สวิสเซอร์แลนด์ ดินแดนแห่งนักรบ
สวิสเซอร์แลนด์ แผ่นดินอันงดงามที่ซ่อนตัวอยู่กลางขุนเขา ประเทศที่วางตัวเป็นกลางในสงครามโลกทั้งสองครั้ง แม้จะดูเหมือนเป็นดินแดนแห่งพลเมืองที่รักสงบ ทว่าแท้จริง ที่นี่กลับเป็นต้นกำเนิดของตำนานนักรบที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ครั่นคร้าม ทั่วทั้งยุโรปมาแล้ว และนักรบเหล่านั้นก็คือ ทหารรับจ้างสวิส (Swiss Guard)
ทหารรับจ้างสวิสนั้นมี บทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งของยุโรปและของสวิสเซอร์แลนด์มายาวนานตั้งแต่ ช่วงยุคกลางแล้ว ทั้งนี้ชาวสวิสในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากชาวเฮลเวติ (Helveti) หรือ พวกเฮลเวเธียน ซึ่งเป็นกลุ่มชนเชื้อสายเซลติกที่อาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาแอลป์ ตาซิตุส นักประศาสตร์ชาวโรมันผู้ยิ่งใหญ่เคยบันทึกถึงพวกนี้ไว้ว่า “พวกเฮลเวเธียนเป็นชาตินักรบ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความกล้าหาญ” ในช่วงปลายยุคสาธารณรัฐโรมัน พวกเฮลเวเธียนได้อพยพเข้าไปในแคว้นกอล สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวกอลมาก จนต้องขอความช่วยเหลือจากโรม จูเลียส ซีซาร์ได้นำกองทัพไปทำสงครามกับพวกเฮลเวเธียนและได้รับชัยชนะ ทางซีซาร์ได้ยื่นเงื่อนไขให้พวกที่เหลือยอมจำนนและส่งบุตรชายของบรรดาผู้นำ เผ่ามาเป็นตัวประกัน ทว่าชาวเฮลเวเธียนปฏิเสธและยืนยันจะสู้จนถึงที่สุด ทำให้ถูกกองทัพโรมันบดขยี้จนย่อยยับพวกที่เหลือถูกส่งตัวกลับดินแดนเดิม ซึ่งแม้ว่าในสงครามครั้งนี้พวกเขาจะพ่ายแพ้แต่ความห้าวหาญในการรบนั้นก็เป็น ที่ประทับใจของชาวโรมันมาก
นักรบเฮลเวติ
หลังจากจักรวรรดิโรมัน ล่มสลายลง ชาวสวิสได้รวมตัวกันแบบหลวมๆ พวกเขาตั้งรกรากอยู่บนดินแดนตอนในของเทือกเขาแอลป์ เรียกกันว่าเขตปกครองสวิส (Swiss Canton) เขตปกครองสวิส ในช่วงแรกมีประชากรอยู่ราว 500,000 คน และดูเหมือนจำนวนประชากรจะมีมากเกินไป เมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกซึ่งมีอยู่ค่อนข้างไม่เพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาผลผลิตจากนอกดินแดน ด้วยเหตุที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ทำให้ประชากรชาวสวิสต้องประสบภาวะยากจนและไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการอพยพ ออกไปหางานในต่างแดน เพื่อแห้ปัญหาปากท้องของตนและครอบครัว ซึ่งในยุคกลางนั้น อาชีพที่ดีที่สุดที่แรงงานสวิสเหล่านี้จะทำได้ก็คือ การเป็นทหารรับจ้าง จากเหตุนี้เองทำให้ในเวลาต่อมา บรรดาผู้นำของเขตปกครองสวิสได้จัดตั้งกองกำลังทหารรับจ้างขึ้นมา โดยประกอบด้วย ชายฉกรรจ์ราว 15,000 คน โดยกองกำลังนี้จะทำหน้าที่ออกไปรับจ้างรบให้กับกษัตริย์หรือขุนนางที่ปกครอง ดินแดนต่าง ๆ สุดแล้วแต่ใครจะเป็นผู้ว่าจ้างไป
