มุมมองของ "หลวงปู่ไดโนเสาร์ กับ พวงหรีด" มีประโยชน์ต่อใครบ้าง
"หลวงปู่ไดโนเสาร์ กับ พวงหรีด"
เมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปกับหลวงปู่เพื่อไปงานศพ คุณแม่สาคร มุสิกเทพ
โยมอุปฐากเก่าแก่ของวัด เมื่อไปถึงหลวงปู่ก็มอบผ้าไตรและปัจจัย อุทิศส่วนกุศลถึงคุณแม่
จากนั้น ท่านก็โอภาปราศัยกับคณะลูกหลานของคุณแม่ เมื่อได้เวลาพอสมควรท่านก็เดินทางกลับ
แต่ตาเจ้ากรรมของผู้เขียน กลับมองไปเจอพวงหรีดดอกไม้สด ที่เขามาเคารพศพแล้วห้อยไว้ประดับงาน จิตจึงไปผูกกับพวงหรีดนั้น เดินตามท่านมาก็คิดมาเรื่อย จนขึ้นรถกลับ ในใจก็ยังคิดว่า “ประเทศเรา โดยเฉพาะสังคมชาวพุทธ ควรจะยกเลิกการวางพวงหรีดด้วยดอกไม้สดเสียที เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร” วางไว้เมื่อสิ้นงานก็เหี่ยวแห้งไป พระไม่ได้ประโยชน์ โยมไม่ได้ประโยชน์หรือแม้แต่ผู้ตายก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย ขณะที่ส่งจิตออกไปคิดเพลินๆอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงกระแอมขององค์ท่าน
หลวงปู่: อะแฮ่ม คุณเอ้ย คุณอย่ากินข้าวนะ
ผู้เขียน: ขอโอกาส ทำไมหล่ะครับ
หลวงปู่: ก็คุณกินแล้วก็ขี้ออกมา มันไม่มีประโยชน์อะไร
ผู้เขียน: ขอโอกาสครับผม เกล้าไม่เข้าใจ การกินข้าว มันก็มีประโยชน์ต่อตัวเกล้านี้ไงครับผม
หลวงปู่: เออ พวงหรีดดอกไม้สด มันก็มีประโยชน์กับคนปลูกเขาไง ใช้ไปเถอะพวงหรีดดอกไม้สดหน่ะ คนปลูกเขาจะได้มีรายได้
คนปลูกมีรายได้ คนขนส่งก็มีรายได้ คนจัดดอกไม้ก็มีรายได้ ร้านขายดอกไม้ก็มีรายได้ มันจะไม่มีประโยชน์ได้ยังไง คุณเอ้ย ในโลกนี้ ไม่มีอะไร
ที่ไม่อาศัยอะไร ไม่มีอะไรที่ไม่พึ่งพาอะไร ทุกอย่างล้วนแต่มีประโยชน์ในตัวของมันเอง แล้วแต่ว่าเราจะเอาไปใช้อะไร
เราจะมองส่วนใดมุมใด อย่าไปตีเหมาว่ามันไร้ประโยชน์ไปหมด พระบรมศาสดาท่านว่า ธรรมใดเกิดขึ้น ธรรมนั้นก็ดับ มันจะดับได้อย่างไร
ถ้ามันไม่เกิด อย่าไปมองแต่ส่วนดับ ส่วนผลมันสิ มองหาส่วนเกิด ส่วนเหตุมันด้วย
คนเราชอบมองในสิ่งที่ตนถูกใจ พอเห็นสิ่งที่ไม่ถูกใจก็ไม่อยากมอง ทั้งๆที่เราต้องเห็น ทั้งสิ่งที่อยากมองทั้งสิ่งที่ไม่อยากมอง
คนไม่มีสติ เมื่อมองสิ่งที่ถูกใจก็เสียสติ เพราะชอบเพราะเพลินกับการมองนั้น
พอมองเห็นสิ่งที่ไม่ถูกใจก็เสียสติเพราะไม่ชอบเพราะเกลียดเพราะชังกับการมองนั้น คนปล่อยให้อารมณ์เข้ามามีอิทธิพลกับใจ ในการมอง
การเห็นเป็นคนกำลังประมาท กำลังขาดสติ เป็นคนพาลคนโง่นะ
เมื่อไม่มีสติกำกับ การมองการเห็น มีผลก็คือทุกข์
ทุกข์มันเป็นผล คุณอย่าแก้ที่ผลให้แก้ที่เหตุมัน
จะว่าพวกหรีดไม่มีประโยชน์นั้นคุณดูแต่ผล
ให้ดูเหตุมันด้วย เห็นที่เหตุ แก้ที่เหตุ ละที่เหตุ
อย่าไปแก้ไปละที่ผล มันไม่ทัน เข้าใจนะ