"ยาดอง"....กินพอเป็นยา
ยาดอง คือ การหมักสมุนไพรหรือการแช่สมุนไพร เพื่อเป็นโอสถหรือยารักษาโรคต่างๆ มีสรรพคุณช่วยในการไหลเวียนโลหิต แก้ปวดเมื่อย บำรุงร่างกาย ปรับสมดุลร่างกาย ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ดังนั้น ยาดอง จึงถือได้ว่าเป็นยาอายุวัฒนะ เมื่อกินถูกกับโรค ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะทำให้อายุยืน ทั้งนี้ การดองเป็น 1 ใน 28 วิธี การทำยาของไทย เป็นวิธีในการสกัดยาอย่างหนึ่งจากสมุนไพร การดองจึงมีสารสำคัญออกมาในปริมาณที่มีความเข้มข้น ดังนั้น การกินยาดอง จึงควรกินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ยาดองแพทย์แผนไทย แบ่งได้ 6 แบบ คือ
1. ยาดองสุรา ซึ่งเป็นการนำสุรามาเป็นตัวสกัดโอสถสารในสมุนไพรออกมา เนื่องจากสุราสามารถฆ่าเชื้อได้ดี ซึ่งความเข้มข้นของสุราที่นิยมนำมาดองสมุนไพร คือ 40 ดีกรี วิธีกิน ให้กินวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ครั้งละ 30 ซีซี แต่มีข้อควรระวัง คือ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่แพ้สุรา ควรหลีกเลี่ยง
2. ยาดองแป้งข้าวหมาก เป็นการนำสมุนไพรมาดองกับแป้งข้าวหมากหรือลูกข้าวหมาก โดยสมุนไพรที่นำมาดองนั้นจะเป็นสมุนไพรที่มีน้ำตาลสูง อีกทั้ง แป้งข้าวหมากเมื่อหมักเป็นเวลาสักระยะหนึ่งจะเกิดเป็นแอลกอฮอล์ ดังนั้น จึงสามารถใช้ในการควบคุมเชื้อต่างๆ ได้ดี และยังช่วยในเรื่องของการย่อยอาหารได้ดีอีกด้วย
3. ยาดองเกลือ เป็นการหมักโดยใช้เกลือเป็นตัวสกัดสารสำคัญในตัวยา เนื่องจากเกลือมีรสเค็ม และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้ดี ยาดองเกลือเป็นการดองที่ไม่ใช้น้ำ แต่จะใช้การโรยเกลือสลับกับการวางสมุนไพรเรียงเป็นชั้นๆ จนเต็มภาชนะและดองทิ้งไว้
4. ยาดองน้ำผึ้ง เป็นการดองโดยใช้ความเข้มข้นของน้ำตาล ที่เลือกใช้น้ำผึ้งเป็นตัวสกัดสารสำคัญในตัวยาออกมานั้น เพราะน้ำผึ้งจะทำการดึงน้ำออกมาจากสมุนไพร และยังเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย บำรุงร่างกาย โดยตัวอย่างยาดองน้ำผึ้ง เช่น ยอดองน้ำผึ้ง บอระเพ็ดดองน้ำผึ้ง มะขามป้อมดองน้ำผึ้ง กล้วยดองน้ำผึ้ง เป็นต้น
5. ยาดองเปรี้ยว เป็นการดองโดยใช้สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว มีฤทธิ์การควบคุมเชื้อแบคทีเรียได้ดี มีสรรพคุณ เป็นยาบำรุงเลือด ยาฟอกเลือด ยาระบายอ่อน เช่น ยาดองน้ำส้มสายชู ยาดองน้ำมะนาว ยาดองน้ำมะกรูด
6. ยาดองน้ำมูตร (น้ำมูตร หรือน้ำปัสสาวะ) เป็นการดองในสมัยโบราณ โดยมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกว่า “ให้พระภิกษุฉันยาดองน้ำมูตร เพื่อรักษาอาการอาพาธ” ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวซึ่งมีฤทธิ์ในการควบคุมการก่อเชื้อ และจากการศึกษาพบว่า น้ำปัสสาวะ มีความเค็มและมียูเรียเป็นองค์ประกอบ จึงทำให้ปัสสาวะมีประสิทธิภาพในการุคมเชื้อเพิ่มมากขึ้น มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ลดไข้ ขับพิษต่างๆ ได้ เช่น สมอดองน้ำมูตร
(เครดิตภาพ : Chill up, phuketthaitraditional, ปาริชาติ)