พุทธศิลป์ถิ่นล้านนา
"ล้านนา" ดินแดนที่เต็มไปด้วยความงามและมนต์เสน่ห์ที่ชวนหลงใหลทั้งธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
ด้วยความรุ่งโรจน์ในอดีตนับ 1,000 ปีของอาณาจักรล้านนา
ทำให้ปัจจุบันเรายังสามารถยลเสน่ห์แห่งอาณาจักรเหล่านี้ได้บ้าง
ทั้งจากงานศิลป์และวิถีชีวิต ผ่านหัวใจหลักของผู้คนในดินแดนเหล่านี้อันได้แก่ "พระพุทธศาสนา"
และพุทธศิลป์มรดกล้านนาเหล่านี้นี่เอง ที่จะเป็นตัวที่บ่งบอกถึงตัวตนของอาณาจักรล้านนาในอดีตได้อย่างงดงาม
เมื่อเรามายลศาสนสถานในดินแดนล้านนานั้น เรามักจะเห็นป้ายที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของชนชาวล้านนาได้อย่างชัดเจน
สิ่งนั้นคือ "อักษรธรรมล้านนา" ที่แสดงให้เห็นถึงภาษาล้านนาที่สืบทอดคู่พระศาสนาในล้านนาอย่างยาวนาน
และยังมีการจารจารึกพระไตรปิฏกด้วยอักษรธรรมล้านนาผ่านใบลานพับสาห่อผ้าธรรมคัมภีร์อีกด้วย
จากอักษรธรรมที่บอกถึงเขตขัณฑ์แห่งพระศาสนาแล้ว ก็ตามด้วยกำแพงแก้วแนวกั้นพร้อมกับสิงห์คู่ประตูโขง
อันเป็นเอกลักษณ์ของวัดในล้านนาที่จะต้องมีสิงห์คู่อยู่หน้าวัดเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่จะเข้ามาในเขตบุญ
และประตูโขงอันเป็นประตูหลวงทางเข้าเขตแดนบุญที่แต่งแต้มด้วยปูนปั้นล้านนาอย่างงดงาม
ถัดจากสิงห์คู่ประตูโขงแล้วก็จะเห็นวิหารอันเด่นสง่า
วัดในล้านนานิยมสร้างวิหารมากกว่าอุโบสถ เพราะถือเอาวิหารเป็นประธานเป็นทั้งที่สักการะและประกอบพิธีทางศาสนา
ลักษณะของวิหารมีหลายแบบ แบ่งหลักๆได้แก่วิหารโถงหรือวิหารป๋วยคือวิหารที่ไม่มีผนัง
และวิหารปราสาทหรือวิหารป๋างเอกคือวิหารแบบที่มีผนัง ภายในวิหารจะประดิษฐานพระเจ้าหรือพระพุทธรูปองค์ประธานบนบัลลังก์
หรือซุ้มโขงพระเจ้าลักษณะเดียวกับประตูโขงทำจากไม้หรือปูนปั้น ลักษณะอาคารมีความอ่อนช้อย
มีหลังคาทรงปีกนกลดหลั่นลงมา 2-3 ชั้น ส่วนกลางประดับด้วยสัตตบริภัณฑ์ หรือเทือกเขาทั้ง 7
ด้านหน้ามีแหนบปีกนกหรือรวงผึ้ง และมีนาคทันต์ค้ำยันหลังคา
วิหารป๋วย/วิหารเปิด/วิหารโถง
วิหารป๋างเอก/วิหารปราสาท/วิหารปิด
โขงพระเจ้า
ต่อมาเป็นงานพุทธศิลป์จิปาถะอื่นๆที่สร้างเป็นพุทธบูชาต่างๆของคนล้านนา
"บุษบกล้านนา" บัลลังก์เครื่องไม้ใช้ประดิษฐานพระเจ้าองค์เล็กที่สำคัญๆ
มีทั้งแบบทรงปราสาทยอดและทรงหลังก๋าย
"รถบุษบกล้านนา" ใช้ประดิษฐานพระเจ้าองค์เล็กที่สำคัญๆในการแห่เนื่องในงานต่าง เช่น ปี๋ใหม่เมือง
"สัตตภัณฑ์" เชิงเทียนที่มีคติเดียวกับสัตตบริภัณฑ์บนหลังคา สร้างถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระเจ้า
ทำจากเครื่องไม้ แกะสลักลวดลายนาค สัตว์มงคล หรือพรรณพฤกษาล้านนาประดับกระจกลงรักปิดทอง
"ธรรมาสน์ล้านนา" เครื่องไม้ขนาดใหญ่ลักษณะเดียวกับบุษบก มีบันไดด้านหลังหรือด้านข้าง มักตั้งอยู่ด้านขวาของพระประธาน
