คนที่เลี้ยงลูกเทพ คือผู้หญิงชนชั้นกลาง/ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง/ ไร้ทางออก/ หมดที่พึ่ง ??
แฟนเพจของบีบีซีไทยหลายท่านแสดงความเห็นเกี่ยวกับกระแสความนิยมในการครอบครอง “ตุ๊กตาลูกเทพ” ของบุคคลบางกลุ่ม ขณะที่นักวิชาการเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแบบเดียวกับความนิยมในเครื่องรางของขลังประเภทอื่นในสังคม สะท้อนความรู้สึกไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลาง ชี้ตุ๊กตาลูกเทพถือครองอำนาจทุน
แฟนเพจหลายท่านได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กบีบีซีไทย Misterrobotechnics Chiangrai เห็นว่ากระแสที่กำลังเกิดขึ้น สะท้อนถึงภาวะจิตใจที่ไร้ทางออกและที่พึ่ง สะท้อนความรู้สึกไม่มั่นคง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จนต้องให้ลูกเทพมาช่วยดึงกระแส ความสนใจจากคนรอบข้าง
Pammanee Chotipassopit เชื่อว่ากระแสนี้อาจเสื่อมลงในเวลาไม่นาน และราคาขายตุ๊กตาลูกเทพคงลดลงไปมาก ปัจจุบันคนหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจกันตามกระแส โดยมองข้ามความเป็นชาวพุทธ
Srisamorn Soffer เสนอให้เปลี่ยนจากตุ๊กตามาเป็นอุปการะเด็กกำพร้า
เด็กขอทาน เด็กร่อนเร่ เพื่อให้ได้บุญอย่างแท้จริง Prayuk Yoothow สนับสนุนให้ทำให้เป็น "วัฒนธรรมส่งออก" เพื่อนำเงินภาษีมาสนับสนุนงาน วิจัยทางวิทยาศาสตร์ Thumb Nail เห็นว่ามีคนเล่นตุ๊กตาที่ว่าไม่กี่คน แต่กระแสเรื่องนี้เกิดขึ้นจากนักข่าวเอง
ด้านอสมา มังกรชัย นักศึกษาปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา ที่สหราชอาณาจักร ซึ่งเคยสอนที่มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองว่าผู้เลี้ยงตุ๊กตาลูกเทพส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชนชั้นกลางที่น่าจะทำงานหนักและมีรายได้สูง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากความนิยมในเครื่องรางของขลังประเภทอื่นในสังคม ในแง่ที่สะท้อนความรู้สึกไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลาง
อสมายังชี้ว่า การดูแลตุ๊กตาลูกเทพนั้นเกี่ยวพันกับวิถีของชนชั้นกลางอย่างมาก เช่น การนำไปร้านอาหาร นั่งเครื่องบิน หรือแม้แต่เรียนพิเศษ ซึ่งตราบเท่าที่มีกำลังทรัพย์ในการจ่าย ตุ๊กตาลูกเทพก็ยังมีสิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการเหล่านั้น ซึ่งสะท้อนได้ว่า “สังคมไทยเป็นสังคมที่มีภาวะของการยกเว้นเยอะ และในบางครั้งการยกเว้นก็มาจากการถือครองอำนาจที่มากกว่า ตุ๊กตาเทพถือครองอำนาจทุน”
บีบีซีไทย - BBC Thai