เหตุใดบางคนจึงจำความฝันได้ดี
สิ่งที่ทำให้ความฝันยังคงเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์คือ คนบางคนจำความฝันได้ดี ขณะที่บางคนจำความฝันไม่ค่อยได้
ล่าสุด ทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาลียง ประเทศฝรั่งเศส ได้ทำการสังเกตการณ์จนพบว่า ผู้ที่จำความฝันได้ดีจะมีการตื่นตัวในขณะที่หลับบ่อยครั้ง ซึ่งมากกว่าผู้ที่จำความฝันไม่ค่อยได้หลายเท่านัก นอกจากนี้ สมองของผู้ที่จำความฝันได้ดียังมีปฏิกิริยาต่อเสียงกระตุ้นในขณะที่หลับและช่วงที่ตื่นมากกว่าอีกด้วย ซึ่งปฏิกิริยาที่มากกว่าปกตินี้ทำให้เกิดการตื่นตัวในช่วงกลางคืนอยู่นั่นเอง และอาจจะช่วยทำให้จดจำความฝันในช่วงกลางคืนได้ด้วยนั่นเอง
ในงานวิจัยนี้ ทีมวิจัยพยายามจะหาว่า สมองส่วนไหนของผู้ที่จำความฝันได้ดีกับผู้ที่จำไม่ค่อยได้ที่มีความแตกต่างกัน นักวิจัยใช้ Positron Emission Tomography (PET) ในการวัดกิจกรรมของสมองโดยธรรมชาติของอาสาสมัคร 41 คนในช่วงที่หลับและตื่น อาสาสมัครนี้ประกอบด้วย 2 กลุ่มคือ 21 คนเป็นผู้ที่จำความฝันได้ดี คือ มีจำความฝันได้เฉลี่ย 5.2 ครั้งต่อสัปดาห์ กับอีก 20 คนที่เป็นผู้จำความฝันได้ไม่ดี คือ จะจำความฝันได้เพียง 2 ครั้งต่อเดือนโดยเฉลี่ยเท่านั้น
ผู้ที่จำความฝันได้ดีนั้น ทั้งช่วงที่หลับและตื่นจะมีกิจกรรมในสมองในส่วน medial prefrontal cortex (mPFC) และ temporo-parietal junction (TPJ) ที่ชัดเจน อันเป็นส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับความตั้งใจที่มาจากการกระตุ้นจากภายนอก
"นี่อาจจะเป็นการอธิบายว่า เหตุใดผู้ที่จำความฝันได้ดีจึงตอบสนองต่อการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า และยังตื่นตัวมากกว่าในช่วงที่หลับ ดังนั้น ก็เลยสามารถที่จะบรรจุความฝันลงไปในความทรงจำได้ดีกว่าผู้ที่จำความฝันได้น้อย จริงๆ แล้ว สมองของคนหลับนั้นไม่สามารถจำข้อมูลใหม่ได้ สมองเลยจำเป็นต้องตื่นตัวถึงจะจำได้" แพร์รีน รูบี้ นักวิจัยเผย
ก่อนหน้านี้ มาร์ก ซอล์มส์ นักวิจัยชาวแอฟริกาใต้เคยทำวิจัยไว้ว่า การบาดเจ็บที่สมองทั้งสองส่วนนี้ทำให้เราขาดความสามารถในการจำความฝันลดลงไป ซึ่งทีมวิจัยฝรั่งเศสก็มีผลการทดลองที่ยืนยันด้วยว่า กิจกรรมในสมองของผู้ที่จำความฝันได้ดีกับผู้ที่จำไม่ค่อยได้ในสมองส่วนนี้มีความแตกต่างกันจริง
"ผลการทดลองของเราแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จำความฝันได้ดีกับผู้ที่จำความฝันไม่ค่อยได้มีความแตกต่างในเรื่องของกระบวนการจดจำความฝัน แต่ก็ไม่ได้มีความแตกต่างในเรื่องของการสร้างความฝัน แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็นไปได้ที่ผู้ที่จำความฝันได้ดีจะฝันมากกว่าผู้ที่จำความฝันได้น้อย" ทีมวิจัยสรุป
อ้างอิง: INSERM (Institut national de la santé et de la recherche médicale). (2014, February 17). Why does the brain remember dreams?. ScienceDaily. Retrieved February 18, 2014 from www.sciencedaily.com/releases/2014/02/140217085915.htm
งานวิจัย: Jean-Baptiste Eichenlaub, Alain Nicolas, Jérôme Daltrozzo, Jérôme Redouté, Nicolas Costes, Perrine Ruby. Resting Brain Activity Varies with Dream Recall Frequency between Subjects. Neuropsychopharmacology, 2014; DOI:10.1038/npp.2014.6