ย้อนประวัติศาสตร์ น้ำท่วมกรุงเทพ ครั้งใหญ่ พ.ศ.2485
ระยะหลังๆมานี้ พื้นที่ กรุงเทพมหานคร จะได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมขัง ถี่ขึ้นแต่ความจริงแล้วกรุงเทพฯ เคยประสบอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ซึ่ง 1 ในบรรดาเหตุการณ์ น้ำท่วมกรุงเทพ ที่เรียกได้ว่าเลวร้ายที่สุด ตราตรึงใจประชาชนชาวไทยมายาวนานนั่นก็คือเหตุการณ์ น้ำท่วมกรุงเทพ ปี 2485
น้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2485 ครั้งนั้น เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อครั้งที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น้ำได้ท่วมตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม
สถานการณ์ตอนนั้นน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปิง วัง ยม น่าน ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง และทางภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นปีหนึ่งที่มีน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์
สำหรับกรุงเทพฯ เมืองที่มีชัยภูมิเอื้อต่อการถูกน้ำท่วม แน่นอนว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2485 ได้เปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร (ของคนยุคนั้น) ให้กลายเป็นทะเล (น้ำจืด) ขนาดใหญ่ ที่ในหลายๆ พื้นที่มีคนนำเรือออกมาพายกันเป็นทิวแถว
ในขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2485 สร้างความเดือดร้อนและความยากลำบากให้กับประชาชนทั่วไป แต่ว่าส่วนใหญ่ก็เป็นความยากลำบากทุกข์ใจที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้ใหญ่ แต่ว่ากับเด็กๆ (ในยุคนั้น) หลายๆ คนกับรู้สึกแตกต่าง เพราะเมื่อนานๆ เข้าน้ำจะท่วมสูงถึงระดับที่สามารถลงแหวกว่ายและพายเรือได้ พวกเขาจึงใช้ช่วงเวลานี้เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ความรุนแรงของ น้ำท่วมกรุงเทพ ในสมัยนั้นทำให้จ้องจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรกันเลยทีเดียว โดยบันทึกไว้ในหนังสือ “เหตุการน์น้ำท่วม พ.ส.2485″ ของ กระซวงมหาดไทย (ภาษาที่ใช้เป็นภาษาตามต้นฉบับของหนังสือ ซึ่งเป็นภาษาไทยที่ใช้กันในสมัยนั้น) มีใจความที่น่าสนใจว่า
“…ด้วยปรากตว่า ฝนตอนต้นรึดูพุทธสักราช 2485 ตกมากทางภาคพายัพและภาคอิสาน เปนเหตไห้น้ำท่วมเรือกสวนไร่นา และบ้านเรือนราสดรทั้งภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอิสาน ไนระหว่างเดือนกันยายน ตุลาคม และพรึสจิกายน เปนอุทกภัยครั้งสำคันไนประวัติการน์น้ำท่วมของเมืองไทยที่ทำความเสียหายไห้แก่ประชาชนพลเมืองเปนหย่างมาก…”
ข้อมูลจาก หนังสือ “เหตุการณ์น้ำท่วม พ.ศ.2485″ ของ “กระทรวงมหาดไทย” และจาก “ข้อมูลสถิติน้ำท่วมสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร” พบว่า สาเหตุที่กรุงเทพฯ ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะสภาพภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายอ่าวไทย ด้วยเหตุนี้กรุงเทพฯ ในอดีตจึงมากไปด้วยคูคลอง จนได้รับการเรียกขานกันว่าเป็น “เวนิชตะวันออก”
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นหลายครั้ง
1.น้ำท่วม ปีมะเส็ง ปี 2328 ในรัชกาลที่ 1 ปีที่สร้างกำแพงพระนครและพระราชวังกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จ ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว
2.น้ำท่วม เดือนตุลาคม ปี 2362 ในรัชกาลที่ 2 ข้าวยากหมากแพงเหมือนครั้งแรก
3.น้ำท่วม เดือนพฤศจิกายน ปี 2374 ในรัชกาลที่ 3 ท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปีมะเส็ง
4.น้ำท่วม ปี 2460 ในรัชกาลที่ 6 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า จนมีกิจกรรมการแข่งเรือ
5.น้ำท่วม ปี 2485 เริ่มท่วมตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน 2485 น้ำท่วมมากกว่าปี 2460 เกือบเท่าตัว เนื่องจากฝนตกหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงมาก ไหลล้นคันกั้นน้ำทั้งสองฝั่ง วัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
6.น้ำท่วม ปี 2518 พายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน เป็นเหตุให้น้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพฯ
7.น้ำท่วม ปี 2521 เกิดจากพายุ 2 ลูกคือ “เบส” และ “คิท” พาดผ่าน และมีน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสักในปริมาณมาก ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออกเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ
8.น้ำท่วม พ.ศ. 2523 เกิดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับ สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ 2.00 เมตร ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วง 4 วัน สูงถึง 200 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
9.น้ำท่วม ปี 2526 น้ำท่วมรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคม วัดปริมาณฝนทั้งปี 2119 มม. มีปัญหาจราจรที่รถกับเรือใช้เส้นทางเดียวกัน ทำให้กรุงเทพฯต้องตกอยู่ในสภาพนํ้าท่วมสูงกว่า1 เมตรนานหลายเดือน
10.น้ำท่วม พ.ศ. 2529 ได้เกิดฝนตกหนักมากและตกติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 8 – 10 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากได้มีพายุจรนำฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีฝนตก 254 มม. ที่กรมอุตุนิยมวิทยา(บางกะปิ) และ 273 มม. ที่เขตราษฎร์บูรณะ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในบางพื้นที่
11.น้ำท่วม ปี 2533 ในเดือนตุลาคมพายุโซนร้อน “อีรา” และ “โลล่า” พัดผ่านภาคอีสาน ทำให้ฝนตกหนักในกรุงเทพฯถึง 617 มม.
12.น้ำท่วม ปี 2537 เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อ 7-8 พฤษภาคม 2537 วัดปริมาณฝนมากที่สุดที่เขตยานนาวา 457.6 มม. โดยเฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกกันว่า “ฝนพันปี” ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนทั่วกรุงเทพมหานคร
13.น้ำท่วม พ.ศ. 2538 มีฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา และมีสภาพฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เนื่องจากพายุ “โอลิส” ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง โดยวัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 มีค่าระดับสูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์(เท่าน้ำท่วมปี พ.ศ. 2485 ) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในระดับสูงถึง 50 – 100 ซ.ม.
14.นํ้าท่วมปี 2549 เกิดอุทกภัยใน 47 จังหวัด ทั่วประเทศ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีสภาพน้ำท่วมขัง ประกอบกับมีการผันน้ำเข้าเก็บกักเอาไว้ในพื้นที่ว่างเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำ ท่วมโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี และปทุมธานี รวมประมาณ 1.38 ล้านไร่ ต่อมาจังหวัดดังกล่าวไม่สามารถรับนํ้าได้ไหว นํ้าจึงไหลเข้าท่วมขังที่กรุงเทพฯ เกือบ 1 เมตร นานกว่าสัปดาห์
15.นํ้าท่วมปี 2554 นิยมเรียกกันว่า มหาอุทกภัย พายุหมุนนกเตนขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของเวียดนาม ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขง เริ่มตั้งแต่ 25 กรกฎาคมและสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 กินเวลาทั้งสิ้น 175 วัน มีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 และจัดให้เป็นภัยพิบัติครั้งมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก
ภาพจาก manager