ซากฟอสซิลพิสูจน์แล้วว่าฮอบบิตนั้นเป็นสปีชีส์ใหม่ที่แยกออกมาจากมนุษย์ปัจจุบัน
เป็นระยะเวลากว่า 10 ปีที่นักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ซากฟอสซิลจากถ้ำ Liang Bua ณ เกาะฟลอเรส ประเทศอินโดนีเซีย ไม่นานมานี้พวกเขาได้ประกาศถึงการค้นพบสปีชีส์ใหม่ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วซึ่งพวกเขาเรียกว่า Homo floresiensis พวกมันน่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 17,000 ถึงหนึ่งล้านปีที่แล้วและมีความสูงประมาณหนึ่งเมตร อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนบางกลุ่มเชื่อว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ที่เพียงแค่มีรูปร่างและส่วนสูงที่เตี้ยผิดปกติในปัจจุบัน แต่จากการวิเคราะห์ล่าสุดจากฟันของซากฟอสซิลแต่ละชิ้นจากหลายสปีชีส์และหลายทวีป เจ้าฮอบบิตนี้ได้ถูกพิจารณาเป็นสปีชีส์ใหม่จริงๆ โดยที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์ใน PLOS ONE เมื่อสัปดาห์นี้นี่เอง
งานวิจัยก่อนหน้าเปิดเผยว่า H. floresiensis มีขนาดร่างกายและสมองที่เล็กอย่างผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับบรรพบุรุษของมนุษย์ในสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene, ช่วง 1.8 ล้านปี 1 หมื่นปีก่อน โดยที่บรรพบุรุษของมนุษย์ได้อุบัติขึ้นในสายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ (H. sapiens) เมื่อประมาณสองแสนปีที่แล้ว) ตัวอย่างเช่นกระโหลกศีรษะของพวกมันเหมือนกับของ H. erectus แต่มันมีสัดส่วนของรยางค์บนต่อรยางค์ล่างคล้ายกับสปีชีส์ในยุคออสตราโลพิเธคัส (Australopithecus) สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าลักษณะเช่นนี้มีความหมายเชิงวิวัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ
ทีมนักวิจัยนำโดยนาย Yousuke Kaifu จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบฟันหลากหลายซี่ (รวมถึงการวัดขนาดและรูปร่างของฟัน) จาก H. floresiensis, H. habilis จากเมื่อสองล้านปีก่อน, H. erectus จากเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อประมาณหนึ่งล้านปีก่อน และ 490 H. sapiens ตัวอย่างฟันเหล่านี้บ่งบอกว่า H. floresiensis มีฟันเขี้ยวและฟันกรามน้อยแบบดั้งเดิม แต่มีฟันกรามที่มีการพัฒนาแล้ว ซึ่งส่วนผสมของลักษณะฟันเช่นนี้ยังไม่เคยเจอในสปีชีส์ใดของสายพันธุ์มนุษย์และบรรพบุรุษของเราเลย
ลักษณะของฟันแบบดั้งเดิมนั้นสามารถเปรียบเทียบกันได้กับ H. erectus แต่ลักษณะของฟันกรามนั้นปรากฎว่ามีการพัฒนามากกว่ามนุษย์ปัจจุบันด้วยซ้ำ สิ่งนี้ขัดแย้งกับข้อสันนิษฐานแรกเริ่มเกี่ยวกับลักษณะของฟันที่คล้ายมนุษย์แบบปัจจุบัน และมันก็ไม่ได้สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า H. floresiensis มีต้นกำเนิดมาจาก H. habilis หรือคล้ายกับสปีชีส์ในยุคออสตราโลพิเธคัส
ลักษณะและชนิดของฟันของ H. floresiensis ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชุดฟันขนาดเล็กของสายพันธุ์มนุษย์ในยุคแรกเริ่ม แต่ข้อมูลเหล่านี้สนับสนุนสมมติฐานอีกข้อที่ว่า H. floresiensis มีต้นกำเนิดมาจากประชากรเอเชียของ H. erectus ในยุคแรกเริ่ม และหลังจากนั้นพวกมันก็ประสบกับสภาวะที่ทำให้ขนาดของร่างกายและสมองเล็กลงระหว่างการอยู่อาศัยในเกาะร้าง
ลักษณะฟันขากรรไกรล่างของ H. floresiensis (LB) และ ตัวอย่างที่คัดเลือกมาของสปีชีส์มนุษย์ในยุคไพลสโตซีน: H. erectus ในยุคแรกเริ่ม (Sangiran) และ H. habilis (OH). 2015 Kaifu et al.
ที่มา: I Fucking Love Science