สงครามรัสเซีย - ญี่ปุ่น
สงครามระหว่างจักรวรรดิรัสเซียกับจักรวรรดิญี่ปุ่น เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1904 ถึง กันยายน 1905 เมื่อจักรวรรดิรัสเซียเริ่มขยายอิทธิพลลงมาทางตะวันออกไกล รุกคืบมาจนถึงดินแดนแมนจูเรียและคาบสมุทรเกาหลีซึ่งญี่ปุ่นครอบครองอยู่ โดยรัสเซียคิดว่าญี่ปุ่นคงไม่กล้าหือที่จะรบกับมหาอำนาจอย่างรัสเซีย แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อญี่ปุ่นตอบโต้และรุกกลับในทุกสมรภูมิ
ยุทธนาวี Tsushima (Battle of Tsushima : 27-28 พ.ค.1905) เป็นสมรภูมิทางเรือที่สำคัญที่สุดในบรรดายุทธนาวีที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น ถูกยกให้ติดหนึ่งในความล้มเหลวทางการทหารตลอดกาลของโลก ซึ่งสร้างความอัปยศให้กับรัสเซียเป็นอย่างมาก
ก่อนจะเปิดศึกทำยุทธนาวีกัน ทางญี่ปุ่นได้มีการวางแผนและประเมินแล้วว่า กำลังรบทางเรือของญี่ปุ่นกับกองเรือภาคพื้นแปซิฟิคของรัสเซียนั้น มีความสูสีคู่คี่กันมาก กล่าวคือ
กองทัพเรือญี่ปุ่นตรงจุดนั้น หากยังไม่รวมพลเพิ่มจะประกอบด้วย เรือประจัญบาน 6 ลำ เรือลาดตระเวนหนัก 6 ลำ เรือลาดตระเวน 12 ลำ เรือพิฆาต 22 ลำ เรือตอร์ปิโด 28 ลำ
กองทัพเรือรัสเซียภาคพื้นแปซิฟิค ประกอบด้วย เรือประจัญบาน 7 ลำ เรือลาดตระเวนหนัก 4 ลำ เรือลาดตระเวน 7 ลำ เรือพิฆาต 21 ลำ เรือตอร์ปิโด 22 ลำ
แต่จริงๆ แล้ว กองทัพเรือรัสเซียในภาคพื้นแปซิฟิคนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.พอร์ตอาเธอร์ มี เรือประจัญบาน 7 ลำ เรือลาดตระเวนหนัก 1 ลำ เรือลาดตระเวน 4 ลำ เรือพิฆาต 21 ลำ เรือตอร์ปิโด 7 ลำ
2.วลาดิวอสต๊อก มี เรือลาดตระเวนหนัก 3 ลำ เรือลาดตระเวน 3 ลำ เรือตอร์ปิโด 15 ลำ
ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงได้เปรียบขึ้นมาทันที และหากวางแผนดีๆ รวมกำลังเหมาะๆ ก็น่าจะจัดการกับกองเรือของรัสเซียในแต่ละพื้นที่ได้ ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถควบคุมเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการส่งกำลังบำรุงไปยังพื้นที่ต่างๆ
อีกทั้ง กองเรือรบของญี่ปุ่นนั้นก็ไม่ธรรมดา เพราะต่อจากอังกฤษและฝรั่งเศสทั้งหมด มีระบบติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง โดยนำระบบวิทยุโทรเลขมาใช้ในการรบทางทะเลเป็นครั้งแรก และอีกสิ่งหนึ่ง คือ มีการพัฒนาดินปืนขึ้นจาก Know How ของพลุอันเป็นความชำนาญแต่ดั้งเดิม จนได้กระสุนที่ยิงออกไปแล้วเกิดควันน้อย ไม่บดบังทัศนวิสัยนาน ทำให้การยิงแต่ละชุดเป็นไปอย่างรวดเร็ว และแม่นยำกว่ารัสเซียมาก
ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจเลือกที่ พอร์ตอาเธอร์ เป็นเป้าหมายแรก แล้วตามด้วย วลาดิวอสต๊อก โดยประเมินว่า ต้องทำลายกองเรือรัสเซียที่พอร์ตอาเธอร์ให้สิ้นซากก่อนที่กำลังทางเรือจากทะเลบอลติกของรัสเซียจะมาถึง
ในที่สุด ญี่ปุ่นก็ทำจนสำเร็จ สามารถยึดพอร์ตอาเธอร์และควบคุมทะเลบริเวณนั้นได้อย่างสิ้นเชิง
