วันนี้เรามาทำการทดลองง่ายๆกันครับ อุปกรณ์คือกระจกเงาและลูกกะตาของเรานี่แหละ ทุกคนทำได้นะครับ
พวกเราทราบกันใช่มั๊บครับว่าเวลาที่เรามองไปยังวัตถุใดๆก็ตามแม้ว่ามันจะอยู่ใกล้กัน ลูกตาของเราก็จะมีการเคลื่อนที่เพื่อปรับโฟกัสครับ
ทีนี้เรามาลองส่องกระจกกันดู ให้ลองมองไปที่ตาข้างซ้ายของเราในกระจก จากนั้นก็มองไปที่ตาข้างขวา และลองมองตาของตัวเองทีละข้างสลับกันไปมาดูก็ได้ครับ จะพบว่าลูกกะตาของเรานั้นอยู่นิ่งๆไม่ได้เคลื่อนไหวเลยซักนิดเดียว
ทีนี้ลองยื่นกระจกให้เพื่อนแล้วให้เพื่อนทำเหมือนกับเรา แล้วลองมองหน้าเพื่อนนะครับจะเห็นว่าขณะที่เพื่อนกำลังมองตาของตัวเองในกระจกนั้น ลูกตาของเพื่อนเคลื่อนไหวไปมา แต่เขาก็จะไม่เห็นการเคลื่อนไหวนั้นเช่นกัน
เกิดอะไรขึ้นล่ะ?
ไม่ได้หมายความว่าตาของเราไม่ยอมทำงาน แต่ที่จริงสมองของเราพยายามตัดภาพอยู่เกือบตลอดเวลา และปฏิเสธที่จะประมวลผลภาพเหล่านั้น เมื่อใดก็ตามที่สายตาของเราเคลื่อนย้ายไปมา ตามหลักแล้วมันจะทำให้เกิดภาพเบลอ สมองจะไม่ประมวลผลภาพเหล่านั้น และเติมเต็มช่วงเวลานั้นด้วยภาพลวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้เรามองเห็นภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวของลูกตา
สมองของเราแทนที่ภาพเบลอด้วยภาพนิ่งของวัตถุต่อไปที่สายตาของเราโฟกัส ทำให้อะไรก็ตามที่เรามองเป็นอันดับถัดไปหลังจากการเบนสายตา จะอยู่นิ่งเป็นระยะเวลานานกว่าที่ควรจะเป็น
ช่องว่างของช่วงเวลาเหล่านั้นมันจะเสมือนกับเรามองไม่เห็นไปชั่วขณะ คือการมองเห็นจริงๆได้ถูกตัดออกไปเลย ประเมินกันว่าในแต่ละวันเราจะสูญเสียการมองเห็นไปรวมๆแล้วประมาณ 40 นาที
โดยทั่วไปแล้วเราเรียกภาพลวงตาที่มาเติมช่องว่างนี้ว่า "ภาพลวงตานาฬิกาตาย (stopped-clock illusion)" เพราะวินาทีแรกที่เราหันมามองหน้าปัดนาฬิกา วินาทีนั้นจะเป็นวินาทีที่เข็มนาฬิกาอยู่นิ่งนานที่สุด นักวิทยาศาสตร์เรียกกลไกการเติมช่องว่างนี้ว่า "Saccadic masking" ครับ