มีทั้งทรงปราสาทยอดและหลังก๋าย ใช้สำหรับพระสงฆ์ชั้นครูบาขึ้นนั่งว่าธรรมเทศนา เสียงจะก้องไปทั้งวิหาร
"ขันแก้วทั้งสาม" ภาชนะเครื่องไม้ทรงสูง มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรือทรงกลม ใช้สำหรับรองรับกรวยดอกไม้บูชา
อันเป็นคติการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
"หีบธรรม" หีบหรือตู่บรรจุพระธรรมคัมภีร์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า มักทำด้วยไม้เนื้อแข็งแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก
"ลายคำ" ลวดลายจิตรกรรมสีทองบริสุทธิ์บนพื้นหลังสีแดงหรือดำอย่างลงตัว
"ลายน้ำแต้ม/ฮูปแต้ม" ลวดลายจิตรกรรมบอกเล่าเรื่องราววิถิชีวิตของคนล้านนาหรือพุทธชาดกอันสอดคล้องกับพระพุทธศาสนา
"พระธาตุเจดีย์" เป็นสถูปสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระอรหันตธาตุ
รวมไปถึงบรรจุอัฐิของบูรพกษัตริย์ที่ได้สร้างคุณูปการต่อชาวล้านนา ส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่หลังวิหารเอก
มีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น เจดีย์ทรงปราสาทยอด เจดีย์ปราสาทเหลี่ยม เจดีย์ทรงระฆังล้านนา และเจติยวิหาร เป็นต้น
เจดีย์ทรงปราสาทยอด
เจดีย์ทรงปราสาทเหลี่ยม
เจดีย์ทรงระฆังล้านนา
"เจติยวิหาร" วิหารที่มีพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่เป็นอาคารเดียวกัน
"หอไตร" อาคารไม้ยกสูงขนาดเล็กลักษณะเดียวกับวิหาร ด้านล่างก่ออิฐถือปูนประดับลายปูนปั้น ใช้สำหรับเก็บพระธรรมคัมภีร์ต่างๆ
"หอระฆังล้านนา" อาคารทรงสูงสองชั้นอาจจะเป็นไม้หรือปูนก็ได้ มักสร้างเป็นหอคอย ด้านบนห้อยระฆัง
ด้านล่างไว้สำหรับกลองปูจาหรือกลองเพลขนาดใหญ่
ต่อมาคือเครื่องบูชาที่แสดงถึงการสักการะบูชาและน้อมนำเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนล้านนา
เป็นงานฝีมือที่สูงค่า บ่งบอกถึงอัตลักษณ์คนล้านนาอย่างชัดเจน
"โคมแขวน และ ประทีปตีนกา " โคมประดิษฐ์จากไม้ไผ่และกระดาษสา ประทีปตีนกาทำจากเครื่องปั้นดินเผามัดฝ้ายเป็นรูปตีนกา
ใช้จุดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยเฉพาะในงานประเพณียี่เป็ง
นัยยะเพื่อให้จุดพระพุทธศาสนาให้รุ่งโรจน์ดั่งเปลี่ยวไฟและให้สติปัญญาสว่างไหวดังเปลียวเทียน
"ตุงล้านนา" ตุงหรือธงคือผืนผ้าหรือกระดาษที่ทำขึ้นมาหลายปัจจัย ทั้งการบูชาและทำขึ้นในพิธีกรรม
เช่น ตุงพระบฏ ตุงนักษัตร ตุงกระด้าง เป็นต้น
นี่เป็นเพียงบางส่วนของพุทธศิลป์แห่งดินแดนล้านนา อันเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ไว้ให้ลูกหลาน
แต่จากนี้มรดกอันมีค่าทั้งหลายเหล่านี้จะคงอยู่เป็นเพียงโบราณสถานโบราณวัตถุ หรือจะมีผู้สืบทอดต่อไปก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นต่อไปทั้งสิ้น