มอนสเตอร์ในชุดยาง เสน่ห์ที่กำลังจะจางหายไป
โชฟุ, ประเทศญี่ปุ่น - "ไดสุเกะ เทราอิ" เค้าคือหนึ่งในนักแสดงไซไฟที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง แต่ทว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้เห็นหน้าเค้าเต็ม ๆ ซักที นั่นก็เป็นเพราะว่าทุกครั้งที่คุณเทราอิได้ออกหน้ากล้อง เค้าจะปรากฏกายในชุดของมนุษย์ยักษ์ผู้ปกป้องโลกท่ามกลางต้นไม้และตึกจำลอง ใช่แล้วครับ เค้าก็คือ "อุลตร้าแมน"
เมื่อบ่ายแก่ ๆ ที่ผ่านมา คุณเทราอิเพิ่งจะเสร็จสิ้นภารกิจในการปกป้องโลกจากสัตว์ประหลาดนามว่า "แกรนด์คิง"
หลังจากที่ผู้กำกับสั่งคัทเป็นที่เรียบร้อย คุณเทราอิวัย 36 ปีก็ถอดชุดอุลตร้าแมนออกด้วยเหงื่อที่เปียกชุ่ม
เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผู้ช่วยอีกคนก็กำลังถอดโฟมหนามของแกรนด์คิงออก พร้อมกับรูดซิปของชุดที่มีน้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัมลงไปบนพื้น
เป็นเวลานับสิบ ๆ ปีแล้วที่สตูดิโอในประเทศญี่ปุ่นหลาย ๆ แห่งต่างก็สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั้งโลกด้วยภาพยนตร์ไซไฟสุดอลังการ
พร้อม ๆ กับนักแสดงที่สวมบทบาทภายใต้ชุดยาง ซึ่งบ่อยครั้งมักจะมีฉากหลังเป็นประเทศญี่ปุ่น หรือภูเขาไฟฟูจิเป็นหลัก
ภาพยนตร์แนวนี้จะถูกเรียกว่า "โทคุซัทสึ" ที่แปลว่าภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยเทคนิคพิเศษนั่นเอง และด้วยเทคนิคเหล่านี้เอง จึงทำให้สัตว์ประหลาดในจินตนาการอย่าง "ก็อตซิลล่า" หรือ "ม็อธทร่า" ถูกถ่ายทอดออกมาได้เสมือนจริงไม่ต่างกับอนิเมชั่นเลยทีเดียว
แต่ทว่าในยุคปัจจุบันนี้ สเปเชียลเอฟเฟคที่สร้างจากคอมพิวเตอร์นั้นทำให้บทบาทของภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบเก่าค่อย ๆ เลือนหายไป จากการที่มีตึกจำลอง ภูเขาเทียม หรือเอฟเฟคระเบิดอลังการงานสร้างนั้นก็ถูกลดทอนและดูเป็นของล้าสมัย
อย่างเช่นภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิครูปแบบเก่าอย่าง "ก็อตซิลล่าไฟนอลวอร์" ที่ออกฉายไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก็ไม่มีการต่อยอดนำมาสร้างใหม่อีกแต่อย่างใด แม้จะมีออกมาบ้างประปราย แต่เทคนิคในรูปแบบดั้งเดิมนั้นก็ไม่ค่อยได้ถูกนำมาใช้อยู่ดี
ณ เวลานี้มีเพียงสองบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่ยังคงสร้างภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึอยู่ นั่นก็คือ "ซึบูราญ่า โปรดักชั่น" และ "โตเอะ"
ทางฝั่งซึบูราญ่านั้นมี "อุลตร้าแมน" เป็นไลน์หลัก ส่วนโตเอะก็มี "คาเมนไรเดอร์" และ "ซุปเปอร์เซนไท" เป็นตัวชูโรง
ทั้งหมดต่างก็เป็นภาพยนตร์ที่สร้างด้วยทุนจำกัด โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็ก ๆ ผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องราวที่เกี่ยวกับฮีโร่ผู้ปกป้องโลก
และผลงานภาพยนตร์ล่าสุดของซึบูราญ่าสตูดิโออย่าง "อุลตร้าแมนกิงกะ" ก็มีกำหนดออกฉายในเดือนนี้ที่ญี่ปุ่นแล้ว
ด้วยแรงบันดาลใจของภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึ ก็ส่งผลต่อการสร้างภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูดอย่างมหาศาล
