“เกย์คิงจอมรุก” ของเกย์ยุคนี้ เค้ามีเหตุผลอะไรถึงได้กินกันเอง!
“รุก” กับ “รับ” น่าจะเป็นของคู่กันตามวิถีของความสัมพันธ์ในหมู่ชายรักชาย แต่ในความเป็นจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ ผมเองก็คิดว่า คงไม่ได้เป็นเทรนด์อะไรใหม่หรอกที่หนุ่มรุกจะเมินหนุ่มรับ แล้วหันมากินกันเอง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หนุ่ม “รุก” กำลังคิดอะไรอยู่? พวกเขามีเงื่อนไขอะไรในการปฏิเสธหนุ่ม “รับ” อย่างไม่มีเยื่อใย?
ในยุคสมัยหนึ่ง คุณผู้อ่านคงได้ยินคำว่า “เกย์คิง” กับ “เกย์ควีน” อยู่บ่อยๆ มันใช้บ่งบอกตัวตน ความพึงพอใจและมีไว้ใช้สำหรับสื่อสารกันบนเตียงว่า ใครจะรับเล่นบทไหน เป็นฝ่ายกระทำ หรือเป็นฝ่ายรับการกระทำ
บางคนมีความเป็น “คิง” ตายตัว คือรับบทบาทผู้ชาย เป็นผู้ปกป้อง และเป็นผู้นำ ไม่วอกแวกแอบแตกสาว ส่วนบางคนก็ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนความเป็น “ควีน” ในตัวเขา สาวแตกได้ยามเผลอ และพวกเขาก็พากันยึดเอาตัวตนนี้มากำหนดบทบาทเชิงความสัมพันธ์ในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องในห้องนอน ไม่ว่าจะเป็นการออกเดท การไปเที่ยวกัน หรือการตัดสินใจ เหล่าควีนที่ภูมิใจความเป็นควีนของตนจะนิยมการปกป้อง ห่วงใย เอาใจใส่จากหนุ่มคิง มันเป็นธรรมชาติของพวกเขา
ในทิศทางนี้ บทบาทของ “เกย์ควีน” ในความสัมพันธ์ของคนสองคน จึงไม่ต่างอะไรนักกับบทบาทของผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์กับผู้ชาย ผมคิดว่างั้น แล้วคุณผู้อ่านที่เป็นชายหญิงทั่วไปเคยนึกสงสัยมั๊ยครับว่า แล้วทำไมเกย์ ไม่ “เอา” ผู้หญิงซะเลยล่ะ ในเมื่อ เกย์ควีน ก็ “ทำตัว” ไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงคนหนึ่ง?
ในยุคสมัยใหม่ การกำหนดบทบาท คิง-ควีน อย่างชัดเจนตายตัวเริ่มกลายเป็นภาพเบลอๆ การ “cross-over” หรือเปลี่ยนแปลงสถานะกำลังกลายเป็นสิ่งที่สร้างความงุนงง แม้จะสับสน แต่บางคนก็กำลังตั้งคำถามวงในว่า สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่า “พัฒนาการ” ได้หรือเปล่า?
คุณผู้อ่านคงได้ยินคำว่า “เกย์คิง” ใช่มั๊ย? ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ในหมู่เกย์ ไม่ค่อยใช้คำนี้กันหรอก คนที่มีบทบาทเป็น “เกย์คิง” หมายถึงฉันจะรุก หรือสอดใส่ หรือจะเป็นฝ่ายรับก็ได้ แล้วแต่ฉัน และฉันก็ไม่จำเป็นต้อง “ออกสาว” หรือต้องทำตัว “แมนจ๋า”
แต่ดูเหมือนคำๆ นี้ จะถูกจำกัดในเรื่องความสัมพันธ์บนเตียงเท่านั้น ครั้นพอลุกออกจากเตียง คงไม่มีใครจะมาเรียกตัวเองว่า ฉันเป็น “เกย์คิง”
แต่เกย์ไทยช่างเก่งกาจนะครับ สามารถประดิษฐ์คำใหม่มาใช้อย่างหรู นั่นคือ คำว่า “โบ้ท” (Both) น่าจะไม่มีใครในโลกนี้ใช้มาก่อน มันหมายถึง ฉันทำได้ทั้งสองแบบ คือจะให้ฉันรุก หรือให้ฉันรับก็ยินดี แต่ไม่ได้หมายถึง ฉันต้องออกสาว หรือต้องแมนจ๋านะ คำว่า คิง และควีน สำหรับเกย์วัยรุ่นยุคนี้ จึงไม่ค่อยได้ยินกันเท่าไหร่
ถ้าคุณสังเกตดีๆ เกย์โบ้ท “แท้ๆ” จะมีส่วนผสมของสองบุคลิกอย่างกลมกลืน มีซับเซ็ทของโบ้ทด้วยนะครับ
คำว่า โบ้ท ในบางกรณี จึงกลายเป็นคำที่ใช้เป็นทางออกและข้ออ้างให้กับเกย์บางคนที่ยังไม่รู้สึกภาคภูมิใน “ความเป็นรับ” ของตัวเอง และคิดว่า คำนี้จะไม่ค่อยสร้างความหงุดหงิดเท่าไหร่ และดู “มีค่า” เหนือชั้นกว่าจะบอกใครๆ ไปโต้งๆ ว่า ฉันน่ะชอบรับ
มาระยะหลังๆ เราจึงมีคำเพิ่มขึ้นอีก คือคำว่า “โบ้ทรับ” และ “โบ้ทรุก” นั่นถือว่า เป็นพัฒนาการหรือเปล่า? ซึ่งจากการสอบถามความเห็นในวงกว้าง หมายถึง ฉันเป็นรุก หรือรับก็ได้ หากฉันพอใจ แต่ฉันถนัดด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า หรือในอีกแง่หนึ่ง คนที่ใช้คำๆนี้ ต้องถือว่า เปิดโอกาสให้กับตัวเองเพื่อที่จะได้เจอคนถูกใจได้มากขึ้น ซะงั้น?