ทหารรับจ้างเหล่านี้ถูก ควบคุมโดยเขตปกครองสวิส ซึ่งจะมีอำนาจในการรับสมัครกำลังพลของชายฉกรรจ์ โดยทหารแต่ละนายจะได้ค่าจ้างเป็น ข้าวโพด เกลือ หรือสินค้าเพื่อการยังชีพอื่น ๆ ทหารเหล่านี้ถือว่าการสงครามเป็นเพียงการอพยพชั่วคราวในช่วงฤดูร้อน พวกเขาจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสงครามครั้งสำคัญ ๆ และกลับบ้านพร้อมด้วยค่าจ้างรวมถึงทรัพย์สินที่ปล้นชิงมาได้ เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในฤดูหนาว ในช่วงเวลานั้นทหารรับจ้างชาวสวิสถือเป็นกองทหารที่ดีที่สุด แม้จะปราศจากทหารม้าและมีปืนใหญ่เพียงเล็กน้อย ชาวสวิสได้คิดค้นเทคนิคการเคลื่อนกำลังที่ทรงประสิทธิภาพ และกลายเป็นที่ต้องการมากทั้งจากสเปนและฝรั่งเศส ขบวนรบของพวกเขาไม่ต่างอะไรกับแนวกำแพงแข็งแกร่งที่สูงตระหง่านจนไม่อาจทะลุ ทะลวงเข้าไปได้ และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีสงครามครั้งใดที่ทหารสวิสไม่มีส่วนร่วมด้วย
ทหารรับจ้างสวิสในวาติกัน
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 13 -14 หลังจากกลุ่มต่าง ๆ ในเขตปกครองสวิสเริ่มแยกตัวเป็นอิสระ ชายหนุ่มจำนวนมากได้เดินทางไปรับจ้างรบในเยอรมันและอิตาลี ในฐานะที่เป็นเพียงเขตปกครอง จึงไม่อาจยับยั้งการอพยพนี้ได้ บรรดาผู้นำเขตปกครองจึงมองหาวิธีที่จะควบคุมสถานการณ์นี้ให้ได้และได้นำไป สู่การจัดตั้งสมาพันธรัฐสวิส ขึ้นในเวลาต่อมา ในรูปแบบของสมาพันธรัฐ ซึ่งทำให้การจัดกำลังพลและการเกณฑ์ทหารสามารถจัดทำได้ในรูปแบบที่ชัดเจนกว่า เดิม รวมทั้งการให้บริการด้านกำลังพลรับจ้างแก่ต่างประเทศด้วย
ใน ปี ค.ศ. 1453 สมาพันธรัฐสวิส ได้เริ่มเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าชาร์ลที่ 7 ของฝรั่งเศส และมีการทำข้อตกลงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1474 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ทั้งนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ทรงประทับใจที่ได้เห็นทหารราบชาวสวิสจำนวน 1,500 นาย ยืนหยัดต่อต้านการเข้าตีของข้าศึกที่มีกำลังมากกว่าได้ถึงยี่สิบครั้งติดๆ กัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ทรงจ้างทหารจากสมาพันธ์เหล่านี้มาประจำในกองทัพฝรั่งเศส ในระหว่างข้อตกลงพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสและสมาพันธ์นั้น มีข้อตกลงว่าทางสวิสจะจัดส่งกำลังพลราว 6,000 -16,000 นาย ให้กับกษัตริย์ฝรั่งเศส โดยทางสวิสจะได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองโดยฝรั่งเศส
ทั้งสองฝ่ายกลายเป็น พันธมิตรที่เข้มแข็งและเกื้อหนุนกันและกัน แต่ทางสมาพันธ์ก็ยังคงมีเอกราชเต็มที่และมีสิทธิในการบังคับบัญชากำลังพลรวม ทั้งสามารถถอนกำลังของตนออกไปเมื่อใดก็ได้ ทั้งนี้กองกำลังสวิส มีอิสระในการออกกฎควบคุมกองทัพ การพิจารณาความ รวมถึงมีธงประจำกองทัพของตัวเอง ในการออกคำสั่งจะใช้ภาษาของพวกเขาเอง คือภาษาเยอรมัน โดยจะมีผู้บังคับบัญชาเป็นชาวสวิสและพวกเขายังคงอยู่ภายใต้กฎหมายของสมา พันธ์