ไม่ว่าจะเป็น "แปซิฟิค ริม" หรือ "ก็อตซิลล่า" ที่ได้ถูกนำมาสร้างใหม่อีกครั้ง แต่ทว่าเทคนิคการถ่ายทำกลับเป็นดิจิตอลไปเกือบทั้งหมด
"ซักวันหนึ่ง เมื่อเรามองไปรอบตัว ๆ ของเรา เราอาจจะพบว่าไม่มีใครสร้างภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึอีกต่อไปแล้ว"
จากการให้สัมภาษณ์ของอดีตผู้กำกับภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึมือทอง เจ้าของผลงานกาเมร่าทั้ง 3 ภาคอย่าง "ชินจิ ฮิกุจิ" ได้แสดงทัศนะไว้ได้อย่างน่าสนใจ
"พวกเราไม่อยากจะให้เทคนิคแบบนี้เลือนหายไปจากวงการ โดยปราศจากการระลึกถึงมันว่า พวกเราผูกพันกับมันมากแค่ไหน"
เมื่อปีก่อนคุณฮิกุจิเองก็มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง "โทคุซัทสึ สเปเชียลเอฟเฟค มิวเซียม" หรือพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโทคุซัทสึล้วน ๆ
ภาพหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของโทคุซัทสึนั้น ก็ได้พูดถึงเทคนิคการถ่ายทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่มีการสร้างภาพยนตร์ที่นำเครื่องบินรบจำลองมาเข้าฉาก
ซึ่งแม้แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น ก็ยังหลงเชื่อว่าภาพที่เห็นคือเครื่องบินของจริงเสียด้วยซ้ำ
โดยภาพยนตร์ชุดนั้นเป็นผลงานจากปรมาจารย์ "เอย์จิ ซึบูราญ่า" บิดาแห่งก๊อตซิลล่าในยุคภาพยนตร์ขาว-ดำปี 1954
จะเรียกได้ว่ายุคนั้นเป็นยุคที่ภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึกำลังเฟื่องฟูเลยก็ไม่ผิดซักเท่าไหร่นัก
"พวกเราหวังว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ ๆ เกิดแรงบันดาลใจ และนำพาวงการโทคุซัทสึไปสู่หนทางใหม่ได้" คุณฮิกุชิกล่าวปิดท้าย
และในพิพิธภัณฑ์ที่ว่านั้นก็มีกล้องถ่ายทำภาพยนตร์ที่ใช้ใน "อุลตร้าแมน" บรรจุอยู่ รวมไปถึงขาจำลองของก็อตซิลล่าที่ใช้ถล่มอาคาร
หรือแม้แต่ยุทโธปกรณ์อย่างยานอวกาศ เรือดำน้ำ และปืนเลเซอร์ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ก็ยังถูกเก็บเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนั้นอย่างดีเยี่ยม
"เราต้องสมมติเหตุการณ์ของมันออกมาก่อน จากนั้นก็ทำให้มันดูเสมือนจริงตอนที่มันปรากฏในฟิลม์"
ฮารูโอะ นาคาจิม่า, นักแสดงผู้สวมชุดก็อตซิลล่าได้พูดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา
ขณะนี้คุณฮารูโอะก็มีอายุกว่า 84 ปีแล้ว เค้าคือผู้ที่เคยทำงานร่วมกับอาจารย์ซึบูราญ่าจนกระทั่งวันที่อาจารย์เสียชีวิตในปี 1970
ยุคนั้นการจะทำชุดสัตว์ประหลาดได้ซักตัว จะต้องใช้ยาง ลาเท๊กซ์ และฝ้ายจำนวนมากในการสร้างมันขึ้นมา
