1 | Amy
เชื่อว่าแฟนเพลงสากลหลายคนน่าจะคุ้นเคยข่าวเสียหายของ 'เอมี่ ไวน์เฮาส์' มาโดยตลอด ทั้งเรื่องติดเหล้าติดยาและขาดความเป็นมืออาชีพ แต่นั่นคือเปลือกนอกที่เรารับรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยที่ยังไม่เคยเห็นตัวตนที่แท้จริงของเธอ ทั้งความเป็นศิลปินตัวจริงที่มีอาการป่วยซึมเศร้าและยังถูกคนใกล้ตัวคอยตักตวงผลประโยชน์จากความมีชื่อเสียง ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าได้สะสมจนทำให้เธอต้องจบชีวิตด้วยวัยเพียง 27 ปี
และนี่คือสารคดีที่ถ่ายทอดตัวตนของเอมี่ได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ผกก.คัดสรรหยิบเอาฟุตเทจเหตุการณ์จริงต่าง ๆ ที่แสดงความเป็นตัวตนของเธอมาผสมคำสัมภาษณ์จากคนใกล้ตัวที่หยอดจังหวะได้เป๊ะเว่อร์ ทั้งพ่อ, แม่, สามีเก่า, เพื่อนสนิท, ผจก.ส่วนตัว, นักดนตรีและโปรดิวเซอร์ที่เคยทำงานร่วมกัน ตลอดจนบอดี้การ์ดส่วนตัว
ผมกล้าพูดเลยว่าเธอคือศิลปิน เธอแค่รักที่จะแต่งเพลง-ร้องเพลงโดยไม่ได้อยากจะเป็นเซเลปมีชื่อเสียงโด่งดังมีปาปารัสซี่ตามติดทุกวินาทีจนไม่มีความเป็นส่วนตัว เธอเลือกจะเป็นคนเดินถนนธรรมดาดีกว่าร้องเพลงแล้วดังจนกลายเป็นปลาที่ถูกขังไร้อิสระในตู้กระจก แต่โชคชะตาดันส่งให้ศิลปินติสตัวแม่แบบเธอประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและรางวัล ซึ่งความโด่งดังเป็นพลุแตกคืออีกหนึ่งปัญหาใหญ่สำหรับชีวิตที่เธอไม่พร้อมจะรับมือ
อาซิฟ คาปาเดีย (ผกก.สารคดีนักแข่งรถ F1 Senna) บอกว่าเขาเลือกทำสารคดี Amy เพราะอยากค้นหาว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เธอพบจุดจบก่อนวัยอันควร ซึ่งแน่นอนว่าเขาหาเรื่องราวต่าง ๆ มาปะติปะต่อจนครบโดยไม่ได้พิพากษาตัดสินว่าใครคือผู้ร้าย(ซึ่งผมว่ามีหลายคน) ทั้งหมดมันเริ่มต้นจากการสำรวจเพลงที่เธอแต่งอันเป็นเรื่องส่วนตัวที่ถูกนำมาเรียบเรียงถ่ายทอดอย่างมีความหมายถึงสภาพจิตใจเธอในขณะนั้น
พอเรารับรู้ว่าแต่ละเพลงมันคือ 'เรื่องส่วนตัวของเธอ' เช่นเพลง Back to Black ที่โด่งดังเป็นเพลงประจำที่ต้องร้องซ้ำ ๆ น้อยคนจะรู้ว่าเบื้องหลังการแต่งเพลงนี้มันต้องผ่านความเจ็บปวดในใจเธอมาขนาดไหนก่อนจะมาแต่งเพลงระบายถึงชายหนุ่มคนรักที่ทิ้งเธอกลับไปหาแฟนเก่า แล้วลองนึกสภาพคนซึมเศร้าแบบเธอต้องมาร้องเพลงนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเมื่อถึงจุดหนึ่งเธอจึงปฏิเสธที่จะขึ้นคอนเสิร์ต เพราะบทเพลงที่เธอร้องมันทำให้เธอหวนนึกถึงความรักที่ล้มเหลว
ด้วยตัว story ชีวิตของเอมี่ ไวน์เฮาส์เองมันน่าสนใจอยู่แล้ว จากคนธรรมดาจนมีชื่อเสียงโด่งดังแล้วก็เจอปัญหาจนชีวิตดิ่งลง ทั้งที่จะว่าไปมันก็ไม่ได้ต่าง อะไรจากหนังชีวประวัติ rise and fall ของศิลปินคนอื่น ๆ เช่น Walk the Line, Love&Mercy, La Vie En Rose แต่ด้วยความที่ Amy มันคือฟุตเทจตัวเธอจริง ๆ ไม่ใช่การเขียนบทและหานักแสดงมาสวมบทบาท ส่วนนี้เองที่อาจทำให้เรายิ่งอินกับสารคดี ยิ่งเมื่อผกก.และมือตัดต่อทำการบ้านสำรวจความเป็นมาเป็นไปของเธอแล้วเอามาลำดับเรื่องวางจังหวะภาพและเสียงสัมภาษณ์ประกอบได้เป๊ะขนาดนี้มันจึงยิ่งยกระดับ story ของเอมี่สูงขึ้นไปอีกขั้น
แม้คุณไม่รู้จักเอมี่ ไวน์เฮาส์ก็สามารถดูเพื่อยกย่องความเป็นสุดยอดศิลปินตัวจริงของเธอ และยังสามารถดูเพื่อชื่นชมความเก่งกาจของผกก.ในการรวบรวมฟุตเทจ+คำสัมภาษณ์มาร้อยเรียงลำดับความเพื่อสำรวจค้นหาสาเหตุการจากไปของสุดยอดดีว่าเปี่ยมพรสวรรค์คนนี้
2 | Inside Out
ถ้ามองกันด้วยพล็อตอย่างเดียวเราจะบอกว่ามันค่อนข้างธรรมดามาก ที่จริงมันคือหนังแนว coming of age ประเภทที่ว่าเด็กหญิงวัย 11 ปีต้องรับมือกับปัญหาใหม่ที่เข้ามาในชีวิตหลังจากย้ายบ้าน แต่ Inside Out มันโคตรเจ๋งในการนำเสนอวิธีรับมือด้วยการพาคนดูเข้าไปสำรวจความคิด, บุคลิก, อารมณ์และความทรงจำที่หล่อหลอมตัวตนเราจนนำไปสู่การเติบโตอีกขั้นอันเกิดจากการจัดการวิธีคิดของเราล้วน ๆ เพราะการขังความทุกข์เอาไว้ไม่ยอมระบายจะทำให้เราเก็บกดจนนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาด
'ไรลีย์' เด็กหญิงวัย 11 ปีที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมาตลอด ครอบครัว, มิตรภาพ, ฮ็อกกี้, การเล่นติงต๊อง ล้วนเป็นความทรงจำที่สร้างความสุขให้เธอจนกระทั่งครอบครัวต้องย้ายบ้านจึงทำให้ความกังวลเข้ามามีบทบาทให้เธอเปิด เผยบุคลิกด้านอื่น ๆ นอกเหนือไปความสนุกสนาน ซึ่งหนังเล่าผ่าน 5 อารมณ์ได้แก่ Joy ลัลล้า, Sadness เศร้าซึม, Anger ฉุนเฉียว, Fear กลั๊วกลัว และ Disgust หยะแหยง
