จากกรณีการแชร์ภาพพยาบาลสาวให้นมทารกแทนแม่ที่รถคว่ำนั้น วันที่ 3 มิ.ย. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ Yong Poovorawan ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ข้อความเตือน ใจความระบุว่า อ่าน social media แล้วตกใจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าไม่ควรบริจาคนมแม่ในเวชปฏิบัติ ถ้าทารกไปดูดนมแม่อื่นที่ไม่ใช่แม่ของตน ทางตะวันตกจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ให้ดูแลทารกนั้นเหมือนบุคคลากรทางการแพทย์ ที่ถูกเข็มตำทีเดียว เพราะในนมแม่ที่ไม่ใช่แม่ทารกเอง ไม่ทราบว่ามีเชื้อโรคอะไรบ้าง เช่น HIV ไวรัสบี ไวรัสซี EBV CMV herpes etc. ถึงแม้ว่านมแม่จะดีที่สุด ก็ดีที่สุดสำหรับลูกตัวเอง ไม่ควรบริจาคให้ใครเด็ดขาด ถ้าจะมีการให้นมแม่ ก็จะมีธนาคารนม การจัดจำหน่ายต้องมีขบวนการฆ่าเชื้อที่ถูกวิธี โดยคุณค่านมไม่เสีย จะเป็นการลงทุนที่สูงมาก
สังคมต้องแยกให้ออก การเป็นข่าวใหญ่ในเรื่องการบริจาคนมแม่ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการให้ การเอ็นดู การดูแลเด็กทารก เห็นอกเห็นใจ เป็นเรื่องดี ทุกคนควรสรรเสริญ เยินยอ จะให้เหรียญให้รางวัลก็ไม่ว่ากัน ส่วนอีกประเด็นเป็นเรื่องความรู้ ความเข้าใจ การบริจาคนม ให้ทารกอื่น ที่ไม่ใช่แม่