"มันไม่มีวิธีบอกในหนังสือหรอก คุณต้องเรียนรู้เอง ทำมันด้วยตัวคุณเองเท่านั้น" คุณฮารูโฮะกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยความช่วยเหลือของกระทรวงวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ช่วยรวบรวม และจัดการหาของที่เป็นมรดกและคุณค่าทางวัฒนธรรมมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คุณ "โทโมะโนริ ซาอิกิ" นักวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้กล่าวเอาไว้ว่า วัฒนธรรมทางภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึนั้นเติบโตอย่างช้า ๆ หลังยุคสงคราม ด้วยงานฝีมือที่ถูกถ่ายทอดผ่านสิ่งประดิษฐ์เล็ก ๆ ออกมายังภาพยนตร์ เพื่อต่อสู้กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของอเมริกาที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศในยุคนั้น ทำให้ภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึเต็มไปด้วยความปราณีต เสมือนจริงเป็น และสร้างความฮือฮาให้กับผู้ชมอย่างมาก
=================================================================
กลับมาที่อุลตร้าแมนกิงกะอีกครั้ง เหล่าคนงานกำลังจัดเรียงต้นไม้ปลอมขนาดเล็ก ตึกจำลอง รวมไปถึงเซ็ทระเบิดที่ตัวของแกรนด์คิงเพื่อเป็นเอฟเฟคในตอนที่เค้าถูกอุลตร้าแมนโจมตีใส่ ผู้กำกับ "ยูอิจิ อาเบะ" ได้พูดถึงเทคนิคที่เค้ากำลังจะใช้ถ่ายทำว่าเป็นเทคนิคแบบดั้งเดิม นักแสดงก็เป็นนักแสดงจริง ๆ ที่ไม่ได้เอาคอมพิวเตอรืกราฟิกเข้ามาเกี่ยวข้อง
"คอมพิวเตอร์กราฟิกมันทำงานตามที่โปรแกรมเมอร์สั่งเท่านั้น ไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจเลย" คุณอาเบะวัย 49 กล่าวอย่างหนักแน่น
เค้าผ่านร้อนผ่านหนาวกับงานกำกับอุลตร้าแมนซีรี่ย์มากกว่า 5 เรื่องเข้าไปแล้ว
"ด้วยเทคนิคพิเศษของโทคุซัทสึนี้ล่ะ มันสร้างความตื่นตาตื่นใจได้มากกว่า และคนดูจะรู้สึกได้เลยว่ามันคือของจริง"
คุณอาเบะกล่าวถึงทิศทางที่คอมพิวเตอร์เอฟเฟคนั้นถูกนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นยานอวกาศ
ที่เมื่อก่อนนั้นใช้แบบจำลองจริง ๆ มาเข้าฉาก ต่างกับปัจจุบันที่กลายเป็นคอมพิวเตอร์กราฟิกไปหมดแล้ว
ในขณะที่กำลังถ่ายทำฉากที่แกรนด์คิงกำลังจะเหวี่ยงหุ่นยนต์ฝ่ายเดียวกับอุลตร้าแมนอย่าง "แจนไนน์" ออกไปจากฉากพร้อมกับกิงกะนั้นเอง
ฉากหลังที่แจนไนน์กระเด็นออกไปนั้นถูกวางไว้ด้วยฟูกหนาจำนวนมาก รวมไปถึงทีมงานที่เซ็ททุกอย่างไว้พร้อมหมดแล้ว
คุณเทราอิผู้สวมชุดอุลตร้าแมนก็จัดแจงโพสท่าเตรียมพร้อม ก่อนที่ฝ่ายเทคนิคพิเศษจะกดสวิทช์เล็ก ๆ บนชุดเพื่อเปิดไฟกลางหน้าอกของอุลตร้าแมนกิงกะ
"พร้อม!" คุณอาเบะตะโกนให้สัญญาน ก่อนที่จะสั่งให้เริ่มถ่ายทำ "สตาร์ท!"
สิ้นเสียงของผู้กำกับ นักแสดงผู้สวมชุดแจนไนน์ก็ถูกเหวี่ยงออกไปจากฉากพร้อมกับอุลตร้าแมนกิงกะ และกระเด็นไปยังฟูกที่เตรียมเอาไว้ก่อนหน้า
"คัท!"
"นี่คือเทคนิคที่คุณจะไม่มีวันได้เห็นในรูปแบบของคอมพิวเตอร์กราฟิกหรอกครับ" คุณเทราอิกล่าวพร้อมกับจับที่ไหล่ของตัวเอง "เจ็บสุด ๆ เลยครับ"
คุณเทราอิผู้รับบทเป็นสูทแอคเตอร์ของอุลตร้าแมนมากกว่า 16 ปีได้กล่าวถึงสิ่งที่เค้าประทับใจในฐานะนักแสดงว่า
เพียงแค่ได้สร้างความประทับใจให้กับเด็ก ๆ ตอนที่เดินไปจับมือพวกเค้า นั่นก็มากเกินพอแล้ว
"เด็ก ๆ รู้ครับ ว่าคอมพิวเตอร์กราฟิกมันเป็นของปลอม สิ่งที่พวกเค้าต้องการก็คือการได้จับมือกับอุลตร้าแมนตัวเป็น ๆ ต่างหาก"
ทว่าสิ่งที่พวกเค้าเป็นห่วงที่สุดก็คือ เมื่อคนรุ่นพวกเค้าได้เกษียนตัวเองออกไปแล้ว ใครล่ะที่จะก้าวมายืนแทนที่พวกเค้า?