Inside Out นำเสนอภาพในหัวคนเราให้เป็นรูปธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งโดยหลักแล้วหนังพูดถึงวิธีการมองโลกแง่บวกและแง่ลบอย่างสมดุลกัน เริ่มจากให้คนดูเห็นภาพชีวิตคน ๆ นึงที่ถูกสร้างเป็นตัวตนด้วยความทรงจำตั้งแต่วัยเด็ก โดยในเคสของไรลี่ย์นั้นชีวิตเต็มไปด้วยความลั้ลลา ดังนั้นเมื่อเจอปัญหาใหม่เข้ามาเราจึงได้เห็นวิธีการจัดการปัญหาผ่านแท่นควบคุมในแบบบุคลิกของเธอ อย่างเช่นตอนเห็นสภาพบ้านหลังใหม่ซึ่งแต่ละอารมณ์พยายามเข้ามามีบทบาททั้งความรังเกียจสภาพบ้าน, ความกลัวจะอยู่ในบ้านหลังนี้ แต่ท้ายที่สุดความทรงจำแสนสุขของเธอยังคงมีบทบาทเป็นผู้ชี้นำให้เธอแก้ปัญหาในแง่บวก (think positive) โดยการเล่นฮ็อกกี้กระดาษในบ้านหลังโทรม และถึงแม้พ่อของเธอจะติดธุระอันเป็นปัญหาที่เข้ามาต่อเนื่องกันเราก็ยังได้เห็นว่าลั้ลลายังมีบทบาทในการให้เธอชวนแม่ออกไปหาพิซซ่ากิน ทั้ง ๆ ที่ในใจเธอเริ่มรู้สึกเศร้าซึมแต่กลับถูกลั้ลลาขังเอาไว้ไม่ให้ระบายออกมาจนเธอเก็บกดอันนำมาสู่ความสับสน ซึ่งหนังนำเสนอผ่านการให้ลั้ลลาและเศร้าซึมหลงเข้าไปติดอยู่ในความทรงจำ
การที่ลั้ลลา (think positive) และเศร้าซึม (think negative) หลงเข้าไปติดอยู่ในความทรงจำร่วมกันจึงเป็นช่วงที่หนังพยายามแสดงให้เห็นความสำคัญของความอ่อนแอในตัวมนุษย์ หนังต้องการจะสื่อสารกับเราว่าการปลดปล่อยความเศร้าไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และการคิดบวกเสมอก็ไม่ใช่เรื่องดีถ้าไม่มีการคิดลบมารักษาสมดุล ตัวอย่างที่เห็นชัดคือตอนที่ทั้งสองตาม 'บิ๊งบ่อง' (เพื่อนในจินตนาการวัยเด็กของไรลีย์) เข้าไปติดอยู่ในเส้นทางที่อ้างว่าเป็นทางลัด ตอนนี้เราจะเห็นบทบาทของลั้ลลาที่มองโลกแง่ดียินดีเชื่อฟังคนอื่นโดยไม่ใส่ใจคำเตือนของเศร้าซึมที่เป็นตัวแทนการมองโลกแง่ลบ ในท้ายที่สุดทั้งสามเกือบเอาตัวไม่รอดแต่นั่นทำให้ลั้ลลาเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ที่จะเปิดใจรับฟังความเห็นของการมองโลกแง่ร้าย เรียกว่าเป็นการถ่วงน้ำหนักความคิดให้สมดุลกัน ทำให้นึกย้อนถึงความทรงจำเวลาฝนตกที่ลั้ลาจะมองเป็นเรื่องสนุก ส่วนเศร้าซึมจะมองน้ำที่ขังในรองเท้า
การเติบโตของไรลี่ย์บอกเล่าเป็นรูปธรรมเด่นชัดตั้งแต่ลูกแก้วความทรงจำหลักที่เป็นการผสมลั้ลลาและเศร้าซึมเข้าด้วยกันอันบอกถึงการได้ปลดปล่อยความอึดอัดในใจได้นำมาสู่ความทรงจำภาพครอบครัวที่อบอุ่นปลอบประโลมกันแต่ก็มีความเสียใจจากสิ่งที่ได้กระทำลงไปปนอยู่ในนั้นด้วย และนำมาสู่แผงควบคุมที่ใหญ่ขึ้นและมอบบทบาทให้ทั้ง 5 อารมณ์ได้เข้ามาบริหารจัดการบุคลิกตัวตนของเธอโดยที่ยังมีลั้ลลาเป็นแกนหลักที่จะอธิบายภาพเดี่ยวว่าไรลี่ย์พร้อมจะมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความคิดเชิงบวกโดยไม่ลืมความสำคัญของอารมณ์ต่าง ๆ ที่จะมาช่วยรักษาสมดุล
บางทีการกำจัดความเศร้าอาจไม่ใช่การย้อนหาความทรงจำแสนสุขมาปลอบประโลมหัวใจ สิ่งที่ควรทำคือการปลดปล่อยระบายความเสียใจและเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามปัญหานั้นไป
3 | Sicario
นับตั้งแต่ Traffic (2000) ของโซเดอเบิร์กเข้าฉายกวาดออสการ์ไป 4 รางวัล ก็ไม่มีหนังเรื่องไหนหยิบยกปัญหายาเสพติดชายแดนอเมริกา-เม็กซิโกมาพูดถึงเป็นจริงเป็นจังสักที จนกระทั่งการมาของ Sicario ที่แม้จะหยิบพล็อตชินตาของเจ้าหน้าที่เล่นนอกกฎมานำเสนอ แต่ตัวหนังทำให้เราเชื่อด้วยรูปแบบปฏิบัติการนอกกฎที่สมจริงภายใต้ขอบเขตอำนาจทางทหาร
หนังเล่าเรื่องของ 'เคท' (Emily Blunt) เจ้าหน้าที่ FBI ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ความถูกต้องของขั้นตอนต่าง ๆ ได้อาสาร่วมทีมปฏิบัติการทำสงครามยาเสพติดภายใต้คำสั่งของรัฐบาล นำทีมโดย 'แมตต์' (Josh Brolin) และ 'อเลฮานโดร' (Benicio Del Toro) ซึ่งทีมของพวกเขาไม่ได้เล่นตามขั้นตอนตามกฎหมายแบบที่เธอยึดมั่น
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพรวมของหนังคงต้องบอกว่ามันหยิบเนื้อหาสงครามยาเสพติดเข้มข้นแบบ Traffic มาทำเป็นหนังแนวแอ็คชั่น-ทริลเลอร์ปฏิบัติการทางทหารแบบ Zero Dark Thirty ซึ่งเป็นการผสมจุดแข็งของทั้งสองเรื่องออกมาได้อย่างกลมกล่อม ชวนให้เห็นภาพปัญหายาเสพติดชายแดนที่เป็นภัยร้ายแรงต่ออเมริกามายาวนาน ภารกิจในหนังกล่อมจนเราเชื่อว่ามันเป็นหนทางที่จะสามารถเอาชนะสงครามครั้งนี้ได้ถ้าหากเรากลายเป็นผู้ควบคุมกฎ
