รวมพฤติกรรมของผู้เลี้ยงที่ทำให้น้องหมา "เสียหมา"
เคยมีผู้ที่อยากเลี้ยงน้องหมาหลายรายเข้ามาถามถึงวิธีการเลือกน้องหมามาเลี้ยงว่า เวลาจะเลือกรับน้องหมามาเลี้ยงซักตัว จะมีวิธีดูอุปนิสัยของเขายังไง จะรู้ได้ยังไงว่าเขานิสัยดีรึเปล่า?
เป็นคำถามที่ตอบยากมากๆ เลยทีเดียวล่ะค่ะ จะว่าไปก็เหมือนคนเราเพิ่งเจอหน้ากัน แน่นอนว่าเราอาจจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนคนนั้นจะมีนิสัยเป็นยังไง ในน้องหมาก็เช่นเดียวกันค่ะ เราอาจจะไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดในครั้งแรกที่เราเห็นน้องหมาว่าน้องหมาตัวนั้นจะมีลักษณะนิสัยยังไง สอนยากหรือไม่ อาจจะทำได้ดีที่สุดโดยการสืบประวัติน้องหมาว่าพ่อแม่ของเขามีนิสัยเป็นยังไง เพื่อใช้ประเมินพฤติกรรมของน้องหมา แต่นั่นก็ไม่สามารถบอกได้ 100% หรอกค่ะว่า น้องหมาตัวนั้นจะมีนิสัยดีหรือไม่ เพราะนอกเหนือจากเรื่องของพันธุกรรมของน้องหมาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่ออุปนิสัยของน้องหมา เช่น สิ่งแวดล้อม , สุขภาพ หรือ การเลี้ยงดู
ปัจจัยสุดท้ายดูเหมือนจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่ออุปนิสัยของน้องหมามากที่สุด เพราะวิธีการเลี้ยงดูของผู้เลี้ยงย่อมส่งผลโดยตรงทั้งต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของน้องหมา เราเลี้ยงน้องหมาด้วยวิธีแบบไหน เขาก็จะมีนิสัยแบบนั้น น้องหมาในคอกเดียวกัน ถูกนำไปแยกกันเลี้ยง พฤติกรรมและอุปนิสัยต่างๆ ก็อาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้เลี้ยงและวิธีการเลี้ยงน้องหมาว่าผู้เลี้ยงปฏิบัติต่อเขาอย่างไร และเลี้ยงเขาด้วยความเข้าใจจริงๆ หรือเลี้ยงโดยเอาความรู้สึกของมนุษย์ตัดสิน
หลายครั้งพบว่า น้องหมาที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมมีที่มาของปัญหามาจากการเลี้ยงดูที่ผิดวิธี โดยที่ผู้เลี้ยงเองก็ไม่รู้ว่าการเลี้ยงน้องหมาแบบที่เป็นอยู่นั้นส่งผลให้น้องหมามีปัญหาในด้านพฤติกรรม และเมื่อไม่รู้ที่มาของปัญหาแล้วก็ทำให้ไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหานั้นได้ ทำให้ในระยะยาวไม่เป็นผลดีต่อทั้งตัวผู้เลี้ยงเองและตัวน้องหมาด้วย
และเพื่อสะท้อนให้เพื่อนๆ ชาว Dogilike ได้เห็นภาพของปัญหาพฤติกรรมน้องหมาที่เกิดจากผู้เลี้ยงได้ชัดขึ้น วันนี้มะเหมี่ยวก็ได้รวบรวมเอา พฤติกรรมการเลี้ยงน้องหมาผิดวิธี ที่ส่งผลให้น้องหมามีปัญหาด้านพฤติกรรม ที่พบมากในรอบปีที่ผ่านมานี้มาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ
ส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมนี้มักพบมาในผู้เลี้ยงที่เลี้ยงน้องหมาพันธุ์เล็ก โดยธรรมชาติของน้องหมาพันธุ์เล็ก พวกเขามักจะมีนิสัยขี้อ้อนและติดเจ้าของเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางครั้งน้องหมาบางตัวชอบร้องคราง หรือเห่าเสียงดังเวลาถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียว หรือเมื่อเวลาที่ต้องการของบางสิ่งบางอย่าง (เช่น ขนม ของกิน ของเล่น) ซึ่งผู้เลี้ยงสุนัขหลายคนรู้สึกว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่น่ารักน่าเอ็นดู เวลาน้องหมามีพฤติกรรมแบบนี้ก็มักจะอุ้มน้องหมาขึ้นมากอดขึ้นมาโอ๋เพื่อให้น้องหมาหยุดร้อง หยุดเห่า
