การดำหัวตามวิถีล้านนา ... ทำผิดมีค่าเท่ากับแช่ง !!!
การดำหัวต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในวิถีล้านนาที่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันเรานำวิถีของทางภาคกลางมาผสมผสานจนออกมากลืนกลินวิถีแห่งล้านนาอย่างผิดวิธีและหลักความเชื่อในแบบล้านนา
ก่อนอื่นก็ต้องรู้จักคำว่า "ดำหัว" กันเสียก่อน คำว่าดำหัวนั้นไม่ได้หมายถึงให้เอาหัวไปดำในน้ำ หรือรดน้ำให้หัวเปียกชุ่มเหมือนคนดำน้ำนะครับ !!! ความจริงแล้วคำว่า "ดำหัว" หมายถึง"สระผม" หรือ "พิธีแสดงความเคารพผู้มีอาวุโสหรือผู้มีบุญคุณ ในประเพณีสงกรานต์" (อ้างจาก พจนานุกรมล้านนาไทยฉบับแม่ฟ้าหลวงหน้าที่ 444) (ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ . ศ . 2542 หน้าที่ 405 ให้ความหมายว่า เป็นประเพณีทางภาคเหนือซึ่งกระทำในวันปีใหม่ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือและรักใคร่ และยังอธิบายต่ออีกว่า วิธีดำหัวคือเอาสิ่งของและน้ำที่ใส่เครื่องหอมเช่นน้ำอบไทยไปให้แก่ผู้ที่ เคารพและขอให้ท่านรดน้ำใส่หัวของตนให้อยู่เย็นเป็นสุข)
ในพิธีการดำหัวของคนล้านนาก็ต้องตระเตรียมขันสลุง(ขันเงิน) ภายในมีน้ำขมิ้นซอมป่อย(ส้มป่อย) และจะลอยด้วย ดอกไม้ ให้สวยงามก็สามารถทำได้ (ส่วนน้ำอบน้ำปรุงนั้นเป็นของคนภาคกลาง) แล้วนำไปเคารพสักการะต่อผู้อาวุโสในครอบครัว หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้มีบุญคุณโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บิดา มารดา พระภิกษุสงฆ์ และ ครูบาอาจารย์ เป็นต้น
ซึ่งการทำพิธีรดน้ำดำหัวนั้นต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจและความศรัทธา และผู้หลักผู่ใหญ่ที่จะดำหัวนั้นก็ใช้ความอาวุโสเป็นหลัก ไม่ใช่การเกณฑ์กันไปตามแบบสมัยปัจจุบันที่ทำๆ กันให้เห็น และไปยึดเอาตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นเกณฑ์ จะเป็นสิ่งที่น่าเกลียดมากหากผู้ที่อาวุโสกว่านำขันสลุงน้ำขมิ้นซอมป่อยไปดำหัวกับเจ้านายซึ่งอายุน้อยกว่าตนเอง (ในปัจจุบันมักมีให้เห็น เพราะทำไปเพื่อเอาหน้าเอาตาและหวังตำแหน่งหน้าที่การงานของตน จนไม่สนใจต่อขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถูกต้อง)
เมื่อได้ขันสลุงพร้อมกับน้ำขมิ้นซอมป่อยแล้วก็นำไปเคารพสักการะแด่ผู้ที่มีพระคุณหรือผู้อาวุโสดังที่ได้กล่าวมา ทางที่ดีก็ควรให้ผู้หลักผู้ใหญ่นั่งอยู่สูงกว่า โดยให้นั่งบนแหย่งหรือบนเก้าอี้ ส่วนผู้ที่ไปดำหัวก็ให้นั่งพับเพียบ(หรือทำท่าเทพพนม)อยู่ต่ำกว่า ซึ่งผู้ไปดำหัวให้แสดงความเคารพสักการะด้วยกาย วาจา ใจ ที่บริสุทธิ์ ยกมือไหว้แล้วกล่าวอวยพรในสิ่งที่ดีงามต่อผู้อาวุโส ขอสุมาลาโทษในสิ่งที่ได้พลาดพลั้งไป และขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่
ซึ่งท่านก็จะยกมือไหว้รับแล้วก็ให้พรกลับต่อลูกหลาน จากนั้นแล้วก็นำมือจุ่มลงไปในน้ำขมิ้นซอมป่อย เพื่อเป็นการแสดงการรับสุมาคาราวะความสักการะของลูกหลานและผู้ที่ไปดำหัว
ต่อมาท่านก็นำมาลูบที่ศรีษะของตน ก็คือการ "ดำหัว" นั่นเอง หลังจากนั้นแล้วท่านก็จะพรมน้ำขมิ้นซอมป่อยให้กับลูกกับหลานเพื่อเป็นศิริมงคลต่อไป ดังนั้นบางครอบครัวจึงใช้ใบกุศลหรือใบโกศลเพื่อให้ผู้หลักผู้ใหญ่ได้ปะพรมน้ำขมิ้นซอมป่อยแด่ลูกแด่หลานได้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่การนำน้ำขมิ้นซอมป่อยไปรด มือผู้หลักผู้ใหญ่ นั่นถือว่าเป้นการแช่ง เพราะงานที่ใช้น้ำรดมือมีอยู่สองงานก็คือ งานแต่งและ งานศพ!!
ดังนั้นที่เห็นออกสื่อออกทีวีการดำหัวของชาวเหนือ บางครั้งเป็นการผมสผสานพิธีที่มั่ว! โดยขาดการศึกษาหาข้อมูลที่ถูกต้อง จนทำให้ขนบประเพณีล้านนานั้นเสียหาย ยิ่งเอาน้ำรดมือมากๆ มือก็ซีดขาว ไม่ต่างอะไรจากคนตาย ดังนั้นตามวิถีของชาวล้านนาจะไม่รดที่มือหรือตัวผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะรับความเคารพสักการะด้วยการจุ่มแล้วรดตัวเอง ผู้ที่ไปรดน้ำดำหัวมีหน้าที่แค่ให้พรอย่างนอบน้อม และรอรับน้ำขมิ้นซอมป่อยจากผู้ใหญ่ที่จะประพรมให้กับเราเพียงอย่างเดียว
จาก facebook ของ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
ครูโจโจ้เองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะนำวิธีการรดน้ำดำหัวต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออย่างถูกต้องกันนะครับ และสามารถนำไปบอกลูกบอกหลานในรุ่นๆ ต่อไปได้ เพื่อให้วิถีชีวิตของคนล้านนาที่ดีงามนั้นยังคงอยู่สืบไปโดยไม่ถูกบิดเบือน สุดท้ายนี้ก็ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยตลอดทั้งเทพยาดาทั้งหลายโปรดจงปกปักรักษาทุกท่านให้แคล้วคลาดปลอดภัยในช่วงวันสงกรานต์นี้ ให้เดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพ และมีความสุขกับครอบครัวมากๆ ในวันสงกรานต์นี้นะครับ
"น้ำใสใจจริง ไหลลงสู่เนื้อ
Ongkarn Chomvisarutkul
Labels: Cultural ล้านนา