"รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม" สำนวนไทยนี้ คุณเข้าใจถูกไหม
ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสำนวน "รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม" หลังจากอ่านหนังสือเรื่อง "สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)" ของอาจารย์ฉันทิชัย ที่ตีพิมพ์นิตยสารตำรวจตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ ท่านเล่าว่า ภิกษุสามเณรสมัยก่อนเวลาได้รับกิจนิมนต์ต้องไปแสดงพระธรรมเทศนา ต้องมีคัมภีร์ห่อด้วยตาดทองหรือไหมอย่างเทศ "ใส่บ่าแบกตามหลังไปด้วย" แล้วขึ้นธรรมาสน์เทศตามอรรถในคัมภีร์ไปเลย น้อยคนนักจะเทศตามปฏิภาณโวหารอย่างสมเด็จโต
ผมอ่านแล้วเข้าใจสำนวนนี้ในทันทีว่า สิ่งใส่บ่าแบกหามในสำนวน คือ คัมภีร์ปกรณ์ความรู้ต่างๆ นั่นเอง ไม่ใช่ตัวความรู้ที่เป็นนามธรรม ยิ่งคนสมัยก่อนนั้นทำอะไรต้องพึ่งหนังสือใบลานตำราสมุดข่อยและนับถือกันมาก เวลาอ่านต้องกราบแล้วกราบอีก เวลาถือต้องยกขึ้นสูง ไม่แปลกที่เจ้ากูจะแบกหามคัมภีร์ขึ่้นไหล่ไปเทศน์ เพราะไหล่นั้นอยู่สูงเทียมศีรษะอยู่แล้ว
ผมลองสำรวจดู พบว่ามีคนอธิบายสำนวนนี้ด้วยภาพโดยเขียนรูปคนถือหาบคอนเพื่อที่จะลากเข้าวลี "ใส่บ่าแบกหาม" ซึ่งที่จริงควรผิด ผมตรวจคำอธิบายของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ครูบาอาจารย์ด้านภาษาไทย ท่านอธิบายไว้ในหนังสือ "สำนวนไทย" ว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้สำนวนนี้ในบทละครเรื่อง "ชิงนาง" โดยให้ตัวละครชื่อแม่ลำใยเป็นคนพูดว่า "รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาบคอนนะเจ้าคะ" ซึ่งท่านอธิบายตามคาแรกเตอร์ตัวละครที่รัชกาลที่ ๖ ทรงชี้แจงไว้ว่า แม่ลำใยนั้น "อวดตัวว่าเป็นนักปราชญ์ใช้ศัพท์ล้วนแต่ที่ผิดทั้งสิ้น" สิ่งที่แม่ลำไยพูดจึงไม่ถูกต้อง
ดังนั้น สำนวน "รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม" ไม่ได้หมายความว่า เอาความรู้ใส่หาบคอนแล้วหามไปเหมือนพ่อค้าแม่ขาย แต่ทำเหมือนพระนักปราชญ์ราชบัณฑิต คือแบกคัมภีร์ขึ้นไหล่อย่างองอาจนั่นเอง
ภาพพระแบกหามคัมภีร์ในสยามผมหาไม่เจอ ลองดูภาพพระภูฏานแบกหามคัมภีร์ไปพลางๆ ก่อนนะครับ ลักษณะเครือๆ กัน ภาพนี้ถ่ายโดย © Bhutan Herders