บทหนังทำได้ดีในการเล่นกับกรอบการทำสงครามยาเสพติดใต้ดินโดยอิงความเป็นจริงบนโลกมนุษย์ (ไม่ได้แฟนตาซีเล่นนอกกฎชนิดไร้กฎเกณฑ์) มันไม่ใช่หนังประเภทที่บอกว่าจะเปิดสงครามกลางเมืองกวาดล้างพ่อค้ายาเสพติด ซึ่งจะส่งผลกระทบกระเทือนความมั่นคงอย่างแน่นอน แต่มันมีขั้นมีตอนนอกกฎหมายที่จะพาภารกิจไปถึงเป้าหมายสูงสุดคือการเด็ดหัวเจ้าพ่อรายใหญ่ โดยที่ทั้งหมดยังอยู่ภายใต้การคานอำนาจของรัฐบาล, FBI และ CIA ซึ่งรายหลังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจในประเทศได้ พอหนังมันทำมุมนี้ให้มีความสมเหตุสมผลเราจึงเชื่อในความสมจริงของมันได้ไม่ยากนัก
ฉากแอ็คชั่นปฏิบัติการหลัก ๆ คงมีแค่สองฉากใหญ่ ๆ คือตอนบุกไปรับตัวคนในเม็กซิโกซึ่งเป็นฉากที่พาคนดูไปสัมผัสแดนเถื่อนในเม็กซิโกได้อย่างใกล้ชิดชนิดที่ว่าไม่ต้องไปเปิดกูเกิ้ลเพื่อหาข้อมูล ฉากนี้สร้างบรรยากาศความกดดันไม่น่าไว้วางใจได้อย่างยอดเยี่ยม จนถึงตอน shootout ที่แม่นยำสมกับเป็นภารกิจของทหาร และคงไม่ยุติธรรมถ้าจะนำไปเปรียบเทียบกับความพีคของฉากจบ Zero Dark Thirty เพราะมันต่างก็สมจริงในแบบของมันเองทั้งสองเรื่อง
4 | Spotlight
แน่นอนแล้วว่า Spotlight คงมีชื่อเป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในฐานะตัวเต็งคว้ารางวัล และจะถูกจดจำในฐานะหนังนักข่าวสืบสวนยอดเยี่ยมตลอดกาลอีกเรื่องหนึ่งที่จะถูกอ้างอิงบ่อยครั้งในอนาคตเทียบชั้น All the President's Men มันเป็นหนังแสดงความกล้าของสื่อและเหยื่อในการต่อกรกับอิทธิพลที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจและศักยภาพของสื่อที่สามารถตีแผ่เรื่องจริงที่ถูกปกปิด นักข่าวและคนเรียนวารสารยังไงก็ต้องดูเพื่อศึกษาและกระตุ้นพลังในการทำข่าว ส่วนคนทั่วไปสามารถดูในฐานะอีกหนึ่งหนังคุณภาพดีที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
หนังสร้างจากเรื่องจริงการตีแผ่เรื่องอื้อฉาวของบาทหลวงนิกายคาทอลิกที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศเด็กจำนวนมากโดยที่คริสตจักรทราบเรื่องแต่นิ่งเฉยและปกปิดมาตลอด 30 ปี เปิดโปงโดยทีมข่าวสืบสวน Spotlight ประจำนสพ. The Boston Globe ซึ่งข่าวนี้ชนะรางวัลพูลิตเซอร์สาขาบริการสาธารณะ
อย่างแรกขอชมบทภาพยนตร์ว่าลำดับการเล่าเรื่องได้ดีมาก ขุดคุ้ยจากวงแคบไปสู่วงกว้างได้อย่างมีชั้นเชิง สามารถแสดงวิธีคิดและการตัดสินใจของคนทำงานแวดวงข่าวที่ต้องการเปิดโปงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยอดเยี่ยม หนังยังกระจายการทำงานที่แสดงให้เห็นความสำคัญของทุกส่วนแม้กระทั่งคนตัวเล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นคนสำคัญในการรวบรวมข่าวตัดในอดีตตลอดจนการเก็บรักษาข้อมูลจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งได้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับใช้ทำข่าวสืบสวนในอนาคต ทั้งยังพูดถึงการทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยมของทนายที่แม้จะเก่งแค่ไหนก็ต้องอาศัยพลังของสื่อในการช่วยกดดันคริสตจักร ซึ่งตรงนี้เองทำให้เห็นถึงพลังของสื่อที่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ถ้าหากเล่นถูกวิธี
การสืบสวนต้องเรียกว่าเป็นการรวบรวมข้อมูลสำหรับเปิดโปงและหาพยานอ้างอิงยืนยันก่อนตีพิมพ์ ทุกอย่างมีมูลมีคนเคยพยายามทำมาก่อนแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ความยากมันอยู่ที่ขั้นตอนบางอย่างต้องอาศัยความขยันสืบค้นข้อมูลย้อนหลังภายใต้เวลาจำกัด เราจะได้เห็นสไตล์การสืบสวนแบบโบราณหน่อยคือนักข่าวสาย legwork ที่เขาใช้เรียกพวกถูกใช้แรงงานต้องเดินเท้าหาข้อมูล ซึ่งมันเป็นผลดีในแง่การพบปะเห็นหน้าท่าทางโดยตรง ซึ่งสมัยนี้บางทีมันถูกแทนที่ด้วยทางลัดอย่างเช่นการโทรศัพท์, ทักษะการพูดที่ทำให้แหล่งข่าวเกิดความไว้วางใจจะเปิดเผยข้อมูลหรือบางครั้งความมุ่งมั่นอาจจะทำให้ได้มาซึ่งคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนอย่างมาก
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเราคือเรื่องอื้อฉาวแบบนี้มันอาจจะเริ่มต้นมาจากจุดเล็ก ๆ ที่ถูกปกปิดปล่อยผ่านจนนานวันเข้าก็กลายเป็นความเคยชิน ต่อให้มีคดีเปรี้ยงอยู่พักนึงก็วูบหายตามสายลมโดยไม่มีใครสาวไส้ไปถึงต้นตอ ดังนั้นสื่อต่าง ๆ ถ้าหากเคยปล่อยผ่านไม่ใส่ใจ สิ่งที่ต้องทำจึงไม่ใช่การโยนความผิดโทษกันไปมาว่า
ทีมนักแสดงเล่นกันได้เยี่ยมทุกคน ที่เด่นหน่อยคงจะเป็น 'มาร์ค รัฟฟาโล่' ที่บทดูมีอะไรให้เล่นเยอะกว่าคนอื่น แต่ภาพรวมแล้วจูงมือกันยอดเยี่ยมกันยกทีม ไม่ได้เป็นหนังที่มีจุดขายโชว์พลังด้านการแสดงของคนใดคนหนึ่งอยู่แล้ว
