เปิดตัว "ผลมะพร้าวก้นสาว" ลูกที่ 6 ของประเทศ หลังรอนานตั้ง 33 ปี
วันนี้ ( 21 ก.ย.58 ) ดร.กัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการ สวนนงนุชพัทยา พร้อมด้วย นางพัทธนันท์ ขันติสุขพันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป นายจิรพฤทธิ์ โสดรเพิ่มพูนลาภ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและขาย Mr.Anders J.Lindstrom ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และนายสุภาพ แสงวิเศษ ผู้จัดการแผนกขยายพันธุ์ปาล์ม ได้เฝ้าสังเกตการตกของผลมะพร้าวทะเล หรือมะพร้าวแฝด (LODOICEA MALDIVICA) และอีกชื่อตามภาษาชาวบ้านว่า “มะพร้าวก้นสาว” ได้ตกผลจากต้นเป็นผลที่ 6 ของประเทศไทย ที่ทางสวนนงนุชพัทยา เฝ้ารอคอยมานานถึง 33 ปี ท่ามกลางความสนใจของนักท่องทุกเชื้อชาติ ที่มาเฝ้ารอลุ้นการตกของผลมะพร้าวลูกนี้
ดร.กัมพล ตันสัจจา เปิดเผยว่า มะพร้าวต้นนี้เดิมทีได้ซื้อต่อมาจากเพื่อนชาวอเมริกา ขณะนั้นมีอายุ 10 ปี จึงได้นำมาเพาะปลูกไว้ภายในสวนปาล์ม มีการดูแลรดน้ำพรวนดินเป็นอย่างดี มาตลอดระยะเวลา 22 ปี เท่ากับอายุของสวนนงนุชพัทยา มาวันนี้รวมระยะเวลา 33 ปี มะพร้าวได้ออกผลสุกหลุดจากขั้วให้ได้เห็นกันอีกครั้ง และพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมผลของมะพร้าวแฝด ผลนี้กันอย่างใกล้ชิด
จึงนับเป็นผลสำเร็จอีกก้าวของสวนนงนุชพัทยา ที่สามารถเพาะต้นมะพร้าวทะเล มีผลออกขยายพันธุ์อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ซึ่งผลมะพร้าวทะเลที่ตกออกมาลูกนี้เป็นเพศเมีย มีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีการตกผลมา ขนาดวัดได้ความยาว 17 นิ้ว กว้าง 11 นิ้ว น้ำหนักผลทั้งเปลือก 8.5 กก. และน้ำหนักผลไม่รวมเปลือก 6.5 กก.
***ปัจจุบัน สวนนงนุชพัทยา มีต้นมะพร้าวแฝด หรือมะพร้าวทะเล อยู่ในความดูแล จำนวน 25 ต้น และอยู่ในกระถางเพาะชำ จำนวน 3 ต้น ซึ่งเกิดจากผลของต้นที่ตกลูกนี้ ซึ่งอนาคตมีแนวโน้มจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม มูลค่าต่อผลมะพร้าว 1 ลูก จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 20,000 – 30,000 บาท ส่วนมากจะถูกนำไปทำเครื่องประดับ แต่ปัจจุบันถูกระบุเป็นพันธุ์ไม้หวงห้ามแล้ว
สำหรับมะพร้าวทะเล หรือมะพร้าวแฝด (LODOICEA MALDIVICA) มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเกาะเล็กๆ ในประเทศซีเซลล์ ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และหนักที่สุดในโลก มีความยาวมากถึง 12 นิ้ว และน้ำหนักประมาณ 40 ปอนด์ ลักษณะผลเหมือนมะพร้าว 2 ลูกติดกัน จนเป็นที่มาของชื่อ มะพร้าวแฝด หรือมะพร้าวก้นคน เป็นชื่อสามัญของปาล์มชนิดนี้ มีการเจริญเติบโตช้ามาก ผลใช้เวลาเป็นปีในการงอก และอีก 1 ปีสำหรับให้ใบแรก ถือเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง
ปาล์มชนิดนี้จากสถิติพบมีความสูงถึง 100 ฟุต ความยาวใบ 20 ฟุต และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 ฟุต แม้ชื่อสามัญจะมีชื่อว่า มะพร้าวแฝด แต่กก็ไม่ใช่มะพร้าว มีการเจริญเติบโตเหมือนปาล์มที่มีรูปพัด โดยมีเพศแยกออกไปคนละต้น ต้นเพศเมีย จะไม่ให้ผลจนกว่าจะมีอายุ 30 ปีขึ้นไป และบางต้นอาจมีระยะเวลาถึง 100 ปี