วิจัยกันมานานถึง 75 ปีเพื่อหาว่าความสุขมาจากไหน
ท่านผู้อ่านพอจะทราบคำตอบไหมครับว่า ความสุขในชีวิตของเราเกิดขึ้นได้เพราะอะไร? ดูเหมือนจะเป็นคำถามคลาสสิกที่ทุกคนต่างพยายามแสวงหา ดังนั้นวันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านมาดูข้อเสนอแนะจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนะครับ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ใช้เวลาศึกษากันต่อเนื่องมากว่า 75 ปี
เปลี่ยนชุดของผู้วิจัยไปสามชุดแล้วโดยเป็นการเฝ้าติดตามชีวิตของกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 700 คนตั้งแต่ช่วงปี 1930 จนถึงกระทั่งถึงปัจจุบัน (จนถึงล่าสุดยังมีคนจำนวน 60 ของกลุ่มเป้าหมายหลักที่ยังคงมีชีวิตอยู่) และเก็บบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และผลของงานวิจัยชิ้นนี้ก็ปรากฏอยู่ในรูปของ TEDx Talks โดย Robert Waldinger
ซึ่งเป็นหนึ่งผู้วิจัยหลักสำหรับรุ่นที่สี่ของงานวิจัยชิ้นนี้ครับ (งานวิจัยชิ้นนี้ชื่อ The Harvard Study of Adult Development)
เริ่มเปิด TEDx Talks ขึ้นมาคุณ Robert ก็ถามคำถามสำคัญขึ้นมาเลยครับว่าถ้าจะลงทุนในปัจจุบันเพื่ออนาคตของตนเองแล้ว ท่านจะลงทุนในอะไร? ท่านจะให้เวลาและพลังงานไปกับเรื่องใดมากที่สุด? และยิ่งเมื่อถามคนรุ่นใหม่ว่าอะไรคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิตคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็จะมองว่า คือความรวยและการมีชื่อเสียง
ทำให้ไม่แปลกใจครับว่า ทำไมคนในปัจจุบันถึงได้ทุ่มเทกับการทำงานอย่างหนักเหลือเกินเนื่องจากคิดว่าการทำงานที่หนักอย่างต่อเนื่องมานั้น สุดท้ายจะไปสู่ความร่ำรวยความมีชื่อเสียงซึ่งจะนำไปสู่ความสุขในชีวิต
สิ่งที่ทีมงานวิจัยที่วิจัยและเก็บข้อมูลมาอย่างยาวนานถึง 75 ปีค้นพบนั้นพบว่าความสุขของกลุ่มเป้าหมายที่ติดตามศึกษานั้นไม่ได้มาจากชื่อเสียงเงินทองหรือการทำงานใดๆ ทั้งสิ้นครับ แต่พบว่าความสุขและสุขภาพที่ดีของชีวิตมาจากความสัมพันธ์ที่ดี (Good relationships keep us happier and healthier)
โดยพบว่าการมีความสัมพันธ์ทางสังคม (social connections) ที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวเราผู้ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวกับเพื่อนกับคนรอบข้างจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพที่แข็งแรงมีความสุขและอายุยืนมากกว่า พวกที่ชอบอยู่ตัวคนเดียวไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
ผู้ที่ชอบอยู่คนเดียวหรือปลีกตัวจากสังคมและผู้อื่นจะกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความสุขสุขภาพจะเริ่มเสื่อมโทรม เมื่อถึงวัยกลางคนการทำงานของสมองจะเสื่อมเร็วกว่าและสุดท้ายมักจะเป็นผู้ที่มีอายุสั้นกว่า
อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าจะต้องมีเพื่อนเยอะๆ มีคนรู้จักเยอะๆ แล้วจะมีความสุขสุขภาพดีอายุยืนนะครับ ที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของความสัมพันธ์ที่มีอยู่ด้วยครับ การใช้ชีวิตอยู่กับบุคคลรอบข้างโดยเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างกันนั้น กลายเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ
ยิ่งถ้าเป็นชีวิตสมรสที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งโดยขาดความรักระหว่างกันนั้น พบว่าส่งผลต่อสุขภาพยิ่งกว่าการหย่าร้างกันเสียอีกครับ
เนื่องจากงานวิจัยนี้เก็บข้อมูลของบุคคลมาตลอดช่วงชีวิต ดังนั้นนักวิจัยก็สามารถที่จะมองย้อนกลับไปครับว่าสำหรับบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงในช่วงอายุ 80 นั้น อะไรคือปัจจัยที่สำคัญเมื่ออายุ 50 และสิ่งที่พบคือความพอใจในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลครับนั้น คือพวกที่มีความพึงพอใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสูงที่สุด เมื่ออายุ 50 จะเป็นบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงสุดเมื่ออายุ 80
ยิ่งลงไปดูข้อมูลละเอียดก็จะพบครับว่า ความสุขในชีวิตสมรสส่งผลต่อปัจจัยหลายๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยเช่นคู่สมรส (ในวัย 80) ที่มีความสุขในชีวิตคู่นั้นในวันที่ร่างกายเจ็บป่วย (เนื่องจากวัย) ระดับของอารมณ์จะคงที่เหมือนวันปกติทั่วๆ ไปแต่ในคู่สมรสที่ไม่มีความสุขนั้นเมื่อร่างกายเจ็บปวดอารมณ์ความรู้สึกในวันดังกล่าวจะแปรปรวนมากกว่าปกติ
นักวิจัยทีมนี้ยังพบนะครับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดีนอกเหนือจากจะส่งผลต่อสุขภาพแล้วยังส่งผลต่อการทำงานของสมองด้วยครับในคู่สมรสที่อยู่กันมาถึงอายุ 80 นั้นถ้าต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าสามารถที่จะพึ่งพาอีกฝ่ายได้ ความจำของทั้งคู่จะยังอยู่ในระดับที่ดีแต่ในคู่สมรสที่พึ่งพาอีกฝ่ายไม่ได้จะพบว่าความสามารถในการจดจำของบุคคลคู่นั้นจะเริ่มถดถอยลง
สรุปง่ายๆ คือความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดระหว่างบุคคลจะส่งผลดีต่อสุขภาพและความสุขของเรา ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลยนะครับเป็นสิ่งที่พูดและสั่งสอนกันมานาน
เพียงแต่ในปัจจุบันเราอาจจะไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเงินทองหรือชื่อเสียงหรือการทำงานหนักแทนที่จะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล
เคยได้ยินหรืออ่านเจอว่าคนใกล้ตายคนไหนไหมครับที่มาเสียใจก่อนเสียชีวิตว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้อยากจะใช้เวลาบนโต๊ะทำงานและห้องประชุมให้มากกว่านี้”
http://www.wiseknow.com/management/ความสุขมาจากไหน/