“Po-WiFi” เทคโนโลยีของ “Wi-Fi” รุ่นถัดไปที่สามารถใช้งานทั้งโอนถ่ายข้อมูลและชาร์จไฟไปพร้อมกัน
ในการใช้งานการโอนถ่ายข้อมูลผ่านเครือข่าย “Wi-Fi” ในปัจุบันนั้น จะใช้เทคนิคในการโอนถ่ายข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุ(ตามมาตรฐานที่กำหนดโดย Institute of Electrical and Electronics Engineers หรือ IEEE) ซึ่งมีข้อมูลระบุไว้ครับว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้นจะทำผ่านเครือข่าย “Wi-Fi” ที่กระจายสัญญาณมากจากเราเตอร์อีกทีมากถึง 73% ทั่วโลกเลยทีเดียว สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นข้อจำกัดก็คือมาตรฐานของ “Wi-Fi” ในปัจจุบันก็คือเรื่องของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย “Wi-Fi” นั้นยังคงต้องใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานอื่นๆ ครับ(หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือต้องต่อสายสำหรับการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยนั่นเองครับ)
ทางทีมนักวิจัยของ University of Washington ได้เห็นช่องว่างของเทคโนโลยีดังกล่าวจึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาระบบใหม่ที่ถูกให้ชื่อว่า Power Over WI-Fi (Po-WiFi) ซึ่งระบบนี้นั้นจะสามารถทำการให้พลังงานไฟฟ้าแก่อุปกรณ์ในเครือข่าย Wi-Fi(หรือที่เราเรียกว่า WLAN) ผ่านทางเราเตอร์ได้โดยการใช้พลังงานตามธรรมชาติที่อยู่ในตัวสัญญาณ “Wi-Fi” เองครับ จริงๆ แล้วเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ได้มีการเปิดตัวไปแล้วด้วยทางนักวิจัยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และหลังจากนั้นได้ไม่นานก็ได้มีการตีพิมพ์เอกสารงานวิจัยอย่างเป้นทางการในงานประชุมทางวิชาการ CoNEXT 2015 ที่จัดขึ้นที่ประเทศเยอรมันครับ
Vamsi Talla นักวิศวกรไฟฟ้าผู้ที่เป็นหัวเรือหลักในการวิจัยชิ้นนี้ได้เผยออกมาครับว่าพวกเขาได้ทำการสร้างระบบที่สามารถใช้งานร่วมกับเราเตอร์ Wi-Fi ในปัจจุบันและใช้แหล่งพลังงานเดิม เพื่อที่จะทำให้สัญญาณ “Wi-Fi” ที่ส่งออกจากเราเตอร์ตัวนั้นสามารถที่จะให้พลังงานแก่อุปกรณ์อื่นๆ ได้ด้วยผ่านทางเครือข่าย “Wi-Fi” ของเราเตอร์โดยที่ไม่ไปส่งผลกระทบใดๆ กับประสิทธิภาพของสัญญาณ “Wi-Fi” ที่ปล่อยออกมาจากเราเตอร์ตัวนั้นครับ
ทางนักวิจัยพบว่าพลังงานมากสุดที่มากับสัญญาณ “Wi-Fi” ที่ได้ทำการเพิ่มในส่วนของระบบ Po-WiFi เข้าไปนั้นมีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำการชาร์จพลังงานให้กับอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมากนัก และคุณภาพในการชาร์จนั้นก็เปลี่ยนไปตามสัญญาณความแรงของ “Wi-Fi” ด้วย(ยิ่งสัญญาณ “Wi-Fi” อ่อนลงเท่าไรความสามารถในการชาร์จก็ลดลงตามไปด้วย)
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพให้กับเราเตอร์เพื่อที่จะสามารถที่จะทำการส่งแพ็คเก็ตพลังงานผ่านทางช่องเครือข่ายของ Wi-Fi ที่ไม่ได้ใช้งานนั้น(เพื่อไม่ให้กระทบกับเรื่องของการส่งข้อมูล) ทางทีมวิจัยได้ทำการเพิ่มเซ็นเซอร์เข้าไปที่อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่ำเพื่อที่อุปกรณ์เหล่านั้นจะสามารถทำการรับพลังงานไฟฟ้าผ่านสัญญาณ Wi-Fi ได้ ซึ่งการเพิ่มเซ็นเซอร์ดังกล่าวลงไปเพิ่มเติมนี้ทำให้ทีมวิจัยสามารถที่จะยังคงความแรงของสัญญาณ Wi-Fi พร้อมกับสามารถที่จะทำให้อุปกรณ์ได้รับพลังงานผ่านสัญญาณ Wi-Fi ไปพร้อมๆ กันได้ครับ
ทั้งนี้ทางทีมงานวิจัยได้บอกเอาไว้ว่าระบบ Po-WiFi ในปัจจุบันนั้นสามารถที่จะให้พลังงานไปยังอุปกรณ์เล็กๆ ได้อย่างเช่นกล้องหรือ fitness trackers บางรุ่นเท่านั้น ซึ่งทางทีมวิจัยยังคงพัฒนาระบบ Po-WiFi อยู่ต่อไปเพื่อที่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ครับ