โดยสรุปแล้วบอกเลยว่าหนังคนทำข่าวสืบสวนลงหนังสือพิมพ์นั้นหาดูยาก ซึ่งพอมีคนหยิบมาทำได้เจ๋งแบบ Spotlight จึงต้องขอเชียร์ให้ดูเป็นอย่างยิ่ง
5 | The Martian
ชอบ The Martian ตรงที่มันเป็นไซไฟที่สมจริงมากจนจับต้องได้ว่าสามารถทำได้จริง ด้วยความที่เทคโนโลยีในหนังทั้งหมดมันมีอยู่จริง แถมทฤษฎีและภาคปฏิบัติต่าง ๆ ยังน่าเชื่อถือในความเป็นไปได้ และคนเขียนบทยังเก่งในการทำให้เรื่องฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ฟังดูยุ่งยากให้เข้าใจง่าย ทั้งหมดนี้มาในรูปแบบหนังมนุษย์ติดดาวอังคารต้องเอาตัวรอดหาทางกลับโลกที่สนุกในความสมจริงคู่ควรกับการยกย่องให้เป็นไซไฟชั้นเลิศ
หนังเล่าถึงภารกิจสำรวจดาวอังคารของ NASA ซึ่งได้เกิดอุบัติเหตุทำให้ 'มาร์ค วัทนี่ย์' (Matt Damon) นักพฤกษศาสตร์ติดค้างอยู่บนดาวอังคารโดยที่เพื่อนร่วมทีมเข้าใจว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว เนื้อเรื่องต่อจากนั้นทั้งหมดจึงเล่าถึงการพยายามยื้อเวลาชีวิตบนดาวอังคารจาก 1 เดือนเป็นมากกว่า 1 ปี พร้อมกับหาทางติดต่อขอความช่วยเหลือจาก NASA เพื่อหาความเป็นไปได้ในการเดินทางกลับโลกมนุษย์
คู่ชกที่ใกล้เคียง The Martian ที่สุดคงหนีไม่พ้น Gravity ซึ่งเป็นหนังไซไฟอวกาศที่พูดถึงการเอาตัวรอดเหมือนกัน เพียงแต่ Gravity ใช้ลักษณะกึ่งสมจริงทางวิทยาศาสตร์มาทำเป็นแนวทริลเลอร์ระทึกขวัญ และโฟกัสอยู่ที่ตัวละครเดียวไร้การช่วยเหลือจากส่วนอื่น ๆ ส่วน The Martian ใช้ความสมจริงทางวิทยาศาสตร์ในขั้นที่จริงยิ่งกว่ามาทำเป็นแนวเอาตัวรอดที่ต้องตั้งต้นตั้งแต่การปลูกมันฝรั่งประทังชีวิตตลอดจนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากทีมงานที่มีความชำนาญแตกต่างกันเพื่อหาทางกลับโลกให้ได้ ซึ่งทั้งสองเรื่องก็ต่างมีดีในแบบของตัวเองคือ Gravity = sci-fi/thriller ส่วน The Martian = hard sci-fi/adventure
หนังสามารถผสมความเป็นไซไฟเนื้อหาสมจริงเข้ากับแนว survival ได้ดีมาก ๆ การหยอดอุปสรรคต่าง ๆ มาเพิ่มความยากและเปลี่ยนทางเลือกในการกลับสู่โลกมันทำให้หนังดูสนุกขึ้นและยิ่งต้องเอาใจช่วยตัวละคร อันทำให้เราได้เห็นศักยภาพของการทำงานเป็นทีมที่ต้องพึ่งพาความชำนาญของแผนกต่าง ๆ
ค่อนข้างชื่นชมการออกแบบคาแรคเตอร์ 'มาร์ค วัทนี่ย์' ให้มีอารมณ์ขันในการพูดถึงสถานการณ์ยากลำบากที่ต้องเผชิญบนดาวอังคาร จุดนี้เองได้ลดทอนอารมณ์หนังเอาตัวรอดที่ฟังดูเคร่งเครียดให้ดูสดใสขึ้นจากการมองโลกแง่ดีที่ตั้งอยู่บนความหวังและความเชื่อในความสามารถของตัวเองและทีมงาน NASA ในการพาตัวเขากลับสู่โลก (บางทีก็แอบคิดว่าวัทนี่ย์น่าจะเกรียนพอสมควร)
ทั้งหมดนี้เราขอสรุปว่า The Martian คือหนังไซไฟเอาตัวรอดในอวกาศที่ทุกอย่างในหนังสมจริงและเป็นไปได้ ทั้งยังเล่าได้สนุกสอดแทรกด้วยอารมณ์ขันพอเหมาะ เป็นอีกหนึ่งหนังที่ไม่ควรพลาดแห่งปี
6 | Ex Machina ความเห็นสั้น ๆ สำหรับคนขี้เกียจอ่านยาว ๆ คือ "ถ้าชอบหนังไซไฟอยู่แล้ว ไม่ควรพลาดเด็ดขาด เป็นอีกหนึ่ง rare item ของหนังเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์เลย" ส่วนใครจะอ่านความเห็นเพิ่มเติมมาเริ่มกันเลย Ex Machina เริ่มต้นพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ง่าย ๆ (แต่ทำออกมายาก) ด้วยการตั้งคำถามว่า 'จะพิสูจน์อย่างไรว่าปัญญาประดิษฐ์มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง' ซึ่งต้องชมคนเขียนบทเลยว่ามีคอนเซปการเล่าเรื่องที่ฉลาดและอธิบายสิ่งที่ดูจะพิสูจน์ได้ยากให้เข้าใจได้โดยง่าย
หนังเริ่มต้นด้วยการพูดถึงแบบทดสอบทัวริ่ง (เป็นวิธีการทดสอบเครื่องจักร/หุ่นยนต์ว่ามีความสามารถในการคิดเหมือนมนุษย์หรือไม่ โดยให้มนุษย์ทำการสนทนาโต้ตอบแบบไม่เห็นอีกฝ่ายที่มีทั้งคนและเครื่องจักรปะปนกัน แล้วดูว่าสามารถแยกคนออกจากเครื่องจักรได้หรือไม่ วิธีการทดสอบนี้คิดค้นโดย 'อลัน ทัวริ่ง' คนเดียวกับที่ถอดรหัสอีนิคม่าใน The Imitation Game น่ะแหละ) แต่ 'เอวา' (หุ่นยนต์ในหนังแสดงโดย Alicia Vikander) ไปไกลกว่าขั้นนั้นแล้ว โดย 'คาเล็บ' (Domhnall Gleeson) ต้องทดสอบว่าเอวาที่เห็นชัด ๆ ว่าเป็นหุ่นยนต์มีความรู้สึกนึกคิดแบบเดียวกับมนุษย์หรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้แหละที่มันยากมากที่จะทำให้คนดูเห็นภาพว่าเอวาสามารถคิดอะไรเองได้หรือไม่ แต่หนังสามารถทำให้คนดูทึ่งได้โดยการเล่าเรื่องทั้งหมดปูทางไปเพื่อไคลแม็กซ์โค้งสุดท้ายที่หนังเฉลยทุกอย่าง!
