นักวิทยาศาสตร์แบ่งการมีอยู่ของชีวิตออกเป็นหลายระดับ
นักวิทยาศาสตร์แบ่งการมีอยู่ของชีวิตออกเป็นหลายระดับ โดยเริ่มจาก
1.มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น 2.สิ่งมีชีวิตนั้นวิวัฒนาการจนมีร่างกายที่ซับซ้อนพอจะเกิดสติปัญญา 3.สิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญานั้นสามารถสร้างอารยะธรรมและเทคโนโลยีได้
สาเหตุที่แบ่งออกเป็นสามช่วงก็เพราะทั้งสามช่วงนั้นมีความแตกต่างกันและส่งผลต่อวิธีคิดในการค้นหา
สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องมีสติปัญญาในการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวและการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน สังเกตได้จากสิ่งมีชีวิตส่วนมากบนโลกอย่างพวกแบคทีเรีย สัตว์จนถึง พืช ฯลฯ นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ามนุษย์
สิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาก็อาจไม่สามารถสร้างอารยะธรรมได้ อาจจะด้วยสภาพร่างกายและสภาพแวดล้อม เช่น ปลาโลมานั้นเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาสูงทีเดียว นักวิทยาศาสตร์สังเกตพฤติกรรมจนรู้ว่ามันมีการตระหนักรู้ถึงตนเองได้เพราะเมื่อนักวิทยาศาสตร์จับมาส่องกระจก ก็พบว่าปลาโลมารู้ว่าเงาในกระจกเป็นเงาของตัวมัน นอกจากนี้มันยังสามารถแก้ปัญหาด้วยการใช้อุปกรณ์ได้เพราะปลาโลมาบางชนิดรู้จักใช้ฟองน้ำมาหุ้มปากของมันเวลาขุดคุ้ยหาอาหารบริเวณพื้นทะเลเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ พวกมันมีการสื่อสาร,การอยู่เป็นสังคม และรู้จักเล่นเพื่อเรียนรู้
แต่ร่างกายของมันไม่ได้วิวัฒนาการให้เหมาะสมกับการสร้างอารยะธรรม
มันไม่มีมือที่สามารถเคลื่อนไหว ยึดจับและสร้างสรรค์สิ่งที่ประณีตได้อย่างมนุษย์
ต่อให้ปลาโลมามีสมองเจริญมากพอจะวิเคราะห์เรียนรู้สิ่งต่างๆได้ ก็ยังยากที่มันจะเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเอกภพได้อย่างมนุษย์ ตัวอย่างชัดๆก็คือการที่มนุษย์เราสามารถสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้าได้ไม่ยากเพียงแค่แหงนหน้ามอง ในขณะที่ปลาโลมาที่อยู่ในน้ำคงไม่สามารถสังเกตเห็นดวงดาวผ่านผิวน้ำได้ง่ายนัก แลถึงแม้ปลาโลมาจะประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ซับซ้อนขึ้นใช้งานได้ก็คงไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าแน่ๆในเมื่อพวกมันอาศัยอยู่ในทะเล
กล่าวโดยสรุปคืออารยะธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากที่สุดเพราะอย่างน้อยๆสิ่งมีชีวิตต้องวิวัฒนาการจนเกิดสติปัญญาก่อน แล้วจึงวิวัฒนาการต่อเนื่องจนสร้างอารยะธรรมได้
ล่าสุดในเดือนมกราคม 2558
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 5 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์ โดยดาวฤกษ์ดังกล่าวมีชื่อว่า HIP 94931 ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวพิณ
ขนาดของดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวงเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
ดาวดวงนี้เป็นดาวประเภทดาวแคระแดง (Red Dwarf) ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์ ทฤษฎีบอกเราว่าในกาแล็กซีทางช้างเผือกมีดาวแคระแดงอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากมันมีความสว่างน้อยทำให้สังเกตเห็นได้ยากมาก
อย่างไรก็ตาม Tiago Campante นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ นำข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ถูกส่งไปในอวกาศเพื่อตรวจสอบหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโดยเฉพาะ มาวิเคราะห์จนพบว่าดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวงนั้นมีขนาดตั้งแต่ 0.4 จนถึง 0.74 เท่าของโลก
แม้ดาวเคราะห์ทุกดวงจะเป็นดาวเคราะห์แบบหิน แต่มีเพียงหนึ่งดวงที่อาจอยูในวงโคจรที่น้ำบนดาวเคราะห์จะอยู่ในรูปของเหลวได้ ในขณะที่อีกสี่ดวงโคจรใกล้ดาวฤกษ์มากเกินไป
ความน่าสนใจคือ ดาวฤกษ์ดังกล่าวมีอายุมากถึง 11,000 ล้านปี ซึ่งเป็นนับว่ายาวนานมาก (ดวงอาทิตย์ของเรามีอายุเพียงแค่ 4,600 ล้านปีเท่านั้น)
นั่นแปลว่า หากมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาบนดาวเคราะห์เหล่านั้น ก็เป็นไปได้ที่พวกมันจะวิวัฒนาการจนเกิดอารยะธรรมแล้ว
นี่เป็นหลักฐานที่ส่องให้เห็นถึงความเป็นไปได้อันริบหรี่ที่ในอนาคต
เราอาจได้พบเพื่อนร่วมเอกภพของเราก็เป็นได้!