30 คำศัพท์ จากละครสุดน่ารัก "สะใภ้จ้าว"
นอกจากความสนุกของละครแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้รับจากละครเรื่องนี้ก็คือ ความรู้ทางด้านภาษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ในวรรณคดี รวมไปถึงคำศัพท์เก่า ๆ ที่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้ยินกันแล้ว ยิ่งทำให้ได้ตระหนักว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่สวยงามมากขนาดไหน
วันนี้ผมก็เลยอยากจะมาแบ่งปันความรู้บางส่วนที่ได้รับจากละครเรื่องนี้ หากใครมีคำไหนเพิ่มเติม มาแชร์กันได้เลยนะครับ
๑. ทหารพระราม
"ทหารพระราม" เป็นการเปรียบเทียบว่ามีกริยาซุกซนเหมือนลิง โดยคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๓ ช่วงที่ ๔ เป็นช่วงที่คุณสอางค์นั่งคุยกับคุณสร้อยเกี่ยวกับการจะจับคู่สาลินกับคุณชายเล็ก ซึ่งคุณสร้อยได้ค่อนสาลิน ว่า "ยิ่งกว่าทหารพระรามอีก"
๒. กระดกกระดนโด่
"กระดกกระดนโด่" เป็นคำกริยามีความหมายว่าทำตัวไม่เรียบร้อย, กระโดกกระเดก โดยคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๗ ช่วงที่ ๒ คุณสร้อยเตือนสาลินให้ทำตัวเรียบร้อยตอนเข้าเฝ้าเสด็จพระองค์หญิง
๓. เปิ่นเทิ่นมันเทศ เทเวศร์สำปะหลัง
"เปิ่นเทิ่นมันเทศ เทเวศร์สำปะหลัง" เป็นสำนวนมีความหมายว่าบ้านนอก โดยคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๖ ช่วงที่ ๙ คุณสร้อยเตือนสาลินแต่งตัวให้ดี ให้เหมาะสมกับการเข้าเฝ้าเสด็จพระองค์หญิง
๔. บิดตะกูด โย้กโย้กฐินบก
"บิดตะกูด โย้กโย้กฐินบก" เป็นสำนวน โดยมีความหมายว่าพูดบิวพริ้ว ไม่ตรงกับความจริง โดยคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๗ ช่วงที่ ๔ คุณสอางค์ต่อว่าคุณสร้อย ที่ไม่ยอมพาสาลินมาเข้าเฝ้าเสด็จ โดยกล่าวอ้างว่าสาลินกริยาไม่เรียบร้อย
สำหรับคำว่า "ตะกูด" มีความหมายว่า "หางเรือเสือ" โดยการถือหางเสือเรือ เป็นการทำให้เรือแล่นไปตรง แต่ลักษณะที่ทำต้องบิดหางเสือไปมา ดังนั้นจึงเอาลักษณะของหางเสือมาเปลี่ยนเป็นลิ้นของคน ที่บิดไปบิดมา
สำนวนบิดตะกูดนี้มีปรากฎอยู่ในวรรณคดีเรื่อง "พระอภัยมณี" ดังนี้
''โจรสุหรั่งฟังนางว่าช่างพูด บิดตะกูดเกเรทำเผลไพล่
จะพาเจ้าเข้าฝั่งก็ยังไกล อดอยู่ไม่ได้ดอกบอกจริงจริง''
๕. กระดางลาง
"กระดางลาง" เป็นคำกริยามีความหมายว่ามรรยาทหยาบ, สัปดน โดยคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๗ ช่วงที่ ๒ เสด็จพระองค์หญิงดุ มาลา วรรณา สองสาวใช้
๖. ยักษ์ปักหลั่น
"ยักษ์ปักหลั่น" เป็นสำนวนที่มีความหมายเปรียบเทียบผู้ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ โดยที่มาของสำนวนนี้มาจาก ยักษ์ตนหนึ่งที่มีชื่อว่า ปักหลั่น จากวรรณคดีเรื่อง "รามเกียรติ์" สำหรับในละครนั้น คำนี้ปรากฏอยู่หลายครั้ง ใช้เปรียบเทียบกับทั้งคุณชายรอง และคุณชายเล็ก
๗. โอดกาเหว่า
"โอดกาเหว่า" เป็นภาษาปากแปลว่า ร้องคร่ำครวญ คำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๑๑ ช่วงที่ ๑ เป็นตอนที่คุณสร้อยเอาน้ำข้าวมานวดให้สาลินเพื่อจะได้ดัดมือทำให้มือไม้อ่อน รำสวยงาม แต่สาลินร้องออกมาด้วยความเจ็บปวดเนื่องจากน้ำข้าวนั้นร้อน
๘. ท้องยุ้งพุงกระสอบ
"ท้องยุ้งพุงกระสอบ" เป็นสำนวนที่หมายถึง คนกินจุ โดยคำนี้ปรากฏในละครหลายครั้ง ใช้บอกลักษณะนิสัยของตัวละคร ทั้งสาลิน, ชายเล็ก และคนใช้ เช่นในละครตอนที่ ๑๐ ช่วงที่ ๖ คุณสอางค์นำขนมมาให้สาลินรองท้องก่อนจะไปขึ้นโต๊ะเสวยกับเสด็จพระองค์หญิง เนื่องจากสาลินเป็นคนกินจุ จะให้ไปกินเยอะต่อหน้าเสด็จไม่ได้
๙. นอนตกเบิก
"ตกเบิก" เป็นคำกริยา โดยมีความหมายว่า ได้รับสิ่งที่ค้างจ่ายย้อนหลัง เมื่อรวมกับคำว่า นอน จึงกลายเป็น นอนเต็มอิ่ม, นอนเต็มตา, นอนนานจากการอดหลับอดนอน ซึ่งคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๗ ช่วงที่ ๓ ชายเล็กคุยกับชายรองว่าวันนี้เป็นวันหยุด เลยขอนอนให้เต็มอิ่มหน่อย
อย่างไรก็ตาม เราจะคุ้นชินกับคำว่า "เงินตกเบิก" มากกว่า ซึ่งหมายถึง เงินที่ได้รับจากการจ่ายย้อนหลัง
๑๐. ชะเวิกชะวาก
"ชะเวิกชะวาก" เป็นคำคุณศัพท์ใช้บรรยายลักษณะที่เปิดกว้างและลึก มักใช้กับการแต่งตัว โดยคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๑๑ ช่วงที่ ๗ แขกในงานเลี้ยงนินทาจรวยว่าเป็นพวกเมียบ่าว แต่งตัวน่าเกลียด๑๑. อกอีแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก
"อกอีแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก" เป็นคำอุทานเวลาตกใจ และมีการต่อเติมเป็น "อกอีแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก อกต้องแตกตายแน่คุณแม่ขา" และเพี้ยนมาเป็น "อกอีแป้นจะแตก" ในปัจจุบัน สำหรับคำนี้ปรากฏในละครตอนที่ ๗ ช่วงที่ ๑ ยายพิณอุทานตอนตกใจ เมื่อเห็นชุดแต่งงานของคุณยายขาด
๑๒. อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น
"อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น" เป็นสำนวนมีความหมายว่า เราควรทำสิ่งตอบแทนให้แก่เจ้าของบ้านที่เราไปอาศัยเพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณ โดยคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๑๔ ช่วงที่ ๖ สาลินเข้ามาช่วยคุณชายรองจัดบ้านเช่า