เมื่อสามารถควบคุมทะเลได้ กองเรือทัพเรือญี่ปุ่นก็เตรียมการที่จะเผชิญหน้ากับกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียที่เริ่มออกเดินทางมาแล้ว โดยญี่ปุ่นเลือกใช้แผนปฏิบัติและยุทธวิธีการโจมตีทางลึกที่เน้นการโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีก เน้นระดมยิงปืนใหญ่ระยะไกลไปที่เป้าหมายเดียวกันพร้อมๆ กัน และให้ระดมยิงเรือนำของข้าศึกก่อน จากนั้นค่อยแยกโจมตีซ้ำต่อเรือรบที่เหลือจนกว่าจะทำลายกองเรือรัสเซียได้หมด ซึ่งญี่ปุ่นเตรียมการกันเป็นอย่างดีก่อนที่กองเรือบอลติกของรัสเซียจะเดินทางอ้อมมาถึง
และแล้ววันเวลาประจัญบานก็มาถึง
ในวันที่ 27 พ.ค.1905 เรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่นก็ตรวจพบเรือท้ายขบวนกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซีย ที่กำลังแล่นมุ่งหน้ามาทางช่องแคบ Tsushima อันเป็นไปตามที่ญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว
กองเรือญี่ปุ่นจึงรวมพลเข้าสกัดและระดมยิงตามแผนที่ได้เตรียมไว้ เริ่มตั้งแต่ประมาณบ่ายๆ ของวันที่ 27 จนต่อเนื่องถึงตอนเช้าของวันที่ 28 พ.ค.1905 ยุทธนาวีนี้ก็สิ้นสุดลง
โดยกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง เรือถูกจมลงก้นทะเลถึง 21 ลำ ส่วนที่เหลืออีก 13 ลำถูกยึดและปลดอาวุธ มีกำลังพลเสียชีวิต 4,380 คน และอีก 5,917 คนถูกจับเป็นเชลย แต่มีเรือลาดตระเวนคุ้มกัน 3 ลำ ที่หลบรอดไปถึงฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ที่มะนิลาได้
ในขณะที่กองเรือญี่ปุ่นนั้น เรือตอร์ปิโดอับปางเพียง 3 ลำ เสียชีวิต 117 คน และบาดเจ็บ 583 คน
ความพ่ายแพ้ของรัสเซียครั้งนี้ ทำให้รัสเซียแทบไม่เหลือกองเรือของตนในภูมิภาคนี้อีกเลย ประกอบกับสถานการณ์ทางบกก็ไม่สู้ดีนัก ยังไม่สามารถระดมกำลังจากยุโรปมาสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ หากยังทำสงครามกับญี่ปุ่นในแถบนี้ต่อไปคงไม่ได้อะไรขึ้นมาและมีแต่ความหายนะ ทำให้รัสเซียต้องยอมเจรจาเพื่อยุติสงครามตามเงื่อนไข 60-40 ในสภาวะที่ญี่ปุ่นกำความได้เปรียบ
กล่าวกันว่า ชัยชนะของญี่ปุ่นเหนือรัสเซียครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของชนเผ่าสีผิวอื่นเหนือชนเผ่าผิวขาว ซึ่งทำลายภาพลักษณ์ของมหาอำนาจรัสเซียอย่างมาก นอกจากนี้ ชัยชนะของญี่ปุ่นยังเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวพื้นเมืองในอาณานิคมต่างๆ ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชอีกด้วย
โดยสาเหตุที่รัสเซียพ่ายแพ้นั้น น่าจะมาจากการขาดการเตรียมการ เดินทางมาไกล เรือที่มาก็ขาดการบำรุงรักษา ช้ากว่าเรือญี่ปุ่น ขาดยุทธวิธีและการสั่งการที่ดี รวมถึงการประเมินขีดความสามารถของญี่ปุ่นต่ำเกินไป และประเมินกำลังอำนาจของตัวเองสูงเกินไป
อีกทั้ง ญี่ปุ่นมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดในทุกภาคส่วน ทั้งการวางแผน ปฏิบัติตามแผน การจัดการในการยุทธต่างๆ รวมถึงความกล้าหาญและการรบอย่างเอาเป็นเอาตายสุดชีวิตในทุกสมรภูมิ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในสงครามครั้งนี้