สารเคมีที่อยู่ในเคสมือถือ ที่กำลังเป็นข่าว ทำให้ผิวหนังของผู้บริโภคไหม้ เป็นรอยแดงนั้น ตอนนี้ทราบแล้วนะครับว่าคือสารอะไร
รศ.ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์เรื่องนี้ว่า
ในตอนแรกก็เริ่มมาจาก อ.เจษฎา Jessada Denduangboripant ขอให้ช่วยพิสูจน์เอกลักษณ์ทางเคมีครับ พอดีพี่เจษแกถนัดด้านชีววิทยา และทางน้องนักข่าวก็ส่งตัวอย่างมา ดังรูป โดย อ.อ๊อด มีการวางแผนตอนแรกดังนี้ครับ
==========
1. แผลที่เห็นจากภาพที่ของเหลวในเคสมือถือไปโดนผิวทั้งภาพจากต่างประเทศและในไทย ไม่น่าใช่ลักษณะการไหม้ที่เกิดจากกรดแก่ครับ เพราะหากเป็นกรดแก่ จะทำปฏิกิริยาดูดน้ำ(Dehydration)ออกจากร่างกาย และมีแผลที่รุนแรงกว่านี้ แต่รูปที่เห็น น่าจะเป็นการแพ้ระคายเคือง ผื่นแดง
2. อ.อ๊อด เลยคิดว่า หากเป็นกรดหรือเบส ต้องเป็นสารละลายที่มีน้ำปนครับ (กรดเบสจะเป็นสารละลายที่มีน้ำอยู่ด้วย เรียกว่า Aqueous solution) จึงทดลองง่ายๆก่อนคือ ดูสมบัติการละลาย โดยเอาน้ำกลั่นใส่เข้าไปในหลอดทดลองที่มีของเหลวจากเคสมือถือนี้ ปรากฏว่า มันแยกชั้นชัดเจน(ไม่ละลายกัน) แสดงว่าไม่ใช่สารละลายน้ำกรดหรือน้ำเบส(Aqueous solution) ต้องเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic solvent) ตัวใดตัวหนึ่งแน่ๆ หลังจากนั้น ก็เลยลองเอาสารละลายอินทรีย์มาลองผสมกับของเหลวในเคสในอีกหลอดปรากฏว่า ละลายเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันครับ หลักการ สารที่มีสมบัติคล้ายคลึงกันย่อมจะละลายกันได้ (like dissolves like) ก็มั่นใจว่าเป็นตัวทำละลายอินทรีย์แน่นอนครับ!!! และต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ละลายพลาสติก
3. ของเหลวในเคสนี้ ไม่หนืด ใส กลิ่นแรงมาก เหมือนตัวทำละลายอินทรย์ชนิดหนึ่ง ที่ เรามีใน Lab ครับ ก็เลยเอาไปวิเคราะห์ด้วยเทคนิค อินฟราเรด สเปคโตรสโคป (Infrared Spectroscopy) เพื่อดูหมู่ฟังก์ชั่นในโครงสร้างโมเลกุลพบว่า ชัดเจนเป็นสารละลายอินทรย์
ไฮโดรคาร์บอนสายยาว ไม่มีขั้วแน่นอน (ภาพสเปกตรัม นิสิตเคมีจะอ่าน peak ออกครับ)
4. อ.อ๊อด ตัดสินใจส่งวิเคราะห์อีกครั้งด้วยเทคนิค Nuclear Magnetic Resonance Spectroscopy (NMR) เพื่อยืนยันผล 100% และให้นิสิตช่วยหาจุดเดือดพบว่า ของเหลวในเคสมือถือมีจุดเดือด = 174 องศาเซลเซียส
==========
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล สารตัวนี้สรุป 100% ว่าคือ n-Decane หรือเรียกสั้นๆว่า "เด็คเคน (Decane)" สูตรโมเลกุล C10H22 เป็นตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvent) ชนิดหนึ่ง เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถละลายพลาสติกได้ครับ
=========
สารตัวนี้ มีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นได้เฉียบพลันคือ อันตรายในกรณีที่ กลืนกินจากการ สูดดม อันตรายใน กรณีที่ถูกผิวหนัง ทำให้ระคายเคืองแพ้ หากใครแพ้มาก ก็อันตรายตามอาการ หากสารเข้าตาก็อาจบอดได้ครับ สารตัวนี้ไม่มีรายงานการเกิดมะเร็ง แต่มีรายงานการ พิษต่อ ระบบประสาท ส่วนกลาง (CNS ) ในระยะยาว หาซื้อได้ที่ร้านเคมีภัณฑ์ ไม่มีขายทั่วไป ราคาไม่แพง ในกรณีที่สัมผัสทันทีล้างตาด้วยน้ำปริมาณมากอย่างน้อย 15 นาที หากเกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังให้ ชะล้างด้วยน้ำและสบู่และทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นผิว การสัมผัส ต้องนานพอควรจึงจะเกิดการแพ้ การสูดดมมากๆอาจอาเจียน
======
ก็คิดว่า ผู้ประกอบการ ก็คงเลือกสารพอสมควร ว่าต้องจุดเดือดสูง และไม่ละลายพลาสติก สารตัวนี้ปกติเป็นสารชะล้างในโรงงานอุตสาหกรรม
ล้างไขมัน เช่น ล้างแผงวงจรอิเล็กโทรนิค เป็นตัวทำละลายในปิโตรเคมี
เป็นตัวทำละลายในห้องปฏิบัติการเคมี สารตัวนี้เฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยากับสารตัวอื่นๆ ดังนั้น ปลอดภัยเรื่องการเกิดปฏิกิริยาเคมีกับการสัมผัสสารอื่นๆ
สาเหตุที่เอาเนื้อไก่มาแช่ 10 นาทีแล้วเปื่อย เพราะ decane จะไปละลายบางส่วนที่มันละลายได้ในเนื้อไก่ได้ ไก่เลยยุ่ยครับ เนื้อคนก็แพ้ แดงๆ เนื้อคนหากแช่นานๆก็เหมือนเนื้อไก่แหละครับ