สุดยอด ! วิธีการออมเงิน โดยสูตร 6 โหล ทำแล้ว เงินก็มีเหลือเก็บสมใจแน่นอน
สุดยอด ! วิธีการออมเงิน โดยสูตร 6 โหล ทำแล้ว เงินก็มีเหลือเก็บสมใจแน่นอน
วิธีบริหารเงิน แบบฉบับของคนรวย ความมั่งคั่งและอนาคตทางการเงินที่ดีอยู่ไม่ไกล บอกให้รู้ไว้ว่าทำง่ายกว่าที่คิด
นอกจากการเก็บออมเงินแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการสร้างฐานะที่มั่นคงก็คือการบริหารเงินที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง เพราะถ้าหากเรามัวแต่สนใจในเรื่องของการออมเงินจนไม่ได้มองถึงจุดอื่น ในที่สุดแล้วเงินที่เก็บออมไว้ก็ต้องถูกใช้จ่ายออกไปอยู่ดี วันนี้กระปุกดอทคอมก็เลยขอหยิบเอาวิธีการบริหารรายได้แบบง่าย ๆ ที่สามารถทำได้จริง แถมยังเป็นวิธีที่ช่วยบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเงินมากมาย วิธีนี้เรียกว่า JARS System ค่ะ
JARS System เป็นหนึ่งในวิธีการบริหารเงินที่มีประสิทธิภาพ คิดค้นขึ้นโดย T Harv Eker นักพูดและนักคิดทางด้านการเงินการลงทุน เจ้าของหนังสือ Secrets of the Millionaire Mind เมื่อปี 2007 ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากวิธีหนึ่ง ใจความสำคัญของทฤษฎีในการบริหารเงินนี้อยู่ที่การแบ่งรายได้ที่ได้รับทั้งหมดต่อเดือนออกเป็น 6 ส่วน โดย T Harv Eker ได้ใช้โหลเป็นสัญลักษณ์แทนในแต่ละส่วน และในแต่ละส่วนนั้นก็จะมีเปอร์เซนต์ในการแบ่งรายได้ที่แตกต่างกันดังนี้
โหลใบที่ 1 – เงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน (Necessity Account) : 55% ของรายได้ทั้งหมด
เงินในส่วนนี้ เป็นเงินที่จะถูกแบ่งไว้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค หรือรายจ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือน อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ และหนี้สินต่าง ๆ โดยเงินในส่วนนี้จะเป็นเงินที่ใช้จ่ายแล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ใด ๆ ตามมา
โหลใบที่ 2 – เงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวตามใจชอบ (Play Account) : 10% ของรายได้ทั้งหมด
10% ของรายได้ทั้งหมดที่ลงมาอยู่ในโหลในใบนี้จะเป็นเงินที่นำไปใช้จ่ายส่วนตัวตามใจชอบ ถือเป็นรางวัลสำหรับความเหนื่อยยากในการทำงานแต่ละเดือน เป็นเงินที่คุณจะสามารถใช้ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง
โหลใบที่ 3 – เงินสำหรับการลงทุน (Financial Freedom Account) : 10% ของรายได้ทั้งหมด
นอกจากการเก็บออมแล้ว การลงทุนก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการแบ่งเงินเพื่อใช้ในการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ โดยการลงทุนนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของกองทุนหรือหุ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ไปในการทำประกันแบบสะสมทรัพย์ เงินฝากดอกเบี้ยสูง สลากออมสิน หรือการซื้อสินทรัพย์เพื่อเก็งกำไร
โหลใบที่ 4 – เงินสำหรับการศึกษา (Education Account) : 10% ของรายได้ทั้งหมด
ไม่มีคำว่าแก่เกินไปสำหรับการเรียนรู้ ดังนั้นเงินส่วนนี้จึงกลายเป็นเงินเพื่อการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่การสมัครเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการซื้อหนังสือ การอบรมสัมมนา และการเข้าเวิร์กช็อปในสิ่งที่ตัวเองสนใจ
โหลใบที่ 5 – เงินสำหรับการเก็บออมระยะยาวเพื่อค่าใช้จ่าย (Long-term saving for spending Account) : 10% ของรายได้ทั้งหมด
สำหรับค่าใช้จ่ายบางอย่างที่อาจจะมีกำหนดจ่ายห่างกันนาน ๆ อย่างเช่น เบี้ยประกันชีวิต ต่อประกันรถยนต์ จ่ายค่าภาษีรถยนต์ หรือแม้แต่การเก็บเงินเพื่อสิ่งที่ตั้งใจจะทำในอนาคตอย่างเช่น การแต่งงาน การซื้อบ้าน ค่าใช้จ่ายของลูก การแบ่งเงินเข้ามาในโหลส่วนนี้จะช่วยทำให้คุณเก็บเงินได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องจ่ายจะได้มีกำลังในการจ่าย ไม่ต้องไปหยิบยืมให้เป็นหนี้
โหลใบที่ 6 – เงินสำหรับการให้หรือบริจาค (Give Account) : 5% ของรายได้ทั้งหมด
เมื่อได้รับแล้วก็ต้องรู้จักให้ เงินในส่วนที่เหลืออีก 5% มีจุดประสงค์เพื่อบริจาคให้กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซื้อของขวัญให้กับคนใกล้ชิดในโอกาสพิเศษ หรือแม้แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการอุทิศตัวเป็นอาสาสมัครในองค์กรการกุศลต่าง ๆ
ถือเป็นการบริหารจัดการรายได้ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย แถมยังเป็นวิธีที่ดูแล้วไม่โหดร้ายเกินไปสำหรับคนที่มีรายได้น้อยอีกด้วย ถ้าวันนี้คุณเป็นคนหนึ่งที่คิดจะปรับเปลี่ยนวินัยการเงิน และอยากจะสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ดี ลองมองวิธีนี้ไว้เป็นทางเลือก เพื่ออนาคตสดใสในวันข้างหน้า