ต่อมาในปี ค.ศ. 1506 ทหารรับจ้างชาวสวิสกลุ่มแรกก็ได้เดินทางเข้ามายังโรม ในฐานะกองทหารองครักษ์ของสันตะปาปา จูเลียสที่ 2 ทหารเหล่านี้นำโดยผู้บังคับที่ชื่อ กัสปาร์ ฟอน ซีเลอนีน (Kasparvon Silenen) จากเขตอูริและได้รับการประทานพรจากสันตะปาปา จูเลียสที่ 2 แต่ที่จริงแล้วก่อนหน้านั้น สันตะปาปา ซิกตุสที่ 4 ได้เคยทำสัญญาพันธมิตรกับสหพันธรัฐไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1497 และได้สร้างค่ายทหารเพื่อเตรียมไว้รองรับกำลังพลพวกนี้ ณ. บริเวณที่ปัจจุบันคือ โบสถ์เล็กของเซนต์ เพลเลกริโน (St. Pellegrino) ในกรุงวาติกันและก่อนหน้านั้นในสมัยของสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่8 (ปี ค.ศ.1484 – 14 92) ก็เคยทรงตัดสินพระทัยที่จะใช้ประโยชน์จากทหารสวิส เพื่อต่อต้าน ดยุคแห่งมิลาน และในสมัยของ สันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ผู้มาจากตระกูลบอเจีย ก็ทรงเคยว่าจ้างทหารเหล่านี้ ในช่วงที่ตระกูลบอเจียกำลังเรืองอำนาจและเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส
ในตอนนั้น สงครามในคาบสมุทรอิตาลีได้เริ่มขึ้นและเมื่อบรรดาทหารรับจ้างชาวสวิสได้ยิน ว่า พระเจ้าชาร์ลที่ 8 กษัตริย์ฝรั่งเศสวางแผนทำสงครามใหญ่กับเนเปิล พวกเขาก็รวมกลุ่มกันไปสมัครเข้าร่วมรบ จนกระทั่งถึงสิ้นปี ค.ศ.1494 กำลังนับพัน ๆ คนของพวกเขาก็รวมกันอยู่ในโรม โดยร่วมไปกับกองทัพฝรั่งเศส ในเดือนกุมภาพันธ์ ของปีถัดมา กองทัพฝรั่งเศสก็สามารถยึดครองเนเปิลได้สำเร็จ ในบรรดาผู้ที่ร่วมทัพในสงครามกับเนเปิลนั้น ได้รวมถึงพระคาดินัล กุยเลียโน เดลลา โรเวีย ผู้ซึ่งจะกลายเป็นสันตะปาปาจูเลียส ที่ 2 ในอนาคต พระองค์ค่อนข้างคุ้นเคยดีกับชาวสวิส เพราะยี่สิบปีก่อนหน้านั้น พระองค์เคยเป็นหนึ่งในบรรดาผู้สอนศาสนา ที่เข้าไปในดินแดนของชาวสวิสมาก่อน
แม้ว่าจะได้รับชัย ชนะ อย่างไรก็ตามสองสามเดือนหลังจากนั้น ขาร์ลที่ 8 ก็ถูกบีบให้ละทิ้งเนเปิล และต้องเร่งถอยทัพกลับฝรั่งเศส ทั้งนี้ในความเป็นจริงนั้น สันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่6 ได้ทรงลอบทำการติดต่อกับทาง มิลาน, เวนิช และจักรวรรดิเยอรมัน เพื่อรวมแนวต่อต้านการขยายตัวของฝรั่งเศส การปฏิบัติการรบของทหารสวิสในครั้งนั้นเป็นที่ประทับใจพระคาดินัล กุยเลียโนมาก และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้พระองค์ทรงจ้างทหารสวิส เป็นทหารองครักษ์เมื่อพระองค์ขึ้นเป็นพระสันตะปาปาในเวลาต่อมา หลังจากมาประจำการที่วาติกันในปี ค.ศ. 1506 แล้ว ทหารองครักษ์สวิสได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง วีรกรรมครั้งสำคัญที่เป็นที่จารึกของพวกเขาก็คือ ตอนที่กองทหารรับจ้างสเปนบุกโจมตีกรุงโรม ในวันที่ 6 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1527
ในเวลานั้น จักรพรรดิชาร์ลที่5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศํกสิทธิ์ได้ทำสงครามกับเหล่าพันธมิตรแห่งคอนแนค (Connac Leaque) อันประกอบด้วย ฝรั่งเศส, มิลาน, เวนิซ, ฟลอเรนซ์ และรัฐสันตะปาปา ในตอนนั้น สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ได้ให้การสนับสนุนฝ่ายฝรั่งเศสในความพยายามเปลี่ยนขั้วอำนาจในภาคพื้นยุโรป และต้องการปลดปล่อยรัฐสันตะปาปาจากการควบคุมของจักรวรรดิ ทว่าความพยายามนี้ไร้ผล พระเจ้าชาร์ลสามารถเอาชนะกองทัพของเหล่าพันธมิตรได้ แต่หลังสงคราม พระเจ้าชาร์ลไม่ได้จ่ายเงินให้กับกองทหารรับจ้างตามข้อตกลงทำให้พวกนั้นไม่ พอใจ ดังนั้นทหารรับจ้างจำนวนสองหมื่นนายที่ชุมนุมพลอยู่ใกล้กรุงโรมจึงยกกำลัง เข้าโจมตีกรุงโรม โดยละเมิดข้อตกลงที่ฝ่ายจักรวรรดิทำไว้กับทางโรม
