ทัศนะของคุณหมอ ต่อกรณีพ่อฝรั่งอุ้มบุญ จะสามารถเลี้ยงลูกได้ดีแค่ไหน
สังเกตว่ากระแสสังคมตอนนี้ ต่างก็มีความหวังดีและเป็นห่วงหนูน้อยคนหนึ่ง ที่เกิดมาจากการอุ้มบุญที่เป็นปัญหา
แต่ทว่า...ด้วยความเห็นที่แตกต่าง
บางฝั่งก็เชียร์ให้เด็กน้อยได้กลับสู่ครอบครัว
บางฝั่งก็ตั้งข้อรังเกียจ... จะเลี้ยงลูกได้ยังไงผู้ชายทั้งคู่
บางฝั่งก็ไม่แน่ใจว่าเราจะไปทางไหนกันดี
หมอคงไม่พูดในเรื่องกฏหมายเลยนะคะ เพราะไม่รู้อะไรมากจริงๆ ค่ะ ^^"
แต่อยากพูดในฐานะหมอที่ต้องทำงานกับครอบครัว
หมอคิดว่าหลายครั้ง ที่เราถูกบอกให้ติดกับดัก กับคำว่า "ครอบครัว"
"ครอบครัว" ที่มักถูกแปลว่าจะสมบูรณ์ได้ ต้องเป็นครอบครัว "ที่มีครบ"...
พ่อแม่และลูก (ลูกนี่บางทีมีคนเดียวก็ไม่ได้ เค้าบอกมันไม่สมบูรณ์ --")
ในฐานะเป็นหมอที่ทำงานกับครอบครัวมาชั่วชีวิต
หมอพบว่าหลายครอบครัวที่มีพร้อมหน้าพ่อและแม่ ลูกก็อาจเติบโตอย่างย่ำแย่ เพราะพ่อแม่แทบไม่สนใจเลี้ยง
ในขณะที่เด็กหลายคนเติบโตมากับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กหลายคนกลับมีความสุขเพราะบ้านสุขสงบ ลูกได้รับความรักเป็นอย่างดี
เด็กหลายคนก็โตมากับปู่ย่าตายาย หรือแม้กระทั่งกับหลวงตา แต่ก็ได้รับความเอาใจใส่ ที่ทำให้เติบโตไปอย่างมีศักยภาพ
คนไข้หมอหลายคนตอนเรียนอยู่อเมริกา เติบโตมากับพ่อแม่ที่เป็นชายกับชาย หญิงกับหญิง เด็กเหล่านี้ร่าเริงสดใส เพราะได้รับความรักและการเอาใจใส่ จากคนที่ "ตั้งใจเลี้ยง"
ทั้งๆ ที่เด็กเหล่านั้น หลายคน "ไม่ใช่ลูกแท้ๆ" แต่เป็นแค่เด็กที่มาจากการรับมาอุปการะ
ในขณะที่ลูกแท้ๆ ของพ่อแม่หญิงชาย หลายคนก็ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจจากคน...ที่ควรจะรักเค้า
หมอเล่าตัวอย่างข้างต้น เพื่อให้เรามีมุมมองที่เปิดกว้างกับคำว่า"ครอบครัว" และมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้น
"ความหลากหลายทางเพศ" ที่ปัจจุบันทางการแพทย์เชื่อแล้วว่า ไม่ได้เป็นความผิดปกติ ไม่ได้เป็นโรค ไม่ได้เป็นสิ่งที่เรา "เลือกหรือกำหนดได้" แต่เป็นเพียงความแตกต่างหลากหลายทางธรรมชาติ ที่จริงๆ แล้วก็มีในสัตว์เกือบทุกประเภท
งานวิจัยในต่างประเทศได้ทำการสำรวจและติดตามลูก ที่ถูกเลี้ยงดูโดยคู่รักเพศเดียวกัน (ซึ่งมีทั้งขอมาเลี้ยงหรือใช้วิวัฒนาการทางการแพทย์) เทียบกับลูกจากพ่อแม่ชายหญิง
แทบทุกงานวิจัยพบว่าเด็กๆ เหล่านี้ไม่มีปัญหาอะไรที่มากไปกว่าจากพ่อแม่หญิงชาย รวมถึงไม่มีความหลากหลายทางเพศที่แตกต่าง
ที่น่าสนใจคืองานวิจัยบางอัน พบว่าความสุขในของชีวิตเด็กเหล่านี้กลับดีกว่าความสุขของเด็กที่เกิดกับพ่อแม่หญิงชาย... ที่ก็อธิบายได้จากการตั้งใจให้ความรักจากคนที่ "ตั้งใจดูแล"
การมีลูกของคนที่เป็นคู่เกย์หรือเลสเบี้ยนในต่างประเทศ จึงถูกยอมรับให้เป็นเรื่องที่ถูกกฏหมายเพราะทุกอย่างอธิบายจากงานวิจัยไม่ใช่แค่ความเชื่อ
หมอเขียนมาซะยาว เพียงแค่อยากบอกว่า...
สำหรับหมอคำว่า "ครอบครัวที่ดี" ไม่ใช่ครอบครัวที่มีพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก
แต่เป็นครอบครัวที่เด็กอยู่แล้ว "มีความสุข" "เกิดความอบอุ่น"
จะเป็นแม่คนเดียว พ่อคนเดียว พ่อสองคน แม่สองคน ยังไงก็ได้ ที่มีความรักให้พอเพียง
หมอเชื่อว่าสุดท้ายความรักและความสุขในชีวิตลูก ก็จะทำให้เด็กเข้าใจ ภูมิใจ และยอมรับได้ถึงความแตกต่าง
เด็กๆ ไม่ได้ต้องการพ่อแม่... "ที่ดีพร้อม"
แต่เค้าต้องการใครสักคน.... "ที่ดีพอ"
คนที่มีใจพร้อม "ที่จะเป็นพ่อและแม่" ... แค่นั้นเอง
สนับสนุนอย่างที่สุดให้คาร์เมน ได้กลับสู่ "ครอบครัวที่ดีพอ" ค่ะ
#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ผู้อยากให้เด็กคนหนึ่งได้กลับไปสู่ครอบครัวที่แท้จริง
รบกวนช่วยกันเผยแพร่ด้วยนะคะ #bringcarmenhome
ขอบคุณภาพจาก internet