ประสบการณ์สองหนุ่มรุก
“บดินทร์” เป็นหนุ่มรุกคนหนึ่งที่นิยมมีอะไรกับรุกด้วยกัน และไม่ค่อยสนใจ “กิน” หนุ่มรับ เท่าใด ด้วยความสัตย์จริง
“ไม่รู้สิครับพี่ ไม่ชอบคนเป็นรับ เจอทีไร ก็มีแต่ ‘สาวๆ’ คนเป็นรับที่เป็นแมนๆ หายไปไหนหมด?”
เขาเล่าว่า จากประสบการณ์ของเขา หนุ่มรับมักจะนิยมทำตัวไม่ต่างอะไรกับผู้หญิง และเวลาที่เขาเจอใครที่มาดแมน แต่พอถึงบนเตียง มีอากัปกิริยาไม่ต่างอะไรกับสาวน้อยคนหนึ่ง เขาก็จะหมดอารมณ์ในทันที เขาเลยตัดสินใจ “คบแต่หนุ่มรุก”
คุณผู้อ่านที่เคยอ่านบอร์ดประกาศหาคู่ หาแฟน หาคนมาเล่นเสียวทั้งหลาย คงเคยพบประกาศทำนองว่า “รุกคุยกับรุก” “รุกหาเพื่อน” ในความเป็นจริง หลายๆ คนไม่ได้สนใจจะหาเพื่อนจริงๆ หรือจะหาเอาแต่คุยหรอก แต่กำลังหาคนเป็นรุก ที่ “ใจตรงกัน”
ผมถามบดินทร์ต่อไปว่า แล้วเวลามีอะไรกับรุกด้วยกัน มันไม่น่าเบื่อเหรอ เพราะทั้งสองฝ่ายคงไม่มีใครยอมให้ใคร “บุก” แน่นอน และในเมื่อเป็นรุกด้วยกัน สุดท้ายก็ต้องใช้วิธี “โลกสวยด้วยมือเรา”
“ผมไม่คิดอะไรมากหรอก ถ้าผมเจอรุกที่ถูกใจ เล้าโล้ม หยอกล้อ จูบกัน ปล้ำกัน กอดกัน ผมก็พอใจแล้ว ผมไม่คิดว่า การมีอะไรกันทางประตูหลังคือคำตอบของการมีเซ็กซ์ ถ้าเป็นเพื่อนกินข้าว ดูหนัง แล้วคุยถูกคอกัน ไม่ออกสาว ผมว่าเพียงพอแล้วครับ”
“วิชา” เป็นหนุ่มรุกอีกคน ที่เมินหนุ่มรับมานาน เขาจะ “MSN” คุยกับหนุ่มรุกด้วยกันเท่านั้น หากรับคนไหนแอดเข้ามา เขาจะไม่สน เหตุผลของเขาก็คล้ายๆ กับบดินทร์
“ผมชอบเอารุก มันดีตรงที่เขาจะไม่สาวไง”
ในบรรดากิ๊ก “สี่คน” ของเขา (น่าจะเรียกว่า sex buddy มากกว่า) ทุกคนเป็นรุกหมด และทุกคนก็พึงพอใจที่จะมีอะไรกับเขา และหากวิชา อยากจะ “รุก” ประตูหลัง เขาเล่า “ทุกคนก็โดนผมเอานะครับ”
“แล้วพี่จะให้ผมเอาหรือเปล่า”
ผมรีบตัดบทไปถามเขาเรื่องอื่นแทน แต่ไม่วาย สังเกตจากหน้าตาและรูปร่างแล้ว ผมค่อนข้างจะเชื่อว่า ใครที่กำลังมีอะไรกับเขา คงต้องใจอ่อนแน่ๆ และในที่สุด คงยินยอมให้ “โดนเอา” แม้จะเป็นรุกด้วยกันก็ตาม
สุดท้ายแล้ว ความสัมพันธ์ของหนุ่มรุกกับหนุ่มรุกจะพัฒนาไปได้แค่ไหน เป็นแค่ “กิ๊ก” หรือเป็นแค่ “sex buddy” หรือจะได้แต่…ยามเหงาเรามาเอากัน
จะมีหนุ่มรุกสองคนเป็นแฟนกันอย่างมีความสุขมั๊ย ถ้าไม่มีใครในนั้นยอมเป็นฝ่ายรับเลย ? และถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะมีคำว่า รุกกับรับ คิงกับควีน ไปทำไม?
วิทยา แสงอรุณ 17-18 May 2008 เมโทรไลฟ์
แหล่งที่มา: https://vitayas.wordpress.com/2008/05/18/‘รุก’-เมิน-‘รับ’-หันมา-“ก/
ขอบคุณภาพจาก ทวิตเตอร์ และวายุฟิล์ม