พระพุทธเจ้าได้ทรงตำหนิการกระทำของภิกษุเหล่านั้น ว่าเป็นผู้เห็นแก่ปากแก่ท้อง....
พระพุทธองค์ได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่ของบรรดาภิกษุเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นก็ได้กราบทูลความเป็นไปทั้งหมดให้พระพุทธองค์ทรงทราบ ในเรื่องของการอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีจริงของกันและกัน เพื่อให้ได้อาหารที่ดีๆ นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงตำหนิการกระทำของภิกษุเหล่านั้น ว่าเป็นผู้เห็นแก่ปากแก่ท้อง การกระทำเช่นนั้นเปรียบเหมือนมหาโจร โดยได้ตรัสแสดงถึงประเภทของมหาโจร ๕ จำพวก คือ
๑. ภิกษุเลวทรามบางพวก ที่ปรารถนาว่าเมื่อไรจักมีภิกษุบริวารแวดล้อมร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่ง จะได้เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ ชาวบ้าน ให้ความเคารพนับถือยำเกรง จะได้และจะได้ถวายลาภสักการะ ต่อมาเมื่อเธอก็ได้สมปรารถนาที่ตั้งไว้ ภิกษุเหล่านี้เปรียบเหมือนกับมหาโจรจำพวกที่ ๑
๒. ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๒
๓. ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารี ผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๓
๔. ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์ เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขาร ของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อารามวิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กะถางโลหะ กะทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่านเถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกะต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียวเครื่องไม้ เครื่องดิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๔
๕. ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาว แว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย.
แล้วทรงตรัสตำหนิภิกษุผู้ที่หลอกลวงชาวบ้านเลี้ยงชีพว่า บริโภคด้วยอาการแห่งขโมย ย่อมเข้าถึงนรก การบริโภคเหล็กแดงประเสริฐกว่าการบริโภคก้อนข้าวของชาวบ้าน จากนั้นจึงทรงบัญญัติห้ามภิกษุพูดอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ผู้ใดอวดต้องอาบัติปาราชิก
ต่อมาในภายหลัง มีภิกษุสำคัญผิดคิดว่าตนเองได้บรรลุธรรมจริง ๆ จึงบอกแก่ภิกษุอื่น ภายหลังรู้ว่าตนเองยังไม่บรรลุ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระพุทธองค์ และพระองค์ได้ทรงบัญญัติอนุบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า …..เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ…ดังนี้
ความหมาย อุตริมนุสสธรรม คือ ธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ หรือธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล ภิกษุกล่าวอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนเองถือว่ามีโทษหนักขั้นอุกกฤษฎ์ คือ ขาดจากความเป็นภิกษุทันที ไม่สามารถขอกลับเข้ามาบวชใหม่อีกได้ต่อไป เปรียบเหมือนตาลยอดด้วนไม่อาจงอกขึ้นมาใหม่ได้ฉันนั้น
ตอนหนึ่งจาก