เริม... โรคติดต่อที่พบบ่อย
เริมเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย เกิดจากเชื้อไวรัสเริม (Herpes simplex virus, HSV) ลักษณะของเริมคือพบหย่อมตุ่มน้ำใสบนพื้นผิวหนังสีแดง ต่อมาตุ่มน้ำใสมักกลายเป็นตุ่มหนอง หรือแตกเป็นแผล ในที่สุดอาจมีสะเก็ดปกคลุม แม้ว่าการติดเชื้อเริมเกิดได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย
ส่วนใหญ่ (คือร้อยละ ๗๐-๙๐) ของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ ๑ (HSV-1) เกิดในตำแหน่งที่สูงกว่าเอว และส่วนใหญ่ (คือร้อยละ ๗๐-๙๐) ของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ ๒ (HSV-2) เกิดในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเอว
พบว่าการจูบทำให้เกิดการติดเชื้อโรคจากน้ำลายได้หลายอย่าง ที่พบบ่อยคือโรคเริมซึ่งจะเป็นตุ่มน้ำใสเจ็บๆ คันๆ ที่ริมฝีปาก จมูก คาง แก้ม เกิดจากเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ ๑ ในสหรัฐอเมริกาพบว่าเมื่อวัยรุ่นอายุครบ ๒๐ ปี ส่วนใหญ่จะมีการติดเชื้อเริมที่ปากและที่อวัยวะสืบพันธุ์ไปแล้ว
เริมเป็นแล้วจะไม่หายขาด เมื่อผู้ติดเชื้ออ่อนแอ (เช่น เป็นไข้ สัมผัสแสงแดดแรงจัด ผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน) เริมจะกำเริบได้ หากแกะหรือเกาตุ่มน้ำใสแล้วสัมผัสนัยน์ตา กระจกตาอาจอักเสบจนถึงขั้นตาบอดได้
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันเชื่อว่าการติดเชื้อเริมที่ริมฝีปาก (HSV-1) อาจทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมที่เรียกว่าอัลไซเมอร์ได้ โดยตรวจพบเชื้อไวรัสเริม (HSV-1) ในคราบสมอง (beta-amyloid plaques) ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้
แนวทางการรักษาโรคเริม
โรคเริมส่วนใหญ่หายได้เอง ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงโรคจะสงบใน ๑ สัปดาห์
ขณะที่มีอาการตุ่มน้ำพองแตกเป็นแผล มีน้ำเหลืองไหล มีอาการแสบ ร้อน และคัน อาจให้การรักษาแบบประคับประคองโดยให้ยาต้านฮิสทามีนแก้คัน ใช้น้ำเกลือ กรดบอริก ๓% หรือ Burow's solution ประคบแผลวันละ ๓-๔ ครั้งเพื่อช่วยลดอาการระคายเคือง กินยาแก้ปวดพาราเซตามอลลดอาการเจ็บปวด
รายที่เป็นแผลแตกออกควรให้ยาทาปฏิชีวนะชนิดครีม หรือขี้ผึ้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ยาต้านจุลชีพชนิดทาที่ใช้ได้แก่ ครีมหรือขี้ผึ้ง กรดฟูซิดิก (fucidic acid) หรือขี้ผึ้ง มูพิโรซิน (mupirocin)
ส่วนยาต้านไวรัสเริมชนิดทาที่นิยมคือ ขี้ผึ้งอะไซโคลเวียร์ ๕%
ยาต้านไวรัสเริมชนิดเม็ดคือ อะไซโคลเวียร์ วาลาไซโคลเวียร์ (valaciclovir) และเฟมไซโคลเวียร์ (famciclovir)
มีสมุนไพรที่นำมาใช้รักษาโรคเริม เช่น เสลดพังพอน
การป้องกันเริมแนะนำให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน งดการจูบพร่ำเพรื่อ ควรใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน งดการใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ตลอดจนแก้วน้ำร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยควรใช้หลอดดูดน้ำจากแก้ว ผู้หญิงที่ชอบทดลองลิปสติกตามเคาน์เตอร์เครื่องสำอางก็มีโอกาสติดเชื้อเริม ผู้ที่เข้าห้องน้ำสาธารณะก็มีโอกาสติดเชื้อเริมที่ก้นจึงควรใช้กระดาษปูรองนั่ง
ยาต้านไวรัสเริมไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสให้หมดไปจากร่างกาย ควรงดเว้นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ เช่น การดื่มสุรา ยาเสพติด การพนันที่ทำให้ต้องนอนดึก การเที่ยวกลางคืน การสูบบุหรี่ และควรออกกำลังกาย พักผ่อนให้พอเหมาะ และทำจิตใจให้สดใสอยู่เสมอ
ข้อมูลสื่อhttp://www.doctor.or.th/article/detail/10908
ชื่อไฟล์: 378-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 378
เดือน/ปี: ตุลาคม 2553
คอลัมน์: ผิวสวย หน้าใส
นักเขียนหมอชาวบ้าน: นพ.ประวิตร พิศาลบุตร