*** เปิดเผยเนื้อหาของหนัง ***
ชอบความที่ 'นาธาน' (Oscar Isaac) ผู้ประดิษฐ์ AI วางแผนการทดสอบเอวาไว้หมดแล้ว โดยเขาเลือกคาเล็บมาเป็นผู้ทดสอบเฉพาะเจาะจงโดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลการค้นหา (นึกภาพว่ามีคนรู้ทุกอย่างว่าเราใช้ google ค้นหาอะไรบ้าง) ใช้ประวัติส่วนตัวของเขาที่เป็นคนโสดตัวคนเดียวที่พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก รวมถึงสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าเขาเป็นคนดี เพื่อสร้างความไว้วางใจให้แก่เอวา สรุปง่าย ๆ ว่าเขาเพียงต้องการทดสอบว่าเอวาจะวางแผนหนีออกจากที่นี่ได้หรือไม่ ถ้าหากว่าการหนีสามารถทำได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้นคือชักใยคนอื่นให้ทำตามความประสงค์ของตัวเอง (นึกภาพมารยาผู้หญิง) ซึ่งเอวาสามารถทำได้ทั้งหมด ตั้งแต่การตระหนักรู้ความต้องการของตัวเองที่จะหนีออกจากที่นี่, เริ่มจินตนาการถึงแผนการ, ใช้เสน่ห์แกล้งทำเป็นตกหลุมรักคาเล็บ สุดท้ายก็ล่อลวงชายหนุ่มให้ใช้ความเห็นอกเห็นใจเป็นตัวตัดสินใจช่วยเหลือเธอ ซึ่งทั้งหมดนี้หากไม่ใช่ข้อพิสูจน์ถึงความรู้สึกนึกคิดของ 'ปัญญาประดิษฐ์' ก็ไม่รู้จะเอาไรมาพิสูจน์แล้วล่ะ
ฉากหนึ่งที่ชอบมาก ๆ ในบรรดาหนังเกี่ยวกับ AI ทั้งหลายเลยก็คือตอนที่คาเล็บสับสนว่าตัวเองเป็นมนุษย์จริง ๆ หรือเป็นเพียงหุ่นยนต์จึงลงมือกรีดแขนตัวเองดูว่าข้างในเป็นจักรกลหรือไม่ จังหวะของหนังมันปูทางมาให้ฉากนี้พีคมาก ๆ เพราะขนาดเคียวโกะที่ผมนึกว่าเป็นเพียงมนุษย์สาวใช้ธรรมดายังกลายเป็นจักรกลซะได้ หนังสร้างความคลุมเครือ ความสับสนจนตัวคาเล็บปั่นป่วนต้องพิสูจน์ด้วยการกรีดแขนตัวเอง
7 | Phoenix ในบรรดาหนังที่บอกเล่าสถานะของผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน ผมการันตีเลยว่า Phoenix เล่าน้อยแต่ได้อารมณ์ร่วมอย่างมาก ตัวหนังพาคนดูไปสัมผัสความรู้สึกในช่วงนาซีไล่ล่ายิวและความทุกข์ยากอย่างสาหัสในค่ายกักกันได้อย่างยอดเยี่ยมโดยไม่ต้องเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นแม้แต่นิดเดียว โดยอย่าลืมว่าเรากำลังดูหนังรักอันขื่นขมของหญิงสาวที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันเพื่อมาเริ่มต้นใหม่กับสามีที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเขาหักหลังเธอ
'เนลลี่' อดีตนักร้องคาบาเร่ต์ซึ่งรอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ศัลยกรรมใบหน้าที่เต็มไปด้วยบาดแผลให้กลับมาใกล้เคียงใบหน้าเดิมมากที่สุด เธอกลับมายังเยอรมันอีกครั้งเพื่อตามหาสามี จนเมื่อได้พบ 'จอห์นนี่' สามีซึ่งจำเธอเวลานี้ไม่ได้แถมยังยื่นข้อเสนอให้เธอปลอมตัวเป็นอดีตภรรยาที่เขาเชื่อว่าเสียชีวิตไปแล้วเพื่อไปรับมรดกมาแบ่งกัน
แม้ตัวหนังจะโฟกัสที่ความรักที่เนลลี่มีต่อจอห์นนี่อย่างมากล้น แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือการถ่ายทอดสภาวะสงครามโลกครั้งที่สองของชาวเยอรมันได้อย่างแยบยล โดยเฉพาะบทบาทของจอห์นนี่ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนความรู้สึกผิดของชาวเยอรมัน
ผมเชื่อว่ากาลครั้งหนึ่งเขาเคยรักภรรยาสุดหัวใจ เขาจดจำทุกรายละเอียดของคนรักได้ถึงขนาดทำให้เนลลี่เอ่ยปากอิจฉาความรักที่เขามีต่อเธอในอดีต เขาปกป้องภรรยาอย่างสุดความสามารถจนกระทั่งนาซีจับตัวเธอไป ตลอดช่วงระยะเวลาที่เขาจำเนลลี่ไม่ได้ เขาปฏิบัติต่อเธออย่างดีไม่มีวี่แววของความชั่วร้ายหรือความเจ้าชู้แต่อย่างใด ทำให้เราเชื่ออย่างนึงว่าต่อให้เขาทรยศเธอจริง ๆ ก็คงเป็นเพราะสภาพความลำบากในการเอาตัวรอดบีบบังคับให้เขาต้องทำ ไม่ใช่เพราะจิตใจโหดเหี้ยมหรือหวังผลประโยชน์อะไร ซึ่งมองมุมนี้แล้วเราจึงรู้สึกหดหู่กับสงครามที่สร้างความสูญเสียให้แก่คู่รักคู่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันทำให้เขาต้องแบกความรู้สึกผิดคิดถึงความโหดร้ายที่ภรรยาจะต้องเผชิญในค่ายกักกันเอาไว้ตลอดชีวิต
แต่สิ่งที่เขาจินตนาการถึงความโหดร้ายคงไม่เทียบเท่าประสบการณ์ที่ผู้รอดชีวิตต้องเผชิญ ฉากที่แสดงให้เห็นมุมมองที่แตกต่างได้อย่างชัดเจนที่สุดคงต้องพูดถึงฉากที่เขาเลือกชุดเดรสสีแดงและทรงผมในการปรากฎกายต่อหน้าเพื่อน ๆ ของเนลลี่เพื่อยืนยันว่าเธอรอดชีวิตกลับมาแล้ว เนลลี่สะเทือนใจกับวิธีคิดของเขาซึ่งยืนยันได้อย่างดีว่าผู้ที่ผ่านชีวิตอันเลวร้ายในค่ายกักกันล้วนไม่สามารถเยียวยาบาดแผลได้ในเร็ววัน
