นกแสก กับความเชื่อ นกแสกร้อง ทูตแห่งมรณะ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ถูกปลุกให้ชวนขนหัวลุกกันอีกครั้ง เมื่อข่าว นกแสก ส่งเสียงร้อง พร้อม ๆ กันกับมีชาวบ้านใน จ.พระนครศรีอยุธยา เสียชีวิตต่อเนื่องกันถึง 6 รายในเดือนนี้ ทำให้ตำนาน นกแสก ที่เป็นความเชื่อมาตั้งแต่โบราณถูกพูดถึงกันอีกครั้ง แถมยังมาแรงแซงทางโค้ง โดยเฉพาะที่ถกเถียงกันมากที่สุดก็คือ เรื่องของตำนานความเชื่อ ที่คู่ขนานกับความจริงอยู่ไม่น้อย วันนี้เราจะพาไปตามรอยตำนาน นกแสก หรือที่ชาวบ้านขนานนามกันว่า "นกผี" ทูตแห่งความตาย กันค่ะ
นกแสก บ้างก็เรียกกันว่า นกแฝก เป็นนกที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับ นกฮูก นกเค้า เป็นนกกลางคืนที่มีแหล่งอาศัยแพร่กระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของโลก พบมากในแถบประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม ลาว และไทย ซึ่งพบมากทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ นกแสก มีชื่อเรียกตามภาษาอังกฤษว่า Barn Owl (Tyto akba) โดยคำว่า "Barn" มีความหมายว่า ยุ้ง ฉาง ส่วนคำว่า "Owl" คือกลุ่มนกฮูก นกเค้า และนกแสก แสดงให้เห็นได้ว่า นกแสก ชอบอาศัยอยู่ตามยุ้งฉาง รวมไปถึงวัด โรงนา หรือในที่รกร้างต่าง ๆ หากพบว่า นกแสก เข้ามาอาศัยใกล้มนุษย์แสดงว่ามีแหล่งอาหารของ นกแสก ซึ่งอาหารของ นกแสก ก็คือ หนู และแมลงกลางคืน
แม้ นกแสก จะดูหน้าตาน่ากลัวสำหรับใครหลายคน แต่ในสายตาของกลุ่มอนุรักษ์นกแล้ว นกแสก เป็นนกที่หน้าตาน่ารัก วงหน้ามีขนสีขาวขึ้นเต็ม เป็นรูปหัวใจ ดวงตาดำกลมโต ปากแหลมงุ้ม ขนตัวด้านบนมีสีเหลืองปนน้ำตาลเทา มีจุดขาวและน้ำตาลประปราย ขนใต้ท้องสีขาว ส่วนปีกและหางมีลายขวาง สีเหลืองสลับน้ำตาลอ่อน เล็บเท้ายาวงุ้มแหลม เล็บนิ้วกลางลักษณะคล้ายฟันเลื่อย ขายาว
นกแสก
อย่างไรก็ดี นกแสก จัดเป็นนกที่มีสายตาและประสาทหูดีมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ นกแสก ออกหากิน ขณะเดียวกัน นกแสก จะสายตาแย่ที่สุดในช่วงเวลากลางวัน ดังนั้น เมื่อตะวันขึ้นแตะขอบฟ้า พวก นกแสก จะหาที่ตามซอกหลืบมืด ๆ หรือตามซอกโพรงไม้ เพื่อนอนหลับพักผ่อน
สำหรับตำนานเกี่ยวกับนกแสกของประเทศต่าง ๆ มักคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งเชื่อกันว่า นกแสก เป็นนกที่เกี่ยวข้องกับภูตผีและความตาย ตามคำบอกเล่าโบราณที่ถ่ายทอดกันมา ระบุว่า นกแสก เป็น "นกผี" ถ้าบินผ่านหรือเกาะหลังคาบ้านผู้เจ็บป่วยและส่งเสียงร้องเมื่อใด ผู้ป่วยนั้นจะเสียชีวิต ซึ่งมีการกล่าวถึงตำนาน นกแสก ในลักษณะนี้ในละครเรื่อง แม่นาคพระโขนง ด้วย
ด้วยเหตุนี้ นกแสก จึงมักถูกขับไล่ออกไปให้ห่างไกลจากหมู่บ้านหรือชุมชน หรือถูกยิงทิ้งเป็นจำนวนมาก ทำให้ นกแสก มักไปอาศัยตามวัด หรือแม้แต่ป่าช้า เมื่อมีผู้พบเห็นนกแสกเกาะอยู่ตามป่าช้า หรือสุสาน ก็เลยยิ่งหลงเชื่อว่าเป็นนกผีมากขึ้นไปอีก และรวมทั้งอากัปกริยาของ นกแสก ที่มักทำตาโต ทำคอและหัวส่ายไปมาเมื่อตกใจ และเพื่อเป็นการข่มขวัญศัตรูที่มันกลัวให้หนีไป เลยยิ่งทำให้คนเข้าใจไปว่ามันคือนกผีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นกแสก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอมร กีรติยุตกุล กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การที่โยง นกแสก กับการมีคนตายไม่เหมาะสมเท่าใด เพราะ นกแสก ก็อาจร้องของมันอยู่ทุกคืน เราอาจไม่สังเกตว่าบางที นกแสก ร้อง แต่ไม่มีใครศพเข้ามาที่วัดก็เป็นได้
"การเสนอข่าวลักษณะนี้ อาจทำให้คนยิ่งกลัวนกแสกมากขึ้น อาจส่งผลให้นกแสกถูกยิง ถูกขว้างปาขับไล่ไม่มีที่อยู่ จะเห็นว่าสมัยก่อน นกแสกเป็นนกที่พบได้ง่ายตามท้องทุ่งป่าละเมาะชานเมือง แต่ปัจจุบันค่อนข้างพบเห็นได้ยากแล้ว" กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกฯ กล่าว
นอกจากความเชื่อในด้านลบ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่เห็นประโยชน์ของนกแสก โดยบริษัทน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่ในจ.ชุมพร ใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดหนูไม่ต้องพึ่งสารเคมี ด้วยการเลี้ยงนกแสกจำนวนมากไว้ในพื้นที่สวนปาล์มอันกว้างใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผลมาก จนตอนนี้มีสวนกาแฟที่ จ.เชียงใหม่นำวิธีเดียวกันไปใช้ด้วย ขณะที่อีกหลายประเทศที่ค้นพบความจริงข้อนี้ ก็เริ่มหันมาร่วมกันอนุรักษ์ นกแสก เพื่อให้มันมีพื้นที่อยู่มากขึ้น
สำหรับประเทศไทยเราในแง่สิ่งแวดล้อม นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ นกแสก ยังปรากฎตัวให้เห็น เพราะนั่นแสดงถึงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ แต่พื้นที่สำหรับ นกแสก หรือ "นกผี" จะมากขึ้นหรือน้อยลง คงขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถล้างความเชื่อที่ติดตรึงอยู่ในสังคมไทยได้หรือไม่นั่นแล