ในตอนเช้าของวันที่ 6 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1527 กองทหารรับจ้างชาวสเปนจากกองบัญชาการบนเนินเขากีอานิโคโล ก็ยกกำลังเข้าโจมตีประตูทอริออนี (Torrione Gate) หลังจากการโจมตีอย่างดุเดือดกองทหารสเปนก็บุกฝ่าเข้าไปได้ สำเร็จ กำลังพลฝ่ายโรมแตกพ่ายยับเยิน หน่วยทหารองครักษ์สวิส ยืนรักษาที่มั่นอยู่ตรงเสาโอเบลิก (ปัจจุบันคือบริเวณจตุรัส เซนต์ปีเตอร์) ร่วมด้วยทหารชาวโรมจำนวนเล็กน้อย พวกเขายังคงยืนหยัดต้านทานแม้จะสิ้นหวัง หัวหน้าของทหารองครักษ์สวิส ชื่อ กัสปาร์ รอยส์ (Kaspar Röist) ได้รับบาดเจ็บระหว่างการต่อสู้และถูกฆ่าในที่พักทหารในเวลาต่อมา โดยทหารรับจ้างชาวสเปนต่อหน้าภรรยาของเขา พร้อมด้วยทหารสวิสอีก 189 นายที่พลีชีพในศึกครั้งนั้น มีเพียง 42 นายเท่านั้นที่รอดชีวิต กำลังส่วนหนึ่งที่รอดชีวิต ภายใต้การนำของ เฮอร์คิวลีส โกลด์ลี (Hercules Göldli) ได้คุ้มครอง สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ล่าถอยไปตามเส้นทางลับที่สันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 เคยสร้างไว้ เส้นทางนี้เชื่อมระหว่าง วาติกันกับปราสาท เซนต์ เองเจโล (Castel Sant’Angelo) ซึ่งเป็นที่ที่สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ไปลี้ภัยที่นั่น ในการปล้นสะดมครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่าหนึ่งหมื่นคน ทรัพย์สินถูกปล้นไปเป็นจำนวนมหาศาลรวมทั้งสุสานของอดีตพระสันตะปาปา ก็ยังถูกทำลายไปด้วย
แม้ว่าการปล้นสะดมใน ครั้งนี้ ดูเหมือนจะทำให้พระเจ้าชาร์ลได้รับความอับอายและเสียพระพักตร์ที่ไม่อาจทรง ควบคุมกองทหารของพระองค์ได้ แต่การณ์กลับเป็นว่าพระองค์เองก็ไม่ได้ทรงไม่พอพระทัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นสัก เท่าไหร่ เพราะในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ทหารพวกนี้ทำนั้น ก็เป็นการต่อต้านองค์สันตะปาปามากกว่าและพระเจ้าชาร์ลก็อาจทรงเห็นว่านี้คือ การให้บทเรียนแก่สันตปาปาที่คิดจะต่อต้านพระองค์ หลังจากนั้นไม่นาน สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ก็ยอมจำนน และทรงใช้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตของพระองค์โดยการหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่จะสร้างความขัดแย้งกับทางจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
อย่างไรก็ตามวีรกรรมที่ ยิ่งใหญ่ในการปกป้ององค์สันตะปาปาของเหล่าทหารองครักษ์ชาวสวิสในครั้งนั้น ได้สร้างความประทับใจให้กับทางวาติกันและทำให้ทางวาติกัน ยังคงจ้างทหารสวิส เป็นทหารรักษาการณ์ในวาติกันตราบมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ในวาติกันมีทหารสวิสรักษาการณ์อยู่ประมาณ 100 นาย และมีการเกณฑ์ทหารใหม่เข้ามาแทนที่กองกำลังที่ลาออกไป โดยผู้ที่จะมาเป็นทหารนั้น ต้องนับถือนิกายโรมันคาทอลิก และต้องผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว อีกทั้งยังต้องได้รับการรับรองจากโบสถ์ในท้องถิ่นด้วย และในวันที่ 6 พฤษภาคม ของทุกปี จะเป็นวันที่บรรดาทหารใหม่ทำการปฏิญาณตน