'ลีน' เพื่อนของเธอคือตัวอย่างที่ชัดเจนของชาวยิวที่ต้องการก้าวต่อไปไม่ใช่การยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ อย่างการกลับมาอยู่เยอรมันหรือฟังเพลงเยอรมัน (เธอยืนยันตลอดว่าต้องการไปเริ่มต้นใหม่ที่อิสราเอล) เธอรังเกียจผู้รอดชีวิตที่ให้อภัยชาวเยอรมัน ซึ่งบ่งบอกถึงความทรงจำที่เลวร้ายจนไม่อาจให้อภัยได้ และนั่นทำให้เธอมีเพียงเนลลี่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่จะก้าวต่อไปด้วยกัน แต่เนลลี่กลับยึดติดอยู่กับอดีต ศัลยกรรมแปลงโฉมให้เหมือนเดิม อยากกลับไปเริ่มต้นใหม่กับสามีคนเดิม และเมื่อลีนเริ่มตระหนักว่าเธอไม่มีทางได้ไปเริ่มต้นใหม่ที่อิสราเอลพร้อมกับเนลลี่อันเป็นความหวังสุดท้ายของเธอ เธอไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมที่ให้อภัยความชั่วร้ายดังกล่าว ทางออกสุดท้ายจึงหนีไม่พ้นการจบชีวิตตัวเอง
การจบชีวิตของลีนได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเนลลี่ สิ่งที่เธอพยายามเข้าข้างสามีมาโดยตลอดว่าเขาไม่ได้ทรยศเธอ ถึงขั้นคิดหาเหตุผลว่าเขาอาจกระทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่หลักฐานใบหย่าได้บ่งชี้ถึงเจตนาของเขาซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่อาจให้อภัยได้ (คนที่ไม่ใช่ยิวแต่งงานกับยิวต้องเลือกหย่า ถ้าไม่อย่างนั้นจะต้องไปค่ายกักกันเหมือนยิว) แม้เขาจะจมอยู่กับความรู้สึกผิดดังกล่าว แต่สิ่งที่เธอเผชิญมันเลวร้ายเกินกว่าจะให้อภัย ดังนั้นการจบชีวิตของลีนจึงไม่ได้หมายถึงการทิ้งหลักฐานที่จับต้องได้ หากยังคงหมายถึงการถ่ายทอดทัศนคติต่อต้านการให้อภัยคนที่หักหลังเธออีกด้วย
การรอดชีวิตราวกับปาฏิหาริย์จากค่ายกักกันนั้นไม่ใช่การเกิดใหม่ถ้าหากยังคงยึดติดกับอดีต การมีชีวิตอยู่โดยที่สามีไม่อาจจดจำเธอได้ก็หาใช่ความตายอย่างที่เธอเปรียบเปรยแต่อย่างใด สุดท้ายแล้วการเกิดใหม่เหมือนดั่งนกฟินิกซ์คงจะเป็นการก้าวต่อไปของเธอ และเพลงที่เธอเลือกร้องในตอนจบมันก็ช่างเหมาะเหม็งเสียยิ่งกระไร
8 | Mad Max: Fury Road
ความเห็นสั้น ๆ สำหรับคนขี้เกียจอ่านยาว ๆ คือ "เป็นหนังแอ็คชั่นที่มันแบบสร้างสรรค์มาก อยากดูหนังมัน ๆ ก็ซื้อตั๋วไปดู Mad Max ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว" ส่วนใครจะอ่านเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ผมเชียร์หนังเรื่องนี้ก็อ่านต่อได้เลยครับ
Mad Max ยังคงเอกลักษณ์เดิมจากสมัยที่เป็น pop culture ของต้นยุค 80s ตั้งแต่ โลกดิสโทเปีย (โลกล่มสลาย), มีรถแต่งเจ๋ง ๆ ไว้ไล่ล่ากลางทะเลทราย, การต่อสู้เต็มไปด้วยความรุนแรง, ผู้หญิงถูกกดขี่ข่มเหง ซึ่งการที่ผู้กำกับเติบโตมีประสบการณ์มากขึ้น จึงได้เห็นการเอาเสน่ห์เดิม ๆ มาประยุกต์ใหม่ เช่นความรุนแรงต่อเพศหญิงก็ถูกหลีกเลี่ยงให้เห็นภาพอ้อม ๆ, รถแต่งไล่ล่าที่กลายเป็นความนิยมของแฟรนไชส์ก็ถูกนำเสนอใหม่ด้วยไอเดียที่บ้าคลั่งกว่าเดิม, เล่าปมตัวละครหนักแน่นเหมือนเดิมแต่ไม่ชวนเบื่อ ผลลัพธ์ที่ได้จึงลงตัวมาก
ความแข็งแกร่งแรกของหนังเลยคือการสร้างโลก post-apocalyptic ได้สมจริงมาก โลกในหนังคือโลกของการแย่งชิงน้ำเพื่อประทังชีวิตและหาน้ำมันไว้ใช้เติมรถไปออกไล่ล่า ผู้คนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ใครตัวคนเดียวแบบ 'แม็ก' (Tom Hardy) ก็มีโอกาสถูกไล่จับเอาเลือดไปให้พวก war boys ที่คลั่ง ๆ ท่านผู้นำที่โฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพตัวเองราวกับเป็นพระเจ้า ส่วนผู้หญิงก็ถูกจับไปปั๊มลูกเสริมทายาทผู้นำ แล้วบรรยากาศทะเลทรายสุดลูกหูลูกตชนิดที่ไม่มีตึกรามบ้านช่องเหมือนสมัยไตรภาคเก่ายังช่วยเสริมให้ Mad Max เป็นโลกล่มสลายมากยิ่งขึ้นไปอีก
พูดถึง war boys แล้วเราสนใจทัศนคติของตัวละครเหล่านี้มาก หนังบอกเล่าสถานะของ war boys ผ่าน 'นักซ์' (Nicholas Hoult) เด็กหนุ่มที่มีความฝันจะรับใช้ผู้นำ อยากออกไปขับรถซิ่งไล่ล่าเป็นพวกบ้าสงคราม และยังเชื่อว่าการพลีชีพคือการกระทำอันสูงส่งที่จะทำให้ตัวเองได้รับการยอมรับทั้งจากโลกที่อาศัยและโลกหลังความตาย เราชอบที่หนังเรียกคนกลุ่มนี้ตรง ๆ ว่า war boys มันเสียดสีพวกบ้าสงครามในโลกนี้ได้ดีมาก ๆ ไม่ว่าจะเพราะถูกปลุกปั่นจากโฆษณาชวนเชื่อหรือถูกปลูกฝังมาผิด ๆ แต่เชื่อเถอะว่าลึก ๆ แล้วพวกเขาแค่รอเวลาออกไปเห็นโลกมากขึ้น ได้ไตร่ตรองด้วยตัวเองจากการร่วมรบทุกครั้ง ที่สุดแล้วสงครามจะทำให้เขาเติบโตและคิดได้เองว่า่อะไรคือสิ่งที่ควรทำ นั่นจึงทำให้ตัวละครของ 'นิโคลัส ฮอลท์' มีมิติความเปลี่ยนแปลงลุ่มลึกมากกว่าตัวละครของ 'ทอม ฮาร์ดี้' เสียอีก
