ความมหัศจรรย์ของพืชในการดูดซับมลพิษ
ความมหัศจรรย์ของพืชในการดูดซับมลพิษ
รู้หรือไม่ว่า มีพืชบางชนิดที่สามารถดูดซับมลพิษในอากาศ และดิน รวมถึงสารนิโคตินจากบุหรี่ได้
หลายคนอาจจะเกิดคำถามในใจ ว่า “เอ๊ะ พืชอะไรที่สามารถดูดซับมลพิษได้” ผู้เขียนขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่ได้ศึกษาและเผยแพร่การใช้พืชในการดูดซับมลพิษเพื่อความเข้าใจ เช่น การใช้มอสในการวัดมลพิษทางอากาศ นักชีววิทยา มหาวิทยาลัยไฟร์บูร์กในเยอรมนี กล่าวว่า เพราะมอสเป็นพืชที่ไม่มีราก และยังมีผิวสัมผัสกับอากาศมาก จากลักษณะทางกายภาพของมอสนี้ทำให้ นักวิจัยสันนิษฐานว่า มอสน่าจะสามารถดักจับสารในอากาศได้ จึงเริ่มต้นศึกษาเรื่องการใช้มอสเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ โดยนำมอสมาเพาะพันธุ์ในห้องทดลองที่มีการควบคุมภาพแวดล้อม หลังจากนั้นนำไปใส่ถุงที่อากาศสามารถซึมผ่านได้ดี และนำไปวางไว้ตามสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นนำมาอบแห้งและบดเป็นผง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารในมอส ซึ่งพบว่ามอสสามารถดักจับมลพิษได้
นอกจากนี้ มอสยังสามารถดูดความชื้นได้ดี ดังนั้น ถ้าเราไปเที่ยวในต่างประเทศจะเห็นว่านิยมปลูกมอสตามกำแพง ผนังบ้าน หรือหลังคา เพื่อลดอุณหภูมิของอากาศ และบรรเทาปัญหามลพิษ
นอกจากมอสแล้ว ยังมีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาชนิดของพืชที่สามารถช่วยลดมลพิษได้ เช่น ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา นักวิจัยจากประเทศเยอรมันได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับ การศึกษาชนิดของพืชที่สามารถดูดซับนิโคตินจากบุหรี่ โดยพืชที่ศึกษาคือ ต้นเปปเปอร์มินต์ ซึ่งวิธีการทดลองคือ นำต้นเปปเปอร์มินต์มาวางใกล้ ๆ กับบุหรี่ที่ถูกจุดทั้งหมด 11 มวน เป็นเวลา 2 ชั่วโมง จากนั้น เก็บใบเปปเปอร์มินต์แล้วนำไปวิเคราะห์หาปริมาณสารนิโคติน
ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า มีปริมาณสารนิโคตินจากใบของเปปเปอร์มินต์ในปริมาณที่สูงมาก นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังค้นพบว่า “ไม่ใช่เฉพาะใบของต้นเปปเปอร์มินต์ที่สามารถดูดซับนิโคติน รากของมันยังสามารถดูดซับนิโคตินได้จากดินอีกด้วย”
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ขององค์กรนาซ่ายังเผยว่า พืชที่เราปลูกตามบ้านสามารถกรอง ฟอร์มานดีไฮด์ (formaldehyde) เบนซิน (benzene) และมลพิษอื่น ๆ ทางอากาศได้อีกด้วย
ด้วยประโยชน์ที่มากมายเช่นนี้ ณ ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่เรียกว่า phytoremediation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พืชในการดักจับมลพิษ เพื่อช่วยลดอันตรายของสารมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ซึ่งสารพิษที่พืชสามารถดูดซับได้นั้นมีหลายชนิดตั้งแต่ โลหะ ยาฆ่าแมลง น้ำมัน และ ระเบิด เรียกได้ว่าพืชนั้นมีประโยชน์มหาศาล รวมถึงมีข้อดีคือ ค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับวิธีการกำจัดมลพิษแบบอื่น
ถึงตอนนี้หลายคนคงร้อง “อ๋อ….” ในใจว่าเพราะแบบนี้นี่เองที่ทำให้มีการรณรงค์การปลูกต้นไม้สีเขียวในเมืองใหญ่ ๆ เพราะนอกจากเราต้องการอากาศที่บริสุทธิ์แล้ว เรายังต้องการลดปริมาณมลพิษจากประโยชน์ของพืชเหล่านี้อีกด้วย ไม่แน่ในอนาคต เมื่อเราซื้อบ้านหรือสวน ผู้ขายอาจจะมีแคตตาล็อกต้นไม้ให้เราได้เลือกสรรว่า จะปลูกต้นอะไรไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อช่วยลดมลพิษรวมถึงได้ความสวยงามไปพร้อม ๆ กัน หรือในการออกแบบสถานที่สำหรับสูบบุหรี่ อาจจะมีการปลูกต้นเปปเปอร์มินต์รอบ ๆ เพื่อช่วยในการดูดซับบุหรี่ก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับความใส่ใจในสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมรวมถึงมีความรู้ในเรื่องของชนิดต้นไม้ที่ช่วยลดมลพิษนั้น ๆ อีกด้วย
ผู้เขียน: อันดา
ผู้ช่วยวิจัย/นิสิตปริญญาเอก
สาขา Polymer Science
The Petroleum and Petrochemical College
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา:
1.http://www.greenworld.or.th/greenworld/foreign/2212
2.https://student.societyforscience.org/article/news-brief-smokin’-plants
3.E. E. Etim, Int. J. Environ. Bioener. 2012, 2(3): 120-136.
รูปภาพจาก:
1.http://www.web.greenworld.or.th/greenworld/foreign/2212
2.http://www.greenworld.or.th/greenworld/foreign/2212