๑๓. พินอบพิเทา
"พินอบพิเทา" (พิ-นอบ-พิ-เทา) เป็นคำกริยาที่มีความหมายว่า แสดงความเคารพ, นอบน้อม, นบนอบ คำนี้ปรากฏอยู่ในละครตอนที่ ๑ เป็นตอนที่หญิงก้อยพูดกับวิรงรองเรื่องเบื่อคุณชายรอง (แต่ไม่มีในละคร)
เทพีเพ็ญแสงนั่งตรงหน้าวิรงรอง ห้องทำงานของเขาตกแต่งแนวโมเดิร์นของยุคสมัย แต่ตัวตึกนั้นเป็นแบบเก่า
“ภริยาทูตงั้นเหรอ ตกลงแต่งงานกันไป ฉันต้องกลายเป็นยายเมียทูต เดินตามผัวต๊อก ๆ ไปอยู่ประเทศโน้น ประเทศนี้ ต้องทำพินอบพิเทากับทุกคนทุกสังคมที่ผัวพาไปรู้จัก”
“นั่นแหละหน้าที่ภริยาผู้เพียบพร้อม เธอไม่ต้องการหรอกเหรอ” วิรงรอง
“แล้วชีวิตฉันอยู่ที่ไหนล่ะ ฉันก็อยากมีชีวิตของฉันเองบ้างซี นี่มันยุคเสมอภาคทางเพศแล้วนะ”
๑๔. บุโรทั่ง
"บุโรทั่ง" เป็นภาษาปาก ทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ มีความหมายว่าเก่าและทรุดโหรมมาก โดยคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๑๔ ช่วงที่ ๓ หญิงก้อยว่ารถของศุภรที่ให้ชายรองยืมขับว่าเป็นรถเก่า
๑๕. เอ้อเร้อเอ้อเต่อ
"เอ้อเร้อเอ้อเต่อ" เป็นวิเศษณ์ มีความหมายว่า ปล่อยอารมณ์ตามสบาย หรือในสมัยนี้ที่เรียกว่า ชิลล์ ซึ่งคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๓ ช่วงที่ ๔ เสด็จพระองค์หญิงประสงค์ให้คุณสอางค์กับคุณสร้อยพาศรีจิตรา เข้ามาอยู่ในวัง เพื่อให้ใกล้ชิดกับชายรอง
๑๖. ม้ามโนมัย
"ม้ามโนมัย" เป็นคำนาม ในที่นี้ใช้เปรียบเปรยว่าเป็นคนทำอะไรรวดเร็ว ปู๊ดป๊าด นั่นก็คือลิน โดยคำนี้ปรากฏอยู่ในละครตอนที่ ๗ ช่วงที่ ๒ สาลินเข้าเฝ้าเสด็จเป็นครั้งแรก ซึ่งมีกิริยาเรียบร้อยไม่เหมือนที่คุณสร้อยบอกว่าเป็นคนซุกซน
สำหรับคำว่า "มโนมัย" นั้นมีความหมายว่า สำเร็จด้วยใจ เป็นการสมาสคำกันระหว่างคำว่า มโน (ใจ) และ มย (สำเร็จ) ส่วน "ม้ามโนมัย" นั้นปรากฏอยู่ในเรื่องสังข์ทอง ดังนี้
๏ ครั้นถึงจึงสั่งข้าไท เร่งผูกมโนมัยที่เคยขี่
รับสั่งใช้ให้ออกไปตีคลี ครั้งนี้หนักอกหนักใจ
แพ้ชนะอย่างไรก็ไม่รู้ จะลองสู้ดูสักทีหาหนีไม่
เร่งรัดจัดแจงแต่งตัวไว้ บรรดาเหล่าบ่าวไพร่ให้พร้อมพรัก
ว่าพลางทางขึ้นบนชาลา เปิดประตูเข้ามาในตำหนัก
นั่งแอบแนบนางเมียรัก ทุกข์นักก้มหน้าไม่พาที
ฯ ๖ คำ ฯ
๑๗. ยอบแยบ
"ยอบแยบ" เป็นคำวิเศษณ์ที่มีความหมายว่า จวนหมด เกือบไม่พอ มักใช้กับสถานะทางการเงิน คำนี้ปรากฏอยู่ในละครตอนที่ ๑๔ ช่วงที่ ๔ เป็นตอนที่คุณชายรองมาขอยืมเงินศุภร
๑๘. พาลพาโล
"พาลพาโล" หรือ "พาลพาโลโฉเก" เป็นคำกริยา มีความหมายว่า พาล, หาเรื่อง, แสร้งพูดใส่ความไม่จริงให้คนอื่น, กล่าวหาเรื่อง
คำนี้ปรากฏอยู่ในละครหลายครั้ง เป็นคำที่สาลินมักใช้ว่าชายรอง ซึ่งตอนที่ยกมานี้อยู่ในละครตอนที่ ๕ ช่วงที่ ๕ เป็นตอนที่ชายรองพาสาลินมาที่สวนเพื่อนพูดคุยกัน
๑๙. แม่สื่อแม่ชัก ไม่ได้ตัวเอาวัวพันหลัก
"แม่สื่อแม่ชัก ไม่ได้ตัวเอาวัวพันหลัก" เป็นสำนวนกล่าวถึง ผู้หญิงที่ทำตัวเป็นแม่สื่อ แต่สุดท้ายกลับเป็นคู่ครองของชายคนนั้นเสียเอง สำหรับคำนี้ปรากฏในละครตอนที่ ๑๔ ช่วงที่ ๙ คุณชายเล็กบอกศรีจิตราว่าอย่าทำตัวเป็นแม่สื่อ เดี๋ยวก็เป็นแบบที่คำโบราณว่าเอาไว้
๒๐. นางบังเงา
"นางบังเงา" เป็นนาม ใช้เรียกหญิงค่าบริการ โดยคำนี้อยู่ในละครตอนที่ ๑๓ ช่วงที่ ๘ เป็นตอนที่หญิงก้อยทะเลาะกับท่านจันทร์ผู้เป็นท่านพ่อ๒๑. เต่าใหญ่ไข่กลบ
"เต่าใหญ่ไข่กลบ" เป็นสำนวนมีความหมายว่า การที่ทำอะไรลงไปแล้วพยายามจะกลบเกลื่อนความผิด ไม่ให้คนอื่นได้รับทราบ
โดยมีที่มาจาก เต่าตนุที่เวลาวางไข่ จะขึ้นมาบนหาดทราบแล้วคุ้ยพื้นทรายให้เป็นหลุมแล้ววางไข่ลงไป จากนั้นก็จะคุ้ยทรายกลบลงไปเพื่อป้องกันการพบเจอของสัตว์ร้ายอื่นๆ ซึ่งคำนี้ปรากฏอยู่ในละครตอนที่ ๑๓ ช่วงที่ ๔ เป็นตอนที่ไนเจลตำหนิพวกบรรณารักษ์ว่าไม่ยอมทำงาน
ส่วนในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “whitewash” มาจากการทากำแพงด้วยปูนขาว ซึ่งทำให้กำแพงดูขาวสะอาด ปราศจากรอยสกปรก เปรียบกับการกระทำของคนที่พยายามจะปิดบังอำพราง หรือกลบเกลื่อนการกระทำที่ไม่ดีของตน
๒๒. พิพักพิพ่วน
"พิพักพิพ่วน" มีสองความหมายคือ ๑. เป็นคำกริยา แปลว่ากังวล, อักอ่วน ๒. เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า อาการที่รู้สึกปั่นป่วนในท้อง โดยคำนี้ปรากฏอยู่ในละครตอนที่ ๕ ช่วงที่ ๙ ตอนที่คุณชายรองมาทานอาหารที่บ้านสวนเป็นครั้งแรก
๒๓. หลงรูปจูบเงา
"หลงรูปจูบเงา" เป็นใช้บรรยายอาการของคนที่คลั่งไคล้บุคคลอื่นที่มีรูปลักษณ์, การศึกษา ฯลฯ ที่ดี โดยคำนี้อยู่ในละครหลายครั้ง โดยตอนที่ยกมานี้คือตอนที่ ๖ ช่วงที่ ๓ บราลีว่าลลิตาที่คลั่งไคล้อัศนีย์
๒๔. นิจศีล
"นิจศีล" เป็นคำวิเศษณ์ มีความหมายว่า เป็นปรกติ ทำประจำ คำนี้ปรากฏอยู่ในละครตอนที่ ๗ ช่วงที่ ๕๒ เป็นตอนที่เสด็จพระองค์หญิงค่อนคุณสร้อยว่าจะให้สาลินทำหน้างอคอหักเป็นประจำเหมือนคุณสร้อยหรือไร
สำหรับในทางพระพุทธศาสนา นิจศีลหมายถึง ศีลที่ควรรักษาอยู่เป็นนิจ นั่นก็คือ ศีล ๕ อันประกอบไปด้วย
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
๒. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการกล่าวเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๒๕. ขายหน้าวันละห้าเบี้ย
"ขายหน้าวันละห้าเบี้ย" เป็นสำนวนแปลว่าถูกทำให้ขายหน้า โดยคำนี้ปรากฏอยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือตอนที่ ๓ ช่วงที่ ๘ คุณสร้อยพูดถึงสาลินให้เสด็จพระองค์หญิงฟัง
๒๖. เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน เอาแป้งนวลไปขายชาววัง
"เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน เอาแป้งนวลไปขายชาววัง" เป็นสำนวน มีความหมายว่า แสดงความรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า ซึ่งมีสำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงกันอีกสองสำนวนคือ "สอนหนังสือสังฆราช" และ "สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ"
สำหรับคำนี้ปรากฏในละครตอนที่ ๙ ช่วงที่ ๔ คุณชายเล็กนำหนังสือนิทานมาให้ศรีจิตรายืมแต่กลัวว่า ศรีจิตราจะเคยอ่านหมดแล้ว
สำหรับในภาษาอังกฤษก็มีสำนวนนี้เช่นกันน่ันก็คือ "Carry Coals to Newcastle"
หรือ ขนถ่านหินไปนิวคาสเซิล เนื่อง เมืองนิวคาสเซิลจัดเป็นเมืองที่มีถ่านหินมากที่สุด ในพื้นที่อุตสาหกรรมถ่านหินของอังกฤษ
๒๗. ตัวเปล่าเล่าเปลือย
"ตัวเปล่าเล่าเปลือย" มีความหมายว่า ยังไม่มีครอบครัว ยังโสด คำนี้ปรากฏอยู่ในละครตอนที่ ๑ ช่วงที่ ๒ คุณสอางค์มาบอกข่าวการเป็นคู่หมายกันของคุณชายโตและศรีจิตรา
๒๘. เอาทองไปรู่กระเบื้อง
"เอาทองไปรู่กระเบื้อง" เป็นสำนวนมีความหมายว่าการโต้ตอบหรือทะเลาะกับคนพาลหรือคนที่ฐานะต่ำกว่า เป็นเรื่องไม่สมควร
ซึ่งในสำนวนไทยมีอีกหลายสำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น "เอาไม้สั้นไปรันขี้", "เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ" โดยคำนี้ปรากฏในตอนที่ ๘ ช่วงที่ ๖ คุณนายพุดซ้อนดุชบาทิพย์ เพราะเอาคุณชายรองไปเทียบกับนายพล (คุณชายเล็ก)
๒๙. แม่สายบัวแต่งตัวเก้อ
"แม่สายบัวแต่งตัวเก้อ" หรือ "แม่สายบัวแต่งตัวค้าง" เป็นสำนวนหมายถึงหญิงที่มีนัดกับชาย แต่สุดท้ายเขาเบี้ยวนัด คำนี้ปรากฏอยู่ในละครตอนที่ ๒ ช่วงที่ ๒ เป็นตอนที่ศรีจิตรารู้ว่าชายโตมีภรรยาอยู่แล้ว
๓๐. เปิ๊ดสะก๊าด
"เปิ๊ดสะก๊าด" เป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า "First Class" (ชั้นหนึ่ง) ซึ่งนำมาใช้ในความหมายที่ต่างออกไป คือ แปลว่า หรูหรา ทันสมัย มักใช้กับการแต่งตัว โดยคำนี้ปรากฏในตอนที่ ๓ ช่วงที่ ๙ เป็นคำชมที่พิมาลาและวรรณาชมคุณสอางค์สมัยสาว ๆ