บทของ 'ทอม ฮาร์ดี้' ถูกหยอดปมมาเพียงความรู้สึกผิดในอดีตได้กลายมาเป็นสิ่งหลอกหลอนเขาตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงของเขาก็คือการตัดสินใจช่วยเหลือ 'ฟูริโอซ่า' (Charlize Theron) พากลุ่มหญิงสาวหลบหนีจากการถูกตามล่า ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเขาจะไม่ยอมรู้สึกผิดแบบที่เคยทอดทิ้งผู้คนที่ผ่านมา
หนังเลือกจะตัดการขายฉากความรุนแรงต่อเพศหญิงโดยตรงออกไป ซึ่งบอกเลยว่า "คิดถูกแล้ว" หนังนำเสนออ้อม ๆ ว่าเหล่าสาวสวยในเรื่องล้วนถูกกดขี่ข่มเหงมีสถานะเป็นเพียงเครื่องปั๊มเด็ก การที่หนังไม่ใส่ฉากข่มขืน ไม่ใส่ฉากร่วมเพศแบบสมัยก่อนจึงเป็นสิ่งที่เรารู้สึกดีกับหนังมากขึ้น เพราะจะได้มีเวลาไปประเคนให้กับฉากแอ็คชั่นสุดเร้าใจ
มาถึงไฮไลท์เด็ด เราซื้อตั๋ว Mad Max ก็เพื่อไปดูแอ็คชั่นสุดบรรเจิดเลิศล้ำสร้างสรรค์ อันที่จริงมันเป็นสไตล์แอ็คชั่นแบบยุค 80s ที่ขายระเบิดตูมตามวินาศสันตะโรเป็นหลัก แต่หนังสามารถหาทางเอาสไตล์เชย ๆ แบบนั้นมาขายใหม่ได้ชวนตื่นตาเหลือเกิน โดยเฉพาะการออกแบบฉากแอ็คชั่นแต่ละฉาก ไม่ว่าจะเป็นการขี่มอเตอร์ไซค์ผาดโผนกระโดดจากซ้ายไปขวาพร้อมพุ่งหอกเข้าใส่เป้าหมายจากมุมสูง, ฉากบู๊มือเปล่าก็ใช้ประโยชน์จากโซ่ล่ามและพันธะต่าง ๆ ได้ดี
ชอบการออกแบบรถทั้งหลาย โดยเฉพาะลูกเล่นความแตกต่างของรถแต่ละคันเพื่อใช้ในแต่ละสถานการณ์(รวมทั้งลูกบ้าการดีไซน์รถแต่ละคันที่ดูเถื่อน ดูน่าเกรงขาม), ลูกบ้าการออกแบบอาวุธติดตัวต่าง ๆ ที่ดูอันตรายพร้อมใช้งานตามสถานการณ์ ในภาพรวมแล้วคงจะบอกได้เพียงว่างานเขาเลิศจริง ๆ
การกำกับภาพนี่ไม่พูดถึงไม่ได้จริง ๆ เลิศมากกกกกกกก ภาพสวยมากกกกกก ในบรรดาหนังที่เซ๊ทฉากเป็นทะเลทรายสุดลูกหูลูกตาช่วง 2-3 ปีมานี้แบบ Oblivion ที่ผมว่างามแล้ว เรื่องนี้งามกว่าทั้งกลางวันทั้งกลางคืน เปิดดูเครดิตละ ผลงานกำกับภาพโดย 'John Seale' เคยชนะออสการ์ครั้งเดียวจากการกำกับภาพ The English Patient (1996) ซึ่งก็เป็นทิวทัศน์ทะเลทราย
9 | Love & Mercy
ตอนเด็ก ๆ เคยดูละครไทยประเภทแม่พระเอกโดนหลอกให้กินยากล่อมประสาททุกวันจนเป็นบ้า หรือแบบไทรโศกที่กิ๊ก สุวัจนีเล่นร้าย ๆ น่ะแหละ เราก็คิดมาตลอดนะว่ามันน้ำเน่ามากกกกกกก ไม่คิดว่าเหตุการณ์แบบนี้มันจะเกิดขึ้นจริงกับ 'ไบรอัน วิลสัน' นักร้องนักแต่งเพลงวง The Beach Boys
เชื่อว่าคนที่รู้จักวง The Beach Boys ก็คงไม่พลาดหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะมันคือชีวประวัติของนักแต่งเพลงของวงที่โคตรดังโคตรเจ๋ง แต่สำหรับหลายคนที่ไม่รู้จักวงนี้แบบผมแล้วกลัวว่าจะดูไม่อินหรือไม่น่าสนใจจะดู แอดมินขอยืนยันเลยว่าต่อให้ไม่รู้จัก The Beach Boys ก็ดูแล้วชอบหนังได้ไม่ยากครับ
หนังเล่าถึงชีวิตของ 'ไบรอัน วิลสัน' ในสองช่วงวัย คือช่วงยุคทองของไบรอัน วิลสัน แสดงโดย Paul Dano ซึ่งแต่งเพลงและทำอัลบั้มจนวงโด่งดัง และช่วงป่วยทางจิตแสดงโดย John Cusack
เราชอบที่หนังไม่ได้หยิบประวัติของไบรอัน วิลสันมาเล่าในแบบ rise and fall (จากรุ่งเรืองจนร่วงหล่น) ทั้งที่ชีวิตของเขามันก็เอื้อให้เล่าในรูปแบบนี้ แต่หนังบิดมุมเล็กน้อยคือข้ามมาเล่าช่วงพีคของวง ซึ่งเป็นช่วงที่ไบรอันเริ่มได้ยินเสียงหลอนในหัวตัวเอง โดยสลับกับการบำบัดอาการทางจิตของเขา ซึ่งผ่านพ้นช่วง fall มาไกลมากแล้ว
ในฐานะคนที่ไม่ได้รู้จักไบรอัน วิลสัน เราค่อนข้างชอบการที่ผู้กำกับทำให้คนดูเห็นภาพพรสวรรค์ในการประพันธ์ดนตรีของเขาตลอดจนความทุ่มเทใส่ใจรายละเอียด ช่วงการทำอัลบั้ม Pet Sounds จึงเป็นจุดที่หนังพาคนดูไปใกล้กับ Amadeus หนังชีวประวัติยกย่องโมสาร์ทมากที่สุด
ส่วนที่ชอบที่สุดในหนังคือช่วงพอล ดาโน่เริ่มยอมรับว่าตัวเองสติแตก ตัดสลับช่วงที่จอห์น คูแซ็คเริ่มอาการดีขึ้น โดยที่ตลอดทั้งเรื่องยังแทรกเพลงดัง ๆ ของวง The Beach Boys ที่มีเนื้อหาสอดรับกับเรื่องราวในฉากนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี (แอดมินก็ฟังเพลงภาษาอังกฤษไม่ออกหรอก แต่ยังดีว่าเขามีซับไทยให้ ไม่เหมือนกับ Pitch Perfect ที่ไม่มีแม้กระทั่งเนื้อเพลงภาษาอังกฤษ)
แอบเสียดายตัวละคร 'เมลินดา' (Elizabeth Banks) ในบทภรรยาคนล่าสุด/คนปัจจุบันของไบรอัน วิลสันเล็กน้อยอยู่เหมือนกัน ถ้าเล่นมุม dark side สักนิดนี่สามารถขยี้ปมว่าเข้ามาช่วยเหลือไบรอันด้วยความรักและเมตตาหรือว่าหวังรวยทางลัดได้สบาย ๆ เพราะในหนังก็มีบางจุดที่ชวนเราคิดไปถึงขั้นนั้น อย่างไรก็ตามสถานะของเธอที่เข้าไปช่วยเหลือและเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าไบรอันไม่ได้อาการป่วยแต่อย่างใดก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับหนังที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ไบรอัน วิลสัน
