เปิดกรุหนังไทยโดนแบน
Home
เมื่อย้อนกลับไปดูหนังไทยที่เคยถูกห้ามฉาย สำนักข่าวอิศราพบมี “ภาพยนตร์ไทย” อย่างน้อยจำนวน 5 เรื่องที่ถูกห้ามฉาย ด้วยข้อหาต่างๆ กัน ตั้งแต่หลังปี 2500 จนถึงปัจจุบัน
1. ทองปาน (Tongpan) ภาพยนตร์กึ่งสารคดี กำหนดฉายปี 2519 เล่าถึงชีวิตชาวนาภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำโขง ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดทางภาคอีสาน และบางส่วนของประเทศลาว จมอยู่ใต้น้ำ ทั้งนี้ มีข่าวลือว่าบรรดานักแสดงและทีมงานถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้ต้องหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกห้ามฉายอยู่นาน โดยเฉพาะช่วงใกล้เคียงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อย่างไรก็ตาม ‘ทองปาน’ มีโอกาสได้ฉายที่สถาบันเกอเธ่, บ้านพระอาทิตย์ และที่สยามสมาคม ในช่วงปลายปี 2520
บทวิจารณ์นี้ใคร่
หนังเปิดเรื่องที่ฉากการตักน้ำในคูน้ำเล็กๆ ของ “ผัน” ภรรยาวัยกลางคนของทองปาน แล้วค่อยๆ หาบน้ำด้วยไม้คานที่ทาบลงบนบ่าอันแกร่งกร้าน เดินผ่านใต้โครงเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาดใหญ่ยักษ์มหึมา ภาพความขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงเปิดประเด็นหนังให้มีพลังเป็นอย่างยิ่งขึ้น เมื่อตัวละครเดินเข้าหากล้องพร้อมกับเสียงเพลง “คนกับควาย” (ของวงคาราวาน ซึ่งขณะนั้นเป็นเพลงต้องห้าม ทางการเมืองที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นเพลงแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์) ค่อยดังขึ้น ซ้ำยังไม่พอเมื่อกล้องไม่เคลื่อนไปไหน แต่ยังจับภาพของผันหามครุน้ำมุ่งหน้าเข้าหากล้องโดยค่อยๆ ซ้อนทับกับภาพควายตัวหนึ่งยืนเลมหญ้าในฉากหลังจนทับมิดทั้งภาพควาย เหลือเพียงแต่หญิงชาวบ้านหาบน้ำ
แค่เปิดเรื่องยังไม่มีบทสนทนาใดๆ ก็สามารถสื่ออารมณ์ของหนังได้อย่างทรงอานุภาพแฝงมีเสน่ห์จึงไม่น่าแปลกใจว่าอีก 50 กว่านาทีที่เหลือเรื่องราวภาษาของภาพจะนำเสนอได้อย่างอารมณ์ประชดประชันสักแค่ไหน อีกทั้งถ้าดูที่ความหมายของเพลงแล้วยิ่งสามารถนำไปคิดต่อได้อีกกว้างไกล
“คนกับคนทำนาประสาคน คนกับควายทำนาประสาควาย
คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ ลึกล้ำทำนามาเนิ่นนาน
แข็งขันการงานมาเนิ่นนาน สำราญเรื่อยมาพอสุขใจ …”
ปัญหาแรกของคนใต้เขื่อน ต้องแล้งน้ำเพราะถูกกักน้ำไว้เหนือเขื่อน พอหน้าฝนถูกปล่อยให้น้ำท่วมนาเพราะกลัวเขื่อนพัง เป็นคำบอกเล่าจากปากคำของทองปาน พร้อมภาพเล่าเรื่องชีวิตแสนอัตคัตความเป็นอยู่กับภรรยาและลูก 4 คน ภาพซูมหน้าบุตรชายคนหนึ่งของทองปาน ถัดมากับภาพฝูงแพะเดินข้างถนนที่มีเสียงกระหึ่มของมอเตอร์ไซด์วิ่งผ่าน ชวนให้อดคิดถึงการมาเยือนของการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ท่ามกลางเหล่าๆแพะสองขาในชนบทไม่ได้
เนื้อเรื่องที่ดำเนินต่อไป หลังจากทองปานถูกชักชวนให้เป็นตัวแทนไปร่วมสัมนาถึง การสร้างเขื่อนผามอง ที่มุ่งมั่นจะสร้างขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง กินพื้นที่แถบจังหวัดเลยและหนองคายของไทย หนังใช้ภาพการประชุมที่ประกอบด้วยผู้คนหลายฝ่ายทั้ง นักวิชาการ ข้าราชการ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายต่อต้าน ผู้เชียวชาญต่างชาติ ผู้แทนราษฏร นักศึกษา ชาวบ้าน ตัดสลับกับภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวทองปาน เช่น การวิดน้ำจับปลา การวางแหแต่ไร้เงาปลาเหมือนแต่ก่อน อาการป่วยของภรรยา การดิ้นรนหาเงินด้วยการขึ้นชกมวย หรือการหันหน้าเข้าหาเหล้าหนีปัญหา ฯลฯ
หนังมีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษตลอด ยกเว้นเมื่อตอนผู้เชี่ยวชาญต่างชาติลุกขึ้นอภิปราย หนังจงใจตัดซับฯ ออก น่าจะพยายามทำให้ได้อารมณ์เดียวกับตัวละครทองปาน ที่ฟังข้อความไม่รู้เรื่องจับใจความไม่ครบถ้วน ท่ามกลางการประชุมอันดูสวยหรู ที่สรรหาแต่ถ้อยคำข้อความหลากมุมมองของผู้ลุกขึ้นพูดป่าวประกาศปาวๆ เช่น
- พอการพัฒนามาแล้ว ไฟฟ้ามา วิทยุมา ทีวีมา คนถูกโฆษณาให้ซื้อของ คนรวยและต่างชาติก็รวยมากขึ้น ชาวบ้านต้องผลัดถิ่นจากพื้นที่สร้างเขื่อนอีกทั้งปลาบึกแถวนั้นอาจสูญพันธุ์เพราะถูกถือว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
- ปัญหาของการพัฒนา คือ ทำอย่างไรให้พอใจแกคนหมู่มากและยาวนานที่สุด แต่ติดขัดที่ความซับซ้อนของปัญหาที่ไม่อาจคาดเดาได้
- ประชุมกันบนโต๊ะ ตัดสินชะตากรรมให้ชาวบ้านรึ น้ำท่วมแล้วใครได้-ใครเสีย
- การพัฒนามีทั้งผลดีและผลเสีย ให้ได้ร้อยเปอเซนต์คงไม่มี แต่คำนวณดูแล้วได้รับผลดีมากกว่าเสีย ก็ควรพิจารณากันให้ดี
- ถ้าเขื่อนสร้างได้ ประเทศไทยร่ำรวยแน่ๆ พลังงานนำไปดัดแปลงได้อีกเยอะแยะ
- คนที่จะทำอะไรได้สำเร็จต้องมีอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเศร้าของนักวิชาการ คือนอกจากปากกา ไมโครโพน ปริญญาบัตรคนละ 3-4 ใบ เรายังมีอำนาจอะไรหนุนหลังพวกเราอยู่อีกหรือ ?
- ประชาธิปไตยจาก 14 ตุลาที่ได้มา จะมีความหมายอะไร ถ้ามันไม่ประกันชีวิตความเป็นอยู่ให้ได้ดีกว่านี้
- เขื่อนเป็นสัญญาว่าชีวิตดีขึ้นจริงหรือ แต่ทำไมบางกลุ่มต้องอพยพหนี เสาไฟฟ้ามันข้ามหัวชาวบ้านให้แต่ชาวเมืองสว่างไสวจนแยกไม่ออกว่ากลางวันกลางคืนแล้ว
- เพราะประชาชนไขว้เขว้และมีความไม่เข้าใจ ประชาชนส่วนน้อยควรต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่บ้าง ฯลฯ
และมีตัวแทนจากชาวบ้านเสียงหนึ่ง ที่พูดอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน จึงเป็นได้เพียงแค่การตั้งคำถามด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาว่า “น้ำก็อยากได้ ดินก็อยากได้อยู่ แต่ปัญหาอื่นของชาวบ้าน เช่น ขโมยขโจร ราคาข้าวตกต่ำ สัมประทานทางเดินรถถูกเอารัดเอาเปรียบ ขาดแคลนหมอ ถ้าสร้างเขื่อนมาแล้วจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ่”
หรือฉากเปรียบเปรยในตอนทองปานขึ้นชกมวยเพื่อแลกเงิน หมัดล้วนๆ ที่ถูกระดมเข้าใส่อย่างไม่นับถี่ยิบ แล้วเขาถูกน็อค อย่างสิ้นท่าไม่ต่างจาก ชีวิตที่โดนมรสุมโหมกระหน่ำภายใต้ถ้อยคำ “การพัฒนาประเทศ” นั่นเอง ในช่วงท้ายเรื่องส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เมื่อ “ผัน” ภรรยาต้องจากไปด้วยด้วยวัณโรคเพราะขาดเงินค่ารักษา โดยมีเพียงฝากข้อความไว้กับลูกชายว่า เธอต้องการควายสักตัวเท่านั้น ถึงแม้นัยยะของควาย คล้ายจะเป็นความหมายที่ซ้อนสัญลักษณ์ให้ตีความกันไปได้ต่างๆ นานา เพราะภาพสัตว์สี่ขาคู่วิถีชาวนาไทยประเภทนี้ยังมีให้เห็นตอกย้ำความมีอยู่ความเป็นจริงของมันอยู่เป็นระยะๆ ในฉากอื่นๆ
ถึงแม้ในการสัมนา ทองปานจะหายตัวไปตอนท้ายๆ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอันใดเลย ก็ถือว่าคล้ายประดุจเป็นไปตามประสาคนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม หรือยิ่งนานวันผู้คนแบบทองปานก็มักจะมีพฤติกรรมในแบบค่อยๆ จางลงจนหายตัวไปในสังคมจนแทบเสมือนไม่มีตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการหายไปจากหมู่บ้านของทองปานในตอนจบของเรื่องราว
