กะลาสีเรือคือใครมีหน้าที่อะไร และยังมีอาชีกะลาสีเรือในเมืองไทยอีกหรือไม่ครับ?
อย่างไรก็ตาม ความหมายระดับแคบ กะลาสีอาจหมายถึงทหารเรือหรือลูกเรือระดับล่างเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับสูง เช่น กัปตัน ต้นหน ต้นกล เป็นต้น
กะลาสี ยังเป็นตำแหน่งในหน่วยงานราชการ เช่น กรมศุลกากร มีตำแหน่ง "กะลาสี" ซึ่งมีอัตราเงินเดือนเทียบเท่ากับยาม และพนักงานประจำเรือ คือ 4,100 บาท (พ.ศ. 2548) ในเมืองไทยยังมีการประกาศรับสมัครกะลาสีอยู่ เช่นที่บริษัทซีทรานดิสคัฟเฟอร์รี่ ( เกาะสมุย ) มักจะรับเพศชาย ไม่จำกัดวุฒิ
คำว่า "กะลาสี" ในภาษาไทย มีที่มาจากศัพท์ในภาษามลายู ว่า "กะลาสิ" ซึ่งภาษามลายูรับจากคำศัพท์ "ขะลาสิ" ในภาษาเปอร์เซียอีกทอดหนึ่ง
ชุดกะลาสีมีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยเรือใบ เดิมทีกะลาสีเรือไม่มีชุดเครื่องแบบตายตัว จะมีก็แต่นายทหารที่มีชุดเครื่องแบบ ซึ่งต่างจากทหารบกที่มีชุดเครื่องแบบทุกชั้นยศเพื่อให้แยกแยะฝ่ายออกเวลาทำการรบบนบก ส่วนกะลาสีเรือใบนั้นเป็นงานที่หนักและยากลำบากทำให้เรือรบในสมัยก่อนหาลูกเรือประจำได้ยาก ที่มาของกะลาสีเรือจึงมักเป็นขี้เมาข้างถนนและกุ๊ยที่ไม่มีที่ไป ซึ่งในสมัยนั้นเรือรบมักกำหนดการแต่งการของกะลาสีเรือกันเองเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยได้พัฒนาเป็นระเบียบกำหนดชุดเครื่องแบบสำหรับกะลาสีเรือในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
ชุดกะลาสีในปัจจุบันมีรูปแบบใกล้เคียงกันในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งก็มีที่มาจากชุดกะลาสีในสมัยโบราณนั่นเอง โดยลักษณะเด่นของชุดคือเป็นเสื้อปกกว้างมีผ้าผูก กับกางเกงขากว้าง สีของชุดมักเป็นสีน้ำเงินดำหรือสีขาว
ปกกว้างสีเข้มของชุดกะลาสีมีความเป็นมาจากในสมัยก่อนที่ความเป็นอยู่ในเรือยังไม่สะดวกสบายนัก รวมทั้งน้ำจืดภายในเรือมีปริมาณจำกัด ชาวเรือที่ออกเรือไปในทะเลเป็นเวลานานจึงมักไม่มีโอกาสได้อาบน้ำตัดผมให้เป็นที่เรียบร้อย จึงมักรวบผมและลงน้ำมันเพื่อไม่ให้ชี้ฟูรุงรัง โดยปกเสื้อแบบกว้างสีเข้มใช้สำหรับป้องกันไม่ให้ชุดเปื้อนน้ำมันจากผม
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันกะลาสีเรือเลิกไว้ผมยาวและตัดผมสั้นเรียบร้อยดีแล้ว ปกเสื้อกะลาสีจึงเหลือเป็นเพียงธรรมเนียมปฏิบัติเดิม และกองทัพเรือบางประเทศได้เปลี่ยนสีปกเสื้อเป็นสีขาวเพื่อให้เข้ากับชุดกะลาสีสีขาว (ชุดกะลาสีไทยยังใช้ปกสีเข้มอยู่) นอกจากนี้การทำงานในเรือสมัยก่อนมักเป็นงานแรงงานบนดาดฟ้า ไม่เหมือนเรือสมัยใหม่ที่ติดเครื่องปรับอากาศ จึงมีผ้าผูกคอเสื้อสีเข้มไว้สำหรับซับเหงื่อไคลแทนการเช็ดแขนเสื้อ
ในส่วนของกางเกง เป็นกางเกงปลายขากว้างไม่มีซิป แต่ใช้ติดกระดุมและมีเชือกผูกแทน โดยกระดุมจะอยู่ทางด้านข้างของกางเกง ซึ่งทำให้เข้าห้องน้ำลำบากพอสมควร ซึ่งสมัยนี้อาจจะเปลี่ยนเป็นซิปกันไปแล้ว หรือบางคนก็ทำเป็นซิปซ่อนไว้ใต้กระดุมเพื่อรักษาธรรมเนียมปฏิบัติเดิมอยู่ แต่ทำไมต้องเป็นกระดุม? (และทำไมต้องเป็นกระดุมข้าง?)
การที่กางเกงกะลาสีเป็นกระดุมและมีขากว้างก็เพื่อให้สามารถถอดกางเกงได้ง่ายเวลาตกน้ำโดยไม่ต้องถอดรองเท้า (ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหลังจากขึ้นจากน้ำได้) โดยเชือกและกระดุมสามารถปลดเพื่อถอดกางเกงได้ง่ายเวลาเปียกน้ำ
ในขณะที่ซิปอาจเกิดติดขัดได้เมื่อเปียกน้ำ และกางเกงที่ถอดออกมาสามารถนำมาผูกขาและตีลมเข้าไป (คล้ายๆ ตีโป่งผ้าเปียก) เพื่อใช้เป็นชูชีพฉุกเฉินได้ เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีเสื้อชูชีพสำหรับผู้ปฏิบัติงานบนดาดฟ้าซึ่งอาจจะตกน้ำไปได้ และการฝึกใช้กางเกงเพื่อทำเป็นชูชีพฉุกเฉินยังคงมีอยู่ในกองทัพเรือชาติตะวันตกหลายประเทศ ส่วนตำแหน่งของกระดุมซึ่งอยู่ด้านข้างก็เพื่อให้ไม่ประเจิดประเจ้อในกรณีที่กระดุมหลุดนั่นเอง