กล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
กล้องทีเอ็มที 30 เมตร เริ่มแล้ว
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ยอดเขามานาเคอาในฮาวาย ได้มีพิธีลงเสาเอกโครงการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์ทีเอ็มที ซึ่งจะเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อสร้างเสร็จ
กล้องทีเอ็มที (TMT--Thirty Meter Telescope) เป็นกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของช่องรับแสง 30 เมตรดังที่ชื่อบ่งบอก มีกำหนดสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565
ยอดเขามานาเคอา อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิก 4,205 เมตร เป็นภูเขาไฟสงบ จึงเป็นสถานที่ดีเยี่ยมในการใช้เป็นหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ แต่ไม่ทุกคนที่ยินดีต่อโครงการนี้ เพราะเขามานาเคอาก็ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพื้นเมืองฮาวาย โครงการนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้ชาวพื้นเมืองมาก ในวันที่มีพิธีเปิดจึงมีการประท้วงจนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการบางอย่าง
กระจกปฐมภูมิของกล้องทีเอ็มทีจะประกอบด้วยกระจกเงารูปหกเหลี่ยมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 เมตร 492 บานเรียงประกบกัน ทำให้มีพื้นที่สะท้อนแสงเท่ากับกระจกบานเดี่ยวที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เมตร กล้องนี้จะมีกำลังรวมแสงมากกว่ากล้องฮับเบิล 144 เท่า และมีกำลังแยกภาพสูงกว่าฮับเบิล 10 เท่า
นอกจากกล้องทีเอ็มทีแล้ว ยังมีโครงการกล้องยักษ์ที่กำลังก่อสร้างอยู่อีกสองโครงการ นั่นคือ กล้องยักษ์แมกเจนเลนหรือ จีเอ็มที (GMT--Giant Magellan Telescope) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 27 เมตร กล้องนี้ตั้งอยู่ที่ประเทศชิลี มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2563 และกล้องอีอีแอลที (EELT--European Extremely Large Telescope) ของหอสังเกตการณ์ยุโรปซีกใต้ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 39 เมตร ซึ่งมีกำหนดสร้างเสร็จพร้อมกับทีเอ็มที
แน่นอนว่ากล้องยักษ์เหล่านี้ย่อมทำให้เกิดการค้นพบที่สำคัญทางดาราศาสตร์หลายด้าน เช่นการพบองค์ประกอบของดาวเคราะห์ต่างระบบที่ห่างไกล การทำแผนที่โครงสร้างพิสัยใหญ่ของเอกภพ และค้นหาดาราจักรที่อายุน้อยที่สุด ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในรายการที่นักดาราศาสตร์เฝ้ารอให้ทีเอ็มทีมาช่วยดำเนินการ
อุปกรณ์สามชิ้นในเบื้องต้นที่จะอยู่ในกล้องทีเอ็มทีคือสเปกโทรกราฟหลายวัตถุมุมกว้างหรือดับเบิลยูเอฟโอเอส (WFOS--wide-field, multiobject spectrograph) สเปกโทรมิเตอร์ถ่ายภาพอินฟราเรดใกล้ หรือ ไอริส (IRIS--near-infrared imaging spectrometer) และ สเปกโทรมิเตอร์ถ่ายภาพอินฟราเรดใกล้แบบหลายช่องแคบหรือไออาร์เอ็มเอส (IRMS--multi-slit, near-infrared imaging spectrometer) นอกจากนี้จะติดตั้งระบบปรับสภาพตามแสง (adaptive optics) เพื่อแก้ผลจากความพลิ้วไหวของบรรยากาศอีกด้วย
ไม่เพียงแต่ขนาดของกล้องที่ใหญ่มาก งบประมาณการก่อสร้างของโครงการก็ใหญ่โตมโหฬารเช่นกัน ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ ทำให้โครงการนี้แพงเกินกำลังที่จะดำเนินโดยองค์การเดียว ทีเอ็มทีเป็นโครงการนานาชาติ ประกอบด้วยสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน สถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติญี่ปุ่น หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และในอนาคตอาจมีอินเดียและแคนาดาเข้ามาร่วมโครงการด้วย
แหล่งที่มา: ท่องอวกาศ
ที่มา:https://www.facebook.com/mostertoys/photos/a.244423029043218.1073741826.244417555710432/618729121612605/?type=3&theater
Work Begins on Thirty Meter Telescope - skyandtelescope.com