คงปฎิเสธไม่ได้ว่า การนำเสนอบทพูดบทสนทนาของตัวละครบางตัวจะดูคล้ายการท่องจำไปบ้างตามประสานักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด ที่ถือเป็นจุดด้อยหนึ่งของหนัง แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ถูกหักกลบลบหนี้ไปด้วยประเด็นของเรื่องราวเข้มข้นที่มาจากชีวิตจริงของทองปาน การสัมนาเรื่องเขื่อนที่เกิดขึ้นจริง ชวนให้อดร่วมตามติดประเด็นต่างๆ หลังเครื่องหมายเควชั่นมาร์คขึ้นไม่ได้ ถึงคำถามที่ถูกตั้งทิ้งท้ายไว้ว่า ตกลง ถ้าสร้างเขื่อนแล้วจะแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้รึเปล่า?
“เขื่อน” ในที่นี้สามารถตีความว่าคือสัญลักษณ์แห่งการพัฒนาประเทศในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง ที่หนังนำเสนอการให้ความคิดความเห็นในหลายๆ ฝ่าย โดยสังเกตกันดีๆ จะพบว่าทุกฝ่ายใช้วิธีการแอบอิงจากเพียงเรื่องที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายเกี่ยวข้องหรือมีข้อมูล หรือมีผลประโยชน์อยู่เท่านั้น ดูแล้วไม่ต่างจากการนำเพียงประสบการณ์ส่วนตัวเพียงด้านเดียวไปจับกับปัญหาใหญ่ที่ซับซ้อนลึกล้ำกว่า ฉะนั้นการจะตีความว่าใครถูก ใครผิด ใครดี ใครไม่ดี ใครน่าเชื่อถือ จึงอยู่ที่ว่าใช้อะไรมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจในแต่ละประเด็นๆ ไป ซึ่งไม่ง่ายที่จะฟันธงตัดสินใจอะไรใดๆ ดังนั้นบทสรุปอันเปิดกว้างไว้จึงเป็นคำถามปลายเปิดมากว่า 30 ปีแล้ว (“ทองปาน” ภาพยนตร์ที่ “ต้องดู” – สิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม )
2. คนกราบหมา (My Teacher Eats Biscuits) ภาพยนตร์ตลกร้าย กำหนดฉายปี 2540 กำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เล่าถึงลัทธิประหลาดที่ผู้คนพากันกราบไหว้หมา ทั้งนี้มีกำหนดฉายครั้งแรกในงานในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 (Bangkok Film Festival) ปี พ.ศ. 2540 อย่างไรก็ตามก่อนงานเปิดมีผู้ส่งโทรสารร้องเรียนไปยังกองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ว่า บทภาพยนตร์เรื่องนี้มีการดูหมิ่นศาสนาพุทธ เมื่อกองเซ็นเซอร์ตรวจสอบดูแล้ว จึงไม่อนุญาตให้ฉาย รวมถึงห้ามการเผยแพร่ตัวอย่างภาพยนตร์อีกด้วย
3. แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) กำหนดฉายปี 2550 กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล เล่าถึงแพทย์หญิงในโรงพยาบาลชนบท และแพทย์ทหารหนุ่มในโรงพยาบาลในเมือง โดยได้รับอิทธิพลจากพ่อและแม่ของผู้กำกับ ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์มีเงื่อนไขให้ตัดฉากสำคัญออก 4 ฉากจึงจะสามารถฉายในไทยได้ คือ 1) ฉากพระเล่นกีตาร์ 2) ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะปฏิบัติหน้าที่ 3) ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล และเกิดอารมณ์ทางเพศจนเห็นความผิดปกติของเป้ากางเกง และ 4) ฉากพระเล่นเครื่องร่อน ซึ่งอภิชาติพงศ์ ได้ตัดสินใจที่ไม่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทย
4. อินเซค อิน เดอะ แบ็คยาร์ด (Insects in the Backyard) ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคม กำหนดฉายปี 2553 กำกับโดย “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” เล่าถึงโลกของเพศที่สาม, โลกของเด็กหญิงบ้าแฟชั่น และโลกของเด็กชายอายุ 15 ปี ที่ติดไซเบอร์และหมกมุ่นเรื่องเซ็กส์ ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ให้เหตุผลในการแบนว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่อประชาชน และบางฉากมีการนำเสนอภาพขององคชาต การร่วมเพศและการค้าประเวณี