หรือเวลาที่ผู้เลี้ยงพาน้องหมาออกไปนอกบ้าน น้องหมาอาจจะไปเห่าหรือขู่น้องหมาแปลกหน้า ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ก็กลัวว่าน้องหมาจะถูกกัดก็มักจะอุ้มน้องหมาขึ้นมากอดไว้ ซึ่งนั่นถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการที่อุ้มน้องหมาขึ้นมาในขณะที่เขายังเห่า ขู่ น้องหมาตัวอื่นอยู่นั้นจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้น้องหมามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะตามจิตวิทยาแล้ว การที่น้องหมาตัวหนึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าน้องหมาอีกตัวหนึ่ง จะทำให้น้องหมาตัวที่อยู่สูงกว่าเข้าใจว่าเขายิ่งใหญ่หรือมีตำแหน่งที่สูงกว่าน้องหมาตัวที่อยู่ต่ำกว่า
นอกจากนี้ การอุ้ม การปลอบ น้องหมาเหมือนเป็นการสนับสนุนชื่นชมการกระทำของเขา ณ ขณะนั้นว่าเป็นสิ่งถูกต้อง และเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ผลเสียที่จะตามมาก็คือ เวลาออกไปนอกบ้านน้องหมาอาจจะไปแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวใส่น้องหมาแปลกหน้า และอาจจะถูกทำร้ายได้
ดังนั้นถ้าผู้เลี้ยงคนไหนรู้ตัวว่าชอบอุ้ม ชอบโอ๋ น้องหมาเวลาที่เขาเห่าหรือร้องครางเสียงดังเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ควรเลิกพฤติกรรมนี้ทันทีเลยนะคะ เพราะอย่างที่บอกค่ะว่าการอุ้ม การโอ๋ น้องหมาจะเป็นการส่งเสริมให้น้องหมามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมรุนแรงมากขึ้น
ทางที่ดีที่สุดคือ เมื่อน้องหมาแสดงพฤติกรรมเห่า หรือร้องคราง ให้ผู้เลี้ยงแสดงอาการนิ่งเฉย ไม่สนใจ แต่ถ้าน้องหมายังไม่หยุดพฤติกรรมดังกล่าวผู้เลี้ยงอาจจะต้องลงโทษด้วยการออกคำสั่ง เช่น "หยุด!" หรือ "เงียบ!" โดยใช้น้ำเสียงที่เด็ดขาด ถ้ามัวแต่มา "โอ๋ๆ หยุดนะลูก เห่าทำไมคะ" มะเหมี่ยวเอาหัวเป็นประกันเลยค่ะว่า นอกจากจะแก้ปัญหานิสัยเสียของน้องหมาไม่ได้แล้ว ยังจะยิ่งกระตุ้นให้น้องหมานิสัยเสียมากยิ่งขึ้นอีกด้วยล่ะค่ะ จำไว้นะคะว่า อย่าใจอ่อนเด็ดขาด
2. ผู้เลี้ยงกินอะไรน้องหมากินด้วย
ชอบประสาคนรักน้องหมาเวลาผู้เลี้ยงกินอะไร แล้วน้องหมามานั่งจ้องตาแป๋ว หรือร้องครางหงิงๆ ผู้เลี้ยงก็มักจะอดใจอ่อนไม่ได้ต้องยอมแบ่งอาหารที่กำลังกินอยู่ให้น้องหมา มองดูเผินๆ แล้วพฤติกรรมการเลี้ยงน้องหมาแบบนี้ก็ไม่ได้ดูเลวร้ายอะไร เพราะก็เป็นเหมือนการแสดงความรักที่ผู้เลี้ยงมีให้กับน้องหมา แต่จริงๆ แล้วพฤติกรรมการแบ่งอาหารให้น้องหมา ขณะที่ผู้เลี้ยงกำลังกินอาหารอยู่นั้น จะเป็นการสร้างนิสัยและความเข้าใจที่ผิดให้น้องหมาค่ะ
การแบ่งอาหารให้น้องหมา ในขณะที่ผู้เลี้ยงกินอาหารอยู่ ในทางจิตวิทยาพฤติกรรมนี้จะส่งเสริมให้น้องหมาเข้าใจว่า ตัวเองมีอำนาจอยู่ในระดับเดียวกับผู้เลี้ยง เพราะสามารถแสดงพฤติกรรมที่ทำให้ผู้เลี้ยงยอมแบ่งอาหารให้แก่ตัวเองได้
ทั้งนี้ โดยธรรมชาติการอยู่รวมกันเป็นฝูงของน้องหมา น้องหมาตัวที่เป็นจ่าฝูงจะได้กินอาหารก่อนตัวอื่นๆ ถ้าหากผู้เลี้ยงเข้าใจกฏในฝูงข้อนี้แล้ว เจ้าของก็สามารถนำมาปรับใช้กับน้องหมาของตัวเองได้โดยการที่ก่อนจะให้อาหารน้องหมา ผู้เลี้ยงและสมาชิกในครอบครัวจะต้องกินอาหารให้เรียบร้อยก่อน หรืออย่างน้อย ก็ควรจะกินของว่าง หรือขนม ให้สุนัขเห็นก่อนว่า จ่าฝูงกินแล้ว ต่อไปลูกฝูงถึงจะได้กิน
และอีกสิ่งที่ต้องทำห้ามละเลยเด็ดขาดก็คือ ระหว่างที่จ่าฝูง(ผู้เลี้ยง)กินอาหาร ไม่ควรส่งอาหารบนโต๊ะให้น้องหมาเป็นอันขาด ผู้เลี้ยงจะต้องใจแข็ง และไม่ยอมใจอ่อนตามสายตาเว้าวอนของน้องหมานะคะ โดยเหตุผลที่ต้องห้ามยื่นอาหารบนโต๊ะให้น้องก็เพราะว่า การที่ผู้เลี้ยงยื่นอาหารของตนให้น้องหมาก็เหมือนกับว่า น้องหมามีอำนาจมากกว่าผู้เลี้ยง สามารถบังคับให้ผู้เลี้ยงแบ่งอาหารให้ตนเองได้ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้น้องหมามีอำนาจอยู่เหนือเราล่ะก็ ห้ามแบ่งอาหารในขณะที่เรากำลังกินอยู่ให้น้องหมาเด็ดขาดเลยค่ะ!!!
3. ปล่อยให้น้องหมานั่ง - นอน เสมอผู้เลี้ยง
บ่อยครั้งที่เรามักพบว่าเหล่าคนเลี้ยงคนรักน้องหมา เลี้ยงน้องหมาประหนึ่งลูกสาว - ลูกชาย ประคบประหงมเลี้ยงดูอย่างดีถึงขึ้นที่ให้นอนร่วมเตียงเดียวกัน ในมุมของคนรักน้องหมาก็ดูเป็นภาพที่อบอุ่นดีอยู่หรอกนะคะ แต่ถ้าหากมองถึงในเรื่องพฤติกรรมของน้องหมา เราจะต้องไม่ลืมว่าโดยสัญชาตญาณแล้ว สุนัขเป็นสัตว์ที่มักจะแสดงความเป็นเจ้าของในบริเวณอาณาเขตของตัวเอง การที่ผู้เลี้ยงปล่อยให้น้องหมากระโดดขึ้นไปนอนเล่นบนเตียงได้ตามใจชอบ หรือปล่อยให้น้องหมานั่งอยู่ในพื้นที่ที่เสมอกับผู้เลี้ยง นั่นแสดงว่า น้องหมากำลังมีพฤติกรรมแสดงตัวอยู่เหนือเจ้าของ
ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้ในระยะยาว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ น้องหมาจะไม่เคารพในอำนาจความเป็นจ่าฝูงของผู้เลี้ยง ทำให้ผู้เลี้ยงไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของน้องหมาได้ ไม่เพียงแค่น้องหมาอาจจะยึดเตียงหรือโซฟาของผู้เลี้ยงเป็นอาณาเขตของตัวเอง และข่มขู่เมื่อมีผู้เข้ามาในบริเวณนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้เลี้ยงไม่ควรให้น้องหมามีอิสระในการเลือกพื้นที่อยู่มากจนเกินไป เจ้าของควรเป็นผู้กำหนดว่า พื้นที่บริเวณไหนที่น้องหมาสามารถเข้าไปได้ และพื้นที่บริเวณไหนที่น้องหมาห้ามเข้าไปยุ่ง
อย่างเช่น ถ้าหากผู้เลี้ยงจะให้น้องหมานอนร่วมกันในห้อง พื้นที่ที่เหมาะสมในการนอนของน้องหมา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ควรเป็นเตียงของเจ้าของ แต่ควรเป็นเบาะนอน หรือคอกที่ตั้งอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของห้องนอน และผู้เลี้ยงควรฝึกไม่ให้น้องหมาเข้ามาใกล้บริเวณเตียงนอน การกำหนดพื้นที่อย่างชัดเจนจะทำให้น้องหมาเรียนรู้ถึงระดับอำนาจที่แตกต่างกันในฝูง น้องหมาจะเรียนรู้ว่า เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณเดียวกับผู้เลี้ยงได้ แต่ไม่สามารถแสดงอำนาจเหนือ หรือเท่าเทียมกับเจ้าของได้
4. แก้ไขปัญหาพฤติกรรมน้องหมา ด้วยการขัง หรือล่าม
มีผู้เลี้ยงสุนัขหลายคนมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการจับน้องหมาขังกรงหรือล่ามเอาไว้ตลอดเวลาว่าจะช่วยแก้ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ที่น้องหมาก่อขึ้นได้ การใช้วิธีนี้แก้ปัญหาพฤติกรรมน้องหมาเป็นเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ใช้การแก้ปัญหาที่ดีนัก เพราะจริงๆ แล้วจุดประสงค์ของการให้น้องอยู่ในกรง หรือการล่ามน้องหมานั้น ทำเพื่อจำกัดขอบเขตที่อยู่อาศัยของน้องหมา ให้น้องหมาเรียนรู้ว่าพื้นที่ที่เป็นของเขาคือบริเวณใด โดยการใช้วิธีให้น้องหมาเข้ากรงหรือล่ามนั้นจะไม่ได้ทำตลอดเวลา แต่จะทำเมื่อถึงเวลาอันสมควรหรือมีเหตุจำเป็น เช่น น้องหมาเข้านอน , เจ้าของไม่อยู่บ้าน , มีคนแปลกหน้ามาเป็นแขกที่บ้าน ซึ่งถ้าหากผู้เลี้ยงเข้าใจจุดประสงค์ในส่วนนี้การจำกัดบริเวณโดยให้น้องหมาอยู่ในกรง หรือล่ามไว้ จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในด้านพฤติกรรม
แต่ถ้าหากผู้เลี้ยงไม่เข้าใจ ขังน้องหมาให้อยู่ในกรงหรือล่ามเขาเอาไว้ตลอดทั้งวัน แน่นอนค่ะว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ น้องหมามีเกิดสภาวะเครียด เนื่องจากถูกกังขังตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการปลดปล่อยพลังงานได้ ซึ่งเมื่อมีสภาวะเครียดนานๆ ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวต่างๆ เช่น เห่าหอนตลอดเวลา , กัดแทะของที่อยู่ใกล้ตัว , แสดงอาการเกรี้ยวกราดดุร้ายทันทีเมื่อได้รับการปลดปล่อย และต่อต้านการอยู่ในกรงหรือถูกล่าม
ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงควรทำความเข้าใจถึงการจำกัดพื้นที่น้องหมาด้วยการใช้กรงหรือล่ามว่าทำเพื่ออะไร และควรมีวิธีฝึกน้องหมาให้อยู่ในกรงหรือเดินมาหาโซ่ล่ามอย่างถูกวิธี เพื่อที่จะให้น้องหมารู้สึกคุ้นเคยและไม่หวาดกลัวการถูกจำกัดบริเวณ จำไว้นะคะว่า การให้น้องหมาเข้ากรง หรือ ล่ามโซ่ ไม่ควรใช้กับการทำโทษน้องหมา แต่ใช้เพื่อฝึกให้น้องหมามีระเบียบวินัยและรู้จักพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น
และนี่คือ 4 พฤติกรรมผิดๆ ของผู้เลี้ยงน้องหมาที่พบมากที่สุดในปีนี้ค่ะ บางครั้งคนเลี้ยงน้องหมาอย่างเราก็อาจจะไม่รู้ตัวว่าปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ ของน้องหมานั้น แท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากการเลี้ยงแบบผิดๆ ของตัวเราเอง ดังนั้น เมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว มะเหมี่ยวก็อยากให้เพื่อนๆ ชาว Dogilike ทุกคน ลองกลับไปย้อนดูวิธีการเลี้ยงของน้องหมาของตัวเองกันด้วยนะคะว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้นเป็นการส่งเสริมให้น้องหมามีนิสัยไม่ดีหรือไม่ และถ้าพบว่ามีก็ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลี้ยงให้ถูกต้องในทันที จะถ้ายิ่งปล่อยไว้นานเท่านั้น น้องหมาก็จะยิ่ง "เสียหมา" มากเท่านั้นนะคะ
บทความโดย : Dogilike.com
ภาพประกอบ :
http://pets.webmd.com/ss/slideshow-pet-treats-dos-and-donts
http://www.arizonafoothillsmagazine.com/valleygirlblog/events-and-festivals/beauty-to-the-rescue-pamper-yourself-and-your-pooch/
http://www.ehow.com/info_8487707_tips-bad-dog-eating-habits.html
http://favim.com/image/345853/