5 วันต้องห้ามและดิถีอัปมงคล ตามความเชื่อของคนโบราณ
ห้ามขึ้นบ้านใหม่วันเสาร์
คนโบราณเชื่อว่าวันเสาร์เป็นวันแห่งความทุกข์ เป็นวันแห่งโทษ และเป็นวันแห่งความเหน็ดเหนื่อย จึงห้ามจัดงานมงคลเกี่ยวกับการปลูกสร้างบ้านเรือน เช่น การวางศิลาฤกษ์ การยกเสาเอก การเปิดป้ายร้านค้า รวมไปถึงการขึ้นบ้านใหม่ในวันดังกล่าว
ห้ามเผาผีวันศุกร์
คนโบราณเชื่อว่าวันศุกร์ เป็นวันแห่งความสุขสบายตามชื่อวัน จึงได้ห้ามจัดงานเผาศพ เพราะถือว่าการเผาศพในวันศุกร์เปรียบเสมือนการเอาความสุขส่งคืนให้กับคนที่ตายไปแล้ว
ห้ามโกนจุกวันอังคาร
คนโบราณเชื่อว่าวันอังคารเป็นวันแห่งการห้ำหั่นประหัตประหาร เป็นวันแห่งความรุนแรง และเป็นวันแห่งอุบัติเหตุ จึงห้ามประกอบพิธีมงคลต่างๆ โดยเฉพาะพิธีโกนผมจุก
ห้ามแต่งงานวันพุธ
คนโบราณเชื่อว่าวันพุธเป็นวันแห่งความแปรปรวน รวนเร ไม่แน่นอน และไม่มีความมั่นคง
จึงห้ามจัดงานมงคลสมรสในวันดังกล่าว
วันพุธห้ามตัด วันพฤหัสห้ามถอน
คนโบราณถือว่าวันพุธเป็นวันแห่งการเจริญเติบโต จึงห้ามตัดผมหรือตัดต้นไม้ในวันดังกล่าว ส่วนวันพฤหัสบดีถือว่าเป็นวันครู เป็นวันแห่งการเรียนรู้ จึงห้ามรื้อถอนหรือโค่นทำลายสิ่งต่างๆในวันดังกล่าว
ดิถีต้องห้าม “สงฆ์ 14, นารี 11”
ความหมายก็คือในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ และแรม ๑๔ ค่ำ ห้ามกระทำการหรือประกอบพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพระสงฆ์ อย่างเด็ดขาด อย่างเช่น การบวชนาค การอุปสมบท และการเฉลิมฉลององค์พระเป็นต้น เพราะในวันข้างขึ้นและข้างแรม ๑๔ ค่ำดังกล่าวนี้ ตามหลักทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “วันโกน” คือพระภิกษุสงฆ์และสามเณรทุกรูปจะต้องปลงผมในวันนั้น ถ้าขืนกระทำการใดๆอันเกี่ยวเนื่องกับพระสงฆ์ อย่างเช่น การอุปสมบทหรือการบวชนาคหรือแม้กระทั่งการเฉลิมฉลององค์พระในวันข้างขึ้นหรือข้างแรม ๑๔ ค่ำดังกล่าวนี้ คนโบราณถือว่าเป็นการกระทำที่เปรียบเสมือนการไปตัดราศีของพระสงฆ์องค์เจ้า มักจะนำความเดือดร้อนมาสู่ผู้กระทำการได้ และในวันที่ตรงกับวันข้างขึ้นหรือข้างแรม ๑๑ ค่ำ คนโบราณก็ได้ห้ามปรามเอาไว้ว่า ห้ามกระทำการหรือประกอบพิธีกรรมใดๆอันเกี่ยวเนื่องกับสตรีเพศอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโรงเรียนสตรี เปิดสมาคมสตรี หรือแม้กระทั่งการเปิดหอพักสตรีก็ตาม เพราะถ้าฝืนกระทำการในวันข้างขึ้น หรือข้างแรม ๑๑ ค่ำดังกล่าวนี้ ก็มักจะนำความเดือดร้อนมาสู่ผู้กระทำการได้
"ข้อห้ามต่างๆเหล่านี้ เป็นเพียงความเชื่อที่มีมาแต่โบราณกาล ถือว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ส่วนการที่เราจะยึดถือ หรือปฏิบัติตามหรือไม่นั้น ล้วนเป็นเหตุผลและเป็นดุลยพินิจส่วนบุคคล..จริงไหมครับ"