 กรัมต่อเนื้อปลา 100 กรัม ได้แก่ ปลาทู ปลากะพงขาว ปลาอินทรี
- ปลาที่มีไขมันปานกลาง 4-8 กรัม ต่อเนื้อปลา 100 กรัม ได้แก่ ปลาจาระเม็ด ปลาสลิด ปลาตะเพียน
- ปลาที่มีไขมันสูง 8-20 กรัม ต่อเนื้อปลา 100 กรัม ได้แก่ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวาย ปลาสำลี ปลาแซลมอน ปลาฮาลิบัต ปลาทูน่า
ไขมันในปลาเป็นไขมันที่ดีจต่อสุขภาพ เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturate Fatty Acid) ชนิดโอเมกา -3 (Omega-3) ที่มีชื่อเรียกว่า อีพีเอ (EPA:Eicosapentaenic Acid) และ ดีเอชเอ (DHA: Docosahexaenoic Acid) ที่เราคุ้นหูกันดี กรดไขมันทั้ง 2 นี้ จะช่วยลดการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ทั้งยังช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวและยืดหยุ่นได้มากขึ้น ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ทำให้เลือดไม่จับตัวกันเป็นลิ่มไปอุดตันหลอดเลือด
ไขมันในปลามีอยู่ในหนัง ลูกตา และแทรกอยู่ในเนื้อ สังเกตได้ง่ายๆ ว่าส่วนต่างๆ ของปลาที่มีไขมันสูงจะมีสีเหลือง ชมพู หรือเทาอ่อน
กรดไขมันชนิดโอเมกา-3 ไม่ได้มีเฉพาะในปลาทะเลน้ำลึกและปลาชื่อฝรั่งจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ปลาน้ำจืดไทยๆอย่างปลาสวาย ปลาดุก ก็มีกรดไขมันชนิด โอเมกา-3 สูงไม่แพ้กัน