ความพิการบกพร่องทางร่างกาย ทำให้เกิดอาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชังได้อย่างไร ?
อดัม เพียร์สัน ถูกจ้องมองในทุกที่ที่เขาไป บ่อยครั้งที่การจ้องมองและเสียงกระซิบกระซาบกลับกลายเป็นความรุนแรง เขาได้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาชญากรรมซึ่งมาจากความเกลียดชังให้บีบีซีทราบดังนี้ค่ะ
เพียร์สันเล่าว่า ตกเป็นเป้าสายตาตลอดเวลา เพราะมีรูปร่างหน้าตาที่ผิดแผกไปจากชาวบ้าน ทั้งต้องอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน ทำให้เรื่องง่าย ๆ อย่างเวลาไปไหนมาไหนในแต่ละวัน ก็ต้องถูกจ้องมอง ถูกชี้นิ้ว เจอเสียงกระซิบนินทา
เพียร์สันเป็นโรคท้าวแสนปมชนิดที่ 1 ซึ่งจะมีติ่งเนื้องอกผิดปกติตามปลายเส้นประสาททั่วร่างกาย โดยในกรณีของเขานั้น เกิดเนื้องอกขึ้นมาที่ใบหน้า เขาบอกว่า เข้าใจดีว่าทำไมคนถึงจ้องมอง เพราะอาการผิดปกติทางรูปร่างหน้าตาไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึงในสื่อทั่วไปนัก ดังนั้นผู้คนจึงไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรดีเมื่อพบเห็นคนที่มีลักษณะอย่างเขา แม้การจ้องมองและกระซิบกระซาบไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง แต่ก็ทำให้เขาอดรู้สึกไม่ได้ถึงอคติที่ผู้คนมี และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้
เพียร์สันไม่ชอบที่มีคนจ้องมองตลอดเวลา แต่นี่จะเรียกว่าเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังคนพิการก็ไม่ถูกนัก เพราะอาชญากรรมจากความเกลียดชังเป็นเรื่องที่ร้ายแรงกว่านี้ แต่พฤติกรรมจ้องมองกระซิบกระซาบ หากปล่อยไว้อาจบ่มเพาะให้กลายเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังได้ การชี้นิ้วและการจ้องมอง อาจนำไปสู่การตั้งชื่อล้อหยาบคาย โดยเฉพาะตอนกลางคืนถ้ามีเหล้าเข้าปากคนเหล่านี้ด้วย เพียร์สันบอกว่าโดนพูดกระทบกระเทียบเป็นประจำตอนอยู่ในผับ โดยถูกเรียกด้วยชื่อต่าง ๆ นานา เช่น หน้าคางคก หน้าปูด ท้าวแสนปม เขาเห็นว่า การเรียกชื่อแบบนี้แหละที่เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง
สมัยที่เพียร์สันยังเป็นนักเรียน เพื่อนเขาคนหนึ่งชื่อลูคัส ซึ่งมีรูปหน้าผิดปกติก็ถูกล้อเลียนและรังแกเหมือนกัน ทางโรงเรียนก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ครูก็ปล่อยปละละเลย เพราะมีทัศนคติที่ว่า เป็นการหยอกเล่นตามประสาเด็กผู้ชาย เพียร์สันเห็นว่าทัศนคติแบบนี้แหละที่เป็นอันตราย เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่บ่มเพาะให้คนเราได้เรียนรู้ว่า ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัวอย่างไร อุปนิสัยของเด็กที่โรงเรียนจึงเป็นเสมือนแม่พิมพ์ของผู้ใหญ่ในอนาคต ดังนั้นการตีค่าพฤติกรรมดังกล่าวที่โรงเรียนว่าเป็นเพียงแค่การหยอกล้อ ก็เท่ากับส่งสัญญาณว่ามันไม่ใช่อาชญากรรมนั่นเอง
สมัยนี้โรงเรียนต่างๆเอาจริงเอาจังกับเรื่องการกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน มากกว่าในสมัยของเพียร์สันเมื่อ 15 ปีก่อน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเขาได้ทำงานเป็นจิตอาสาในโครงการที่มีชื่อว่า Changing Faces เพียร์สันไปตามโรงเรียนต่าง ๆ และพูดคุยกับเด็กนักเรียน โดยต้องการสอนให้เด็กนักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับความพิการตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังเป็นเด็ก เพื่อพวกเขาจะได้รู้ว่า คำพูดและการกระทำส่งผลกระทบต่อผู้พิการอย่างไรบ้าง
อาจมีคนคิดว่า เขาจะต้องเข้มแข็งและอดทนกว่านี้ แต่เพียร์สันเห็นว่าทัศนคติแบบนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เมื่อเกิดคดีอาชญากรรมจากความเกลียดชังคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กหรือใหญ่ ส่วนใหญ่สังคมไม่ให้ความสำคัญเท่ากับคดีอาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชังรูปแบบอื่น หากมองดูกฎหมายก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า กฎหมายอาชญากรรมจากความเกลียดชังคุ้มครองเพียงกลุ่มคน 5 กลุ่มในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา เพศวิถี คนข้ามเพศ และความพิการ ถึงกระนั้นก็ตาม ความพิการไม่ถูกจัดให้อยู่ในกฎหมายอาชญากรรมจากความเกลียดชังบางฉบับ
เพียร์สันบอกว่า อาชญากรรมจากความเกลียดชังคนพิการถูกจัดว่าเป็นความผิดในขั้นลหุโทษ ขณะที่อาชญากรรมในเรื่องเชื้อชาติและศาสนาจัดเป็นความผิดขั้นรุนแรง หมายความว่า หากใครทำร้ายเขาเพราะเขาพิการ ผู้พิพากษาก็จะลงโทษสถานเบา แต่ถ้าถูกทำร้ายเพราะเชื้อชาติหรือสีผิวกลับถูกให้ลงโทษสถานหนัก ตอนที่เพียร์สันรู้เรื่องนี้ เขาบอกว่ารู้สึกขัดใจมาก เพราะไม่เห็นว่ามีความเท่าเทียมกันเลย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายอาจทำได้ยาก แต่ทัศนคติอาจปรับได้ง่ายกว่า เพียร์สันยืนยันว่า การให้คนได้เห็นความบกพร่องทางรูปร่างหน้าตาจนชิน จะช่วยลดอคติในเรื่องดังกล่าวลงได้ เพราะเขาเคยร่วมทดลองเรื่องนี้กับศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมที่มหาวิทยาลัยลัยอ๊อกซฟอร์ดมาแล้ว
เพียร์สันฝากทิ้งท้ายว่า เขาเชื่อว่าคนเราเปลี่ยนกันได้ และอคตินั้นเกิดจากความหวาดกลัว ดังนั้นถ้าให้การศึกษาและให้คนได้พบเห็นความบกพร่องความพิการโดยไม่ปิดบัง ก็จะทำให้คุ้นเคยขึ้น และจะช่วยลดทัศนคติที่เป็นลบลงได้ ทั้งจะช่วยลดคดีอาชญากรรมจากความเกลียดชังคนพิการลงด้วย บ่อยครั้งที่เขารู้สึกว่า การณรงค์ของเขาเป็นเหมือนน้ำเพียงหยดหนึ่งในมหาสมุทร แต่หากไม่มีหยดน้ำ ก็จะไม่มีมหาสมุทรเช่นกัน