“ชุมพร1” ปลาหมอไซด์ใหญ่ ถูกอกเกษตรกรไทย ติดใจผู้บริโภค
คุณสุรพินโญ พลาพล หรืออาจารย์โญ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ผันตัวมาเอาดีด้านการเกษตร ภายใต้ชื่อ “ไร่พอเพียงตามรอยพ่อ” ซึ่งเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ เลขที่ 14/ 2 หมู่ 7 ตำบลสามพวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นผู้หนึ่งที่เลือกการเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์ปลาหมอชุมพร1 เพื่อสร้างรายได้ ให้ข้อมูลกับ “เกษตรกรก้าวหน้า” ว่าปลาหมอชุมพร1 เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ โดยการรวบรวมสายพันธุ์ปลาหมอไทยจากทั่วประเทศ คล้ายกับการพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ชนิดอื่น อย่างไก่ หรือ โค โดยคัดสายพันธุ์ที่ดีที่สุดจากพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงพันธุ์ ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาวิจัยในการปรับปรุงพันธุ์นานกว่า 10 ปี จนประสบความสำเร็จเป็นปลาหมอชุมพร1 ให้เกษตรกรได้นำไปเลี้ยงอยู่ในปัจจุบัน
โดยปกติแล้ว ปลาหมอชุมพร1 ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 4 เดือน จะได้ปลาขนาด 3-6 ตัว/กิโลกรัม แต่สำหรับลูกพันธุ์ของฟาร์ม เกษตรกรนำไปเลี้ยงเพียง 3 เดือนเท่านั้น เนื่องจากที่ฟาร์มจำหน่ายลูกพันธุ์ขนาดใหญ่ 4-6 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เกษตรกรนำไปเลี้ยงแล้วมีอัตรารการรอดสูง ต่างจากลูกพันธุ์ขนาดเล็ก หรือปลาใบมะขาม ซึ่งมักน็อกน้ำหรือถูกศัตรูจำพวกแมลงโจมตีได้ง่าย อย่างเช่น ตัวโม่งของแมลงปอ สามารถโจมตีปลาใบมะขามได้ถึง 20 ตัวใน 1 นาที ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงของเกษตรกรอย่างยิ่งในการเลี้ยงปลาระยะนี้
เรื่องของพันธุกรรมก็มีผลโดยตรง ทั้งกับประสิทธิภาพการเลี้ยงและราคาจำหน่าย ซึ่งเกษตรกรมือใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ มักได้ลูกพันธุ์ไม่ใช่พันธุ์แท้มาเลี้ยง ทำให้อัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ที่สำคัญจำหน่ายไม่ได้ราคา ดังนั้นเกษตรกรต้องเลือกแหล่งพันธุ์ที่เชื่อถือได้ หรือต้องศึกษาลักษณะของปลาหมอชุมพรให้ดี เพื่อใช้พิจารณาในการตัดสินใจเลือกแหล่งพันธุ์ สำหรับลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นปลาหมอชุมพร1 คือ หัวเล็ก ตัวใหญ่เหมือนรูปใบไม้ และใหญ่กว่าปลาหมอพันธุ์อื่น ๆ ส่วนสีไม่แตกต่างจากปลาหมอทั่วไปนัก ที่สำคัญเนื้อมาก เนื้อแน่น มีรสชาติที่อร่อย
สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงปลาหมอชุมพร1 อาจารย์โญแนะนำว่า ต้องดูพื้นฐานของต้องเองก่อนว่ามีความพร้อมแค่ไหน ทั้งความรู้ในการเลี้ยงการจัดการ ในท้องถิ่นหรือพื้นที่ใกล้เคียงมีตลาดรองรับหรือไม่ มีความชอบในอาชีพเกษตรไหม มีเวลาที่มาจัดการดูแลมากน้อยแค่ไหน และต้องมีเงินทุนสำรองในการขุดสระ เตรียมบ่อ ค่าพันธุ์ และค่าอาหารที่ต้องใช้ตลอดการเลี้ยงด้วย ซึ่งหากมีความพร้อมทุกด้านที่กล่าวมาก็สามารถเลี้ยงได้
“ปลาหมอชุมพร1 สามารถเลี้ยงได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในบ่อปูน บ่อพลาสติก กระชัง หรือแม้แต่ในพื้นที่เล็กตามในเมืองก็สามารถเลี้ยง (ไว้รับประทานเอง) ได้ แต่ถ้าเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ แนะนำให้เลี้ยงในบ่อดินดีที่สุด เพราะต้นทุนต่ำและสามารถกระตุ้นการกินของปลาได้ง่าย เช่นใช้การถ่ายเทน้ำออกจากบ่อ ทำให้ปลาสดชื่นและกินอาหารได้ดี รวมถึงการใช้เกลือเม็ดผสมกับปูนขาวใส่ลงในน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้นและปลาก็สดชื่นขึ้นด้วย ทั้งนี้เกลือช่วยให้ปลากระชุ่มกระชวย และเกลือยังมีแร่ธาตุบางอย่าง และมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดค่าแอมโมเนียของน้ำ อากาศในน้ำจะดีขึ้น ปลาจะไม่เครียด กินอาหารได้มากและสุขภาพแข็งแรง”
หากเกษตรกรขุดสร้างพื้นที่ 1 ไร่ สามารถเลี้ยงปลาหมอชุมพร1 ได้ถึง 50,000 ตัว แต่บ่อต้องมีความลึกที่ 2-2.5 เมตร เนื่องจากหากบ่อมีปริมาณน้ำที่มาก อากาศในน้ำก็ถ่ายเทได้ดี ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของปลาโดยตรง ขณะที่หากบ่อตื้น ปริมาณน้ำในบ่อไม่มากพอ ซึ่งบ้านเราเป็นเมืองร้อนอุณิหภูมิของน้ำค่อนข้างสูง หากมีฝนตกลงมาปลาก็มีโอกาสน็อกน้ำได้
“รูปแบบการเลี้ยงที่ผมใช้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยน้ำเขียวลงในบ่อหรือต้องนำมูลโคมาใส่เพื่อให้แพลงตอนเจริญเติบโต เนื่องจากปลาหมอชุมพรเป็นปลากินเนื้อ ไม่ใช่ปลากินพืชจึงไม่จำเป็นต้องมีแพลงตอนในบ่อ ที่สำคัญปลาหมอชุพร1 ค่อนข้างแข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมเท่าไรนัก การเตรียมบ่อเลี้ยง ให้เตรียมก่อนนำปลาลงเลี้ยงเพียง 4-5 วันเท่านั้น ไม่ต้องเตรียมน้ำในบ่อไว้นานเป็นเดือน เนื่องจากแมลงที่เป็นศัตรูของลูกปลาอาจมาวางไข่ได้ ซึ่งวิธีป้องกันแมลงที่อยู่ในน้ำทำได้โดย นำน้ำมันพืชประมาณ 1 ลัง เทลงไปในบ่อ ทำให้แมลงวางไข่ไม่ได้ ซึ่งวิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับลูกปลา”
สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงช่วงแรก ใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (อาหารปลาดุกเบอร์ 1) เมื่อลูกปลาโตขึ้นก็เปลี่ยนมาใช้อาหารสำหรับปลาดุกเบอร์ 2 หรือให้กินอาหารกบก็ได้ เพราะมีโปรตีนที่สูงกว่า โดยให้ช่วงเช้าและเย็น เฉลี่ยตลอดการเลี้ยง 3 เดือน บ่อเลี้ยงจำนวน 50,000 ตัว ต้องใช้อาหารประมาณ 120-150 กระสอบ (ปัจจุบันกระสอบละ 500 บาท) นับว่าเป็นต้นทุนที่สูงมาก แต่ถ้าเกษตรกรเลี้ยงแล้วมีอัตราการรอดสูง ก็จะได้รับกำไรไปเต็ม ๆ อย่างแน่นอน เกษตรกรที่เลี้ยงแล้วประสบปัญหาขาดทุน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปลาตายนั่นเอง
“การให้อาหารปลาหมอชุมพร1 ที่เลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่ ว่าต้องให้จำนวนที่แน่นอนเท่าไร คำนวณได้ค่อนข้างลำบาก แต่ใช้วิธีการประมาณ ซึ่ง 1 เดือนแรก ให้อาหารปลาดุกเบอร์ 1 ตลอด แล้วเปลี่ยนมาให้เป็นอาหารปลาดุกเบอร์ 2 ในเดือนถัดมา หรือให้ใช้การสังเกตจากขนาดตัวและปากของปลา ซึ่งถ้าปลาตัวโตขึ้นหน่อยก็เปลี่ยนสูตรอาหารที่เม็ดใหญ่ขึ้น การเลี้ยงปลาหมอชุมพร1 ในเชิงพาณิชย์ ไม่จำเป็นต้องให้แมลงเป็นอาหาร แต่ให้เน้นอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนเป็นหลัก เลี้ยงด้วยอาหารกบหรืออาหารปลาดุกเบอร์ 2 ไปจนกว่าจะทำการจับขายได้ ซึ่งเกษตรกรมีกำไรแน่นอน”
ด้านการตลาดของปลาหมอชุมพร1 วิธีง่าย ๆ ก็คือ ไปติดต่อตามร้านค้าหรือแผงปลาในตลาดในพื้นที่ ร้านละประมาณ 5-10 กิโลกรัม แล้วบริการไปส่งให้ทุกวัน อาจจะต้องเหนื่อยหน่อยในช่วงแรก แต่ถ้าผ่านไปสัก 1-2 เดือน สินค้าเริ่มติดตลาดแล้ว ปลาที่เลี้ยงไว้หลายหมื่นตัวเชื่อว่าไม่พอจำหน่ายอย่างแน่นอน ซึ่งอาจต้องรับปลาจากเกษตรกรรายอื่นมาขายด้วยซ้ำ เพราะราคาที่ขายหน้าบ่ออยู่ที่กิโลกรัม 75-90 บาท ตามขนาด แต่มาขายส่งที่ตลาดได้ถึงกิโลกรัมละ 110-120 บาท ซึ่งมีกำไรอยู่พอสมควร หรือเกษตรกรอาจไปเปิดตลาดใหม่ ๆ โดยการออกร้านตามงานในท้องถิ่นหรือร่วมกับหน่วยงานในชุมชน แปรรูปเป็นปลาหมอเผาเกลือพร้อมน้ำจิ้ม ซึ่งเป็นอีกช่องที่สร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
อาจารย์โญ บอกว่าเกษตรกรที่เลี้ยงปลาหมอชุมพร1 ประมาณ 20,000 ตัวขึ้นไป แนะนำว่าให้ไปลงทะเบียนกับกรมประมงหรือศูนย์วิจัยประมงเพื่อการันตีคุณภาพสินค้า พร้อมพิสูจน์ว่าสินค้าคุณภาพ ไม่มีสารเคมีตกค้างหรือใช้ยาปฏิชีวนะ และแนะนำให้ออกแบบป้ายไวนิลหรือเอกสารรับรองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เป็นที่รู้จัก ขยายตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีกำไรจากการเลี้ยงมากขึ้น
สำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่เลี้ยงปลาหมอชุมพร1 ครั้งแรก แนะนำให้เลี้ยงไม่เกิด 30,000 ตัว เพราะเป็นจำนวนที่เหมาะสมสำหรับทำตลาดในพื้นที่เองได้ไม่ยาก หากมีช่องทางจำหน่ายแล้วค่อยขยายปริมาณการผลิต” อาจารย์โญ กล่าวในที่สุด