งานฝีมือที่มีสเกลเล็ก ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ความประณีตชั้นสูง ใครเล่าจะเป็นผู้สืบทอดต่อไป?
"ชินอิจิ โอกะ" ผู้อำนวยการแห่งซึบูราญ่าโปรดักชั่น ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิกไว้ว่า
ณ ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์ไปอย่างมหาศาล แม้แต่องค์ประกอบรอบตัวที่ต้องอาศัยการสร้างด้วยคอมพิวเตอร์
ทุกอย่างนั้นทำเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องการเห็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจเหมือนกับภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูดนั่นเอง
"แน่นอนครับ พวกเรายังรักในการสร้างภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึอยู่
แต่ด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์ที่สามารถลดต้นทุนได้มากมาย รวดเร็ว และทำได้ในปริมาณมาก ๆ
นั่นก็ทำให้คอมพิวเตอร์กราฟิกถูกนำมาแทนที่การถ่ายทำระบบเก่านั่นเอง"
คุณโอกะผู้เคยผ่านงานการเป็นตากล้องให้กับภาพยนตร์อุลตร้าแมนมาถึง 9 เรื่องกล่าวสบทบอีกว่า
"ถ้าหากอาจารย์ซึบูราญ่ายังอยู่ ผมเชื่อว่าอาจารย์จะต้องใช้เทคนิคพิเศษจากคอมพิวเตอร์กราฟิกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอนครับ"
"ยูอิจิ อาเบะ" ผู้กำกับที่เชื่อมั่นว่าเทคนิคการถ่ายทำแบบดั้งเดิมนั้น ให้ความรู้สึกสมจริงกว่าเทคนิคจากคอมพิวเตอร์กราฟิก
ทีมงานกำลังช่วยเซ็ทฉากให้กับนักแสดงใน "อุลตร้าแมนกิงกะ"
อุลตร้าแมนกิงกะใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบดั้งเดิมเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฉาก หรือเอฟเฟคระเบิด ต่างก็เป็นของจริงทั้งสิ้น
ทีมงานกำลังเช็คสตอรี่บอร์ด เพื่อถ่ายทอดภาพในจินตนาการให้ออกมาเป็นจริงให้ได้มากที่สุด
เทคนิคเก่า ๆ ยังถือว่าใช้ทุนสร้างในปริมาณที่สูงอยู่ ซึ่งต่างจากเทคนิคใหม่ที่ใช้แต่คอมพิวเตอร์โดยสิ้นเชิง
ทีมเอฟเฟคระเบิดกำลังเตรียมที่จะกดระเบิดตามคิวที่กำหนด
ทีมจัดแสงก็ถือว่าสำคัญ เพราะจะส่งผลต่อภาพและมุมมอง รวมไปถึงอารมณ์ที่ตัวหนังพยายามจะสื่อออกมาด้วย
คุณอาเบะก็ยืนกรานเช่นเดิมว่าเทคนิคแบบดั้งเดิมนั้นให้ความรู้สึกเสมือนจริง และสร้างอารมณ์ให้กับผู้ชมได้มากกว่า
ทีมงานกำลังเซ็ทฉากเข้าไปเพิ่มเติมเพื่อถ่ายทำซีนต่อไป
"อุลตร้าแมนกิงกะ" ถือว่าเป็นผลงานโทคุซัทสึที่ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และคงความดั้งเดิมไว้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
The New York Times คอลัมน์ Rubber-Suit Monsters Fade.Tiny Tokyos Relax. ฉบับตีพิมพ์วันที่ 1 กันยายน 2013
ฉบับออนไลน์วันที่ 3 กันยายน 2013 : http://www.nytimes.c...s.html/?ref=asia
บทแปลภาษาญี่ปุ่น โดย "ฮิซาโกะ อุเอโนะ"
บทแปลภาษาอังกฤษ โดย "MARTIN FACKLER"
บทแปลภาษาไทย โดย "Poraemon@J-HERO.COM"
ที่มา : http://www.j-hero.com/boardnew/index.ph ... ndhoeoaae/
ที่มา: http://www.j-hero.com/webboard/viewtopic.php?f=5&t=19