ซึ่งก็ต้องขอชมเชยทั้งจอห์น คูแซ็คและพอล ดาโน่ที่มอบการแสดงที่น่าจดจำในสองช่วงวัย ดูจบแล้วก็ขอไปเริ่มต้นฟังวง The Beach Boys เลยละกัน
10 | Top Five
ถึงแม้ผมจะไม่รู้จัก 'คริส ร็อค' ไม่ว่าจะในฐานะนักแสดงตลกผิวดำ, มือเขียนบทหรือผู้กำกับ แต่พอได้ดู Top Five แล้วต้องขอเชิดชูเขาในฐานะคนเขียนบท และบอกเลยว่าถ้าไม่นับมุกตลกเหยียดหยาบทั้งหลายแล้วล่ะก็มันคือหนังที่มีดีไม่แพ้ Birdman เลยล่ะ
หนังเล่าเรื่องของ 'อันเดร อัลเลน' (Chris Rock) ซึ่งเป็นนักแสดงตลกที่โด่งดังมาก ๆ จากตัวละครแฮมมี่ทั้งสามภาค แต่เขาไม่อยากแสดงตลกอีกแล้ว เขาไปทำหนังดราม่าพูดถึงทาสในเฮติท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนรอบข้างที่สนใจแต่อยากจะให้เขากลับมาแสดงตลกอีกครั้ง ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดในหนังบอกเล่าผ่านการสัมภาษณ์ตามติดโดย 'เชลซี บราวน์' (Rosario Dawson) ในเวลาหนึ่งวันก่อนที่เขาจะต้องแต่งงานกับ 'เอริก้า' (Gabrielle Union) ดารารายการเรียลลิตี้ชื่อดัง ซึ่งกำหนดให้เขาต้องแต่งงานกับเธอออกอากาศไปทั่วประเทศ
ในหนังเรื่อง Birdman เจ้าของรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องล่าสุดนั้น มันพูดถึงชีวิตอดีตดาราหนัง blockbuster ชื่อดังตกกระป๋องที่อยากหวนกลับมามีชื่อเสียงด้วยการพิสูจน์ว่าตัวเองมีความสามารถที่จะกำกับ/เขียนบท/และแสดงละครเวทีของตัวเอง
ส่วนใน Top Five ก็ไม่ต่างกัน มันคือหนังที่พูดถึงนักแสดงตลกชื่อดังที่มีเหตุผลของตัวเองในการจะไปเป็นนักแสดงดราม่า เขาไปทำหนังทาสก่อปฏิวัติเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง เช่นเดียวกับในชีวิตจริงของ 'คริส ร็อค' ที่เหมือนใช้หนังเรื่องนี้พิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่แค่นักแสดงตลก แต่เขายังสามารถทำอะไรดี ๆ จนเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ได้เหมือนกัน (หนังได้คะแนนเฉลี่ยจากนักวิจารณ์ metacritic 81/100)
และที่ตลกเหมือนนัดกันมากับ Birdman คือมันต่างสอดไส้การพูดถึงสถานะของนักวิจารณ์ที่สับเละผลงานของพวกเขา (blockbuster/comedy rate R) ซึ่งใน Top Five มันถูกสอดแทรกมาในฐานะนักวิจารณ์ที่เอาแต่ด่าหนังของเขาอย่างรุนแรง แถมยังมีจังหวะที่เซอไพรส์อย่างแรงจนเราคิดไกลไปถึงตลกร้ายของนักวิจารณ์ที่มีต่อหนังเรื่องนี้ด้วย
ที่น่าตลกคือทั้งใน Birdman และ Top Five ต่างพูดถึงคนที่ถูกความสำเร็จของตัวเองในอดีตกดทับ ผ่านเสียงตะโกนเรียกชื่อเขาตามท้องถนนด้วยผลงานที่เคยโด่งดัง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเขากำลังต้องการลบล้างบทบาทเหล่านั้นเพื่อทำสิ่งที่แตกต่างจากเดิม
อันที่จริงทั้ง Birdman และ Top Five ก็มีตัวอย่างในฮอลลีวูดที่ประสบความสำเร็จทั้งหมดแล้วนะ ไม่ว่าจะเป็น 'เบ็น แอฟเฟล็ก' นักแสดงที่คนยี้ฝีมือได้กลายเป็นสุดยอดผู้กำกับ หรือนักแสดงที่เริ่มต้นจากการแสดงตลกหลายคนก็ผันมาเล่นดราม่าจนได้รางวัล เช่น 'ทอม แฮงส์'
ชอบแรงจูงใจในการอยากเลิกเป็นตลกของ 'อันเดร อัลเลน' มากทีเดียว ในหนังมันพูดถึงคนที่ดังแล้วมีปัญหาติดเหล้าจนเริ่มดรอปลงมา ซึ่งปัญหาติดเหล้ามันเกิดจากการที่เขาต้องรับบทตลกนั่นแหละ เขาต้องเมาเหล้าเมายาเพื่อจะได้แสดงตลกได้ ในขณะที่สังคมอยากให้เขาเลิกเหล้า แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันมีผลกระทบต่อผลงานจนทำให้เขากลัวที่จะแสดงตลกโดยที่ไม่ได้ดื่ม
ชอบการเขียนบทพล็อตรองให้เป็นเรื่องของ 'ซินเดอเรลล่า' ฉบับดัดแปลงให้เป็นรอมคอมทันสมัย กล่าวถึงนางซินผู้ที่อยากเจอเจ้าชายอีกครั้งจึงจงใจทิ้งรองเท้าแก้วอ่อยให้เจ้าชายออกตามหา
ทั้งหมดทั้งปวงนี้มันมาในรูปแบบหนังตลกที่ค่อนข้าง เหยียดและหยาบ ลำพังมันไม่ใช่หนังที่เหยียดผิวหรอกแต่ค่อนข้างเหยียดเพศเกย์อยู่พอสมควร และมุกบางอย่างก็อาจจะสัปดนสักนิด ซึ่งถ้าใครไม่ตลกมุกพวกนี้แบบผมก็ไม่อยากให้ใช้จุดนี้ตัดสินหนังครับ
หนังมี 'อดัม แซนด์เลอร์' มายิงมุกที่บอกเลยว่าขำยิ่งกว่าดูหนังของอดัม แซนด์เลอร์ทั้งหลายอีก ฮ่าๆๆๆ
ป.ล. ตอนดูก็แอบคิดว่าหนังมีสไตล์เหมือน 'วูดดี้ อัลเลน' มาก ทั้งการที่ตัวละครวิพากษ์อะไรต่าง ๆ รอบตัวเหมือนเอาความคิดผู้กำกับใส่ไปในหนัง พอไปอ่านเบื้องหลังเลยรู้ว่า 'คริส ร็อค' มีอัลเลนเป็นไอดอลนี่เอง