5. เช็คสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ภาพยนตร์นอกกระแส กำหนดฉายปี 2555 กำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ดัดแปลงจากบทละครโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ ของเชกสเปียร์ ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบละครซ้อนละคร แบ่งเป็นสองส่วนคือละครเวที และโลกภายนอก เล่าถึงขุนนางที่ล้มกษัตริย์ และสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์แทน แต่ลุ่มหลงในอำนาจ จนต้องฆ่าคนอื่นเพื่อตัวเอง ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ให้เหตุผลในการแบนว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ เพราะมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ไม่สงบเดือนเมษายน 2552
การแบนภาพยนตร์เรื่อง “เช็คสเปียร์ต้องตาย” โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) ในกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้สร้างกระแสการคัดค้านไปทั่ว เพราะนี่คือภาพยนตร์เรื่องที่สอง นับจากภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ที่ต้องประสบกับเจอเรต “ห” หรือ ประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมตรา 26 (7) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
ลึกไปกว่านั้น นี่คือภาพยนตร์เรื่องที่สองของอิ๋ง เค ที่ต้องประสบมรสุมปัญหาห้ามฉาย ตั้งแต่ผลงานภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของเธอ คือ “คนกราบหมา” ถูกห้ามฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพครั้งแรกเมื่อปี 2541 อันสืบเนื่องมาจากกฎหมายเซ็นเซอร์เก่า
“อิ๋ง เค” และ “มานิต ศรีวาณิชภูมิ” เป็นผู้กำกับอินดี้รุ่นแรกๆ ของไทย ก่อนที่กระแสภาพยนตร์อินดี้ไทยจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในประเทศไทยและต่างแดน โดยในขณะนั้นยังมีข้อจำกัดในเรื่องเทคนิคอยู่ค่อนข้างมาก ภาพยนตร์เรื่อง คนกราบหมา ถ่ายทำด้วยระบบ 16 มม. และผู้กำกับอิ๋ง เค เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด การฉายครั้งแรกเป็นการฉายภายในเฉพาะในกลุ่มเพื่อนฝูงและทีมงานที่สถาบันเกอเธ่ หลังจากนั้นหนังได้ถูกวางโปรแกรมฉายในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพครั้งแรกของเครือเนชั่น แต่ถูกแบนห้ามฉายไปในที่สุด
“คนกราบหมา” ได้วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยในหลายๆ ด้าน รวมทั้งสถาบันต่างๆ ในสังคม ในตอนแรกนั้น ทางกองเซ็นเซอร์ไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเป็นโปรเจ็คอินดี้ที่จะฉายในเทศกาลเท่านั้น แต่มีมือลึกลับส่งแฟกซ์ไปตามสื่อ ลงตีพิมพ์ว่า เทศกาลหนังครั้งนี้มีหนังต้องห้ามหลายเรื่อง รวมทั้งภาพยนตร์คนกราบหมา เมื่อสื่อตีพิมพ์ข่าวดังกล่าว ทำให้กองเซ็นเซอร์ต้องเรียกหนังมาดู ส่งผลให้ “คนกราบหมา” ถูกสั่งห้ามฉายในที่สุด อิ๋งเคไปประท้วงถึงหน้าสภา แต่ “คนกราบหมา” ก็ไม่เคยฉายในเมืองไทยจนถึงขณะนี้ ยกเว้นรอบเดียวที่สถาบันเกอเธ่เท่านั้น
“อิ๋ง เค” และ “มานิต” ไม่ได้ทำหนังอีกเลย จนกระทั่งสารคดีเรื่อง “พลเมืองจูหลิง” ซึ่งออกฉายในปี 2552 โดยความร่วมมือกับ “ไกรศักดิ์ ชุณหวัน” ในฐานะผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ร่วม พลเมืองจูหลิงเป็นการเดินทางลงภาคใต้ เพื่อสืบเสาะเรื่องราวเหตุการณ์สังหารครูจูหลิง หนังได้สะท้อนให้เห็นแง่มุมรอบด้าน ทั้งเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูจูหลิง และผู้บริสุทธิ์ทางภาคใต้จำนวนมาก อันเนื่องมาจากนโยบายปราบความรุนแรงในสมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่่งชื่อของผู้กำกับร่วมอย่าง “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” มีส่วนในการช่วยปกป้องภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ไม่น้อย และ “พลเมืองจูหลิง” ได้รับการเสนอเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากทุกสถาบันรางวัลในประเทศไทย ทั้งสมาพันธ์ภาพยนตร์ ชมรมวิจารณ์บันเทิง สตาร์พิคส์อวอร์ด ก่อนจะได้รับรางวัลจากคมชัดลึกอวอร์ดประจำปี 2552 ในที่สุด
สองปีต่อมา ผู้กำกับอิ๋ง เค และโปรดิวเซอร์ตัดสินใจทำหนังเรื่องยาวเรื่องที่สองในชีวิต คือ “เช็คสเปียร์ต้องตาย” อย่างเงียบๆ ก่อนที่จะส่งโปรเจ็คร่วมขอทุนไทยเข้มแข็ง 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ของกระทรวงวัฒนธรรม หนังไม่ได้รับการพิจารณาในครั้งแรก จนกระทั่งเกิดเหตุคัดค้านจากกลุ่มผู้กำกับอินดี้ โดยมี “อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล” และ “มานิต ศรีวาณิชภูมิ” เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการคัดค้านครั้งนั้น
เช็คสเปียร์ต้องตาย ผ่านการพิจารณาในรอบที่ 2 อย่างมีเงื่อนไข ก่อนที่จะได้รับการพิจารณาผ่านตลอดในที่สุด โดยเนื้อหาภาพยนตร์ที่ได้ส่งให้กับคณะกรรมการ ใน โครงการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ ระบุไว้ว่า
“เรื่องราวแห่งการเมืองและไสยศาสตร์ ที่แปลเป็นไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละคร “โศกนาฏกรรม แม็ตเบธ” ของวิลเลี่ยมเชคสเปียร์ กวีเอกของโลก โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาภาพยนตร์ และเข้ากับบริบทของวัฒนธรรมไทย หนังผีเชคสเปียร์เรื่องนี้ดำเนินไปพร้อม ๆ กันสองโลก ในโลกของโรงละคร โลกของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงามในไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นราชาโดยการฆาตกรรม และโลกภายนอก ในชีวิตร่วมสมัยของนักปกครองเผด็จการของประเทศสมมุติแห่งหนึ่ง ผู้ที่งมงายในไสยศาสตร์ โหดเหี้ยมบ้าอำนาจ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าท่านผู้นำ และภริยาไฮโซน่าสะพรึงกลัวของท่าน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในสองโลกแฝดนี้ ส่องสะท้อนเข้าหากัน ค่อย ๆ เริ่มซึมเข้าหากัน จนกระทั่งสุดท้ายมันประสานงากันอย่างรุนแรง และโหดร้าย เมื่อคณะละครต้องชดใช้ด้วยชีวิต โทษฐานอุตริแสดงละครเรื่องนี้ในสังคมที่ปกครองโดยมนุษย์ เช่นท่านผู้นำ พวกเขาคิดอย่างไรที่จะต่อสู้กับความกลัวด้วยศิลปะ”
“อิ๋ง เค” และ “มานิต ศรีวาณิชภูมิ” ได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่นำเสนอผลงานวิพากษ์วิจารณ์สังคมมาตลอดอย่างหาญกล้า ไม่ว่าจะเป็นสถาบันใด
“เช็คสเปียร์ต้องตาย” ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และถูกเลื่อนผลอยู่หลายครั้ง กล่าวกันว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่หลายรอบ ก่อนที่จะตัดสินเรต “ห” ในที่สุด จากคณะกรรมการ 5 ใน 7 คน (จาก คนกราบหมา จนถึง เช็คสเปียร์ต้องตาย …อิ๋ง เค กับมรสุมเซ็นเซอร์ซ้ำซ้อน)
เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพยนตร์ที่ถูกห้ามฉายในไทย มักถูกระบุว่าขัดต่อศีลธรรมอันดี รวมถึงมีบางฉากที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง เสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงภาพยนตร์ต่างประเทศอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกห้ามฉายในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน