ทำไมเราถึงรู้สึกอยากจะเข้าเฟซบุคตลอดเวลา
เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สึกที่อยากจะเข้ามาเช็คเฟซบุคอยู่เป็นพักๆ หากไม่ได้ใช้เป็นเวลานานเนื่องมาจากการไปทำงานหรือทำกิจกรรมหนึ่งๆ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย California (UCLA) ณ เมืองลอสแองเจลิส พบว่าสมองของเรานั้นมีความต้องการที่จะเข้าสังคม และการเข้าเฟซบุคก็ช่วยตอบสนองความต้องการนี้นั่นเอง
ทีมนักวิจัยประสาทวิทยาจาก UCLA ได้ค้นพบว่าสมองของเราเตรียมตัวที่จะพบปะเข้าสังคมกับผู้คน ปรารถนาไลค์ โพสต์บนไทม์ไลน์หรือข้อความในเฟซบุคแม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่เงียบๆ ก็ตาม
งานวิจัยใหม่นี้ต่อยอดมาจากการค้นพบในช่วงปี 1990 ที่พบส่วนของสมองที่ถูกกระตุ้นเมื่อเรากำลังพักผ่อน จนกระทั่งถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งว่าการทำงานของสมองเป็นอย่างไรและอะไรทำให้มันเป็นเช่นนั้น แต่ดูเหมือนว่าความต้องการแต่กำเนิดของมนุษย์ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งในสมอง
นักวิจัยได้ทำการทดลองตรวจสอบการทำงานของสมองของอาสาสมัครจำนวน 21 คน ด้วยเครื่อง fMRI พวกเขาพบความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานของสมองระหว่างการพักกับเมื่อมองกลุ่มของภาพและคำบรรยายใต้ภาพซึ่งทำให้พวกเขาคิดถึงอารมณ์ของผู้คน ลักษณะการทำงานของสมองเช่นนี้ไม่ปรากฎขึ้นเมื่ออาสาสมัครถูกถามให้โฟกัสอยู่ที่โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าระหว่างที่เราอยู่ในช่วงที่ไม่ได้ทำอะไรมาก สมองส่วน dorsomedial prefrontal cortex จะถูกกระตุ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสังคม และการมีปฎิสัมพันธ์ที่ตามมานั้นจะรวดเร็วและลื่นไหวเนื่องจากเราเตรียมพร้อมสำหรับมันแล้วนั่นเอง เปรียบเทียบได้กับการที่คำว่า “ใบหน้า” นั้นเตรียมพร้อมสมองเราให้เห็นภาพ Ruben’s illusion เป็นใบหน้าคนแทนที่จะเป็นแจกัน สมองส่วนนี้อาจถูกเรียกว่าเป็น CEO ของสมองในส่วนสังคมก็ว่าได้ และนอกจากนี้มันยังถูกกระตุ้นขณะที่เราฝันอีกด้วย
สมองส่วนนี้ทำให้เราเตรียมพร้อมที่จะมองโลกในทางสังคมในเรื่องของความคิด ความรู้สึก และความประสงค์ของผู้คน นั่นบ่งบอกว่ามันเป็นส่วนสำคัญ พวกเราดำเนินชีวิตอยู่ด้วยสมองที่พยายามที่จะคิดถึงจิตใจของผู้อื่น
และนั่นเองก็ทำให้เรากลับมาอยู่ที่เฟซบุค คล้ายกับว่าเครือข่ายสังคมที่มาร์ค ซัคเกอเบิร์กได้สร้างขึ้นมานั้นช่างเข้ากับธรรมชาติของสมองเราพอดิบพอดี ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมกว่าร้อยล้านคนได้ลงทะเบียนใช้มัน
งานวิจัยนี้ได้ถูกตีพิมพ์ใน Journal of Cognitive Neuroscience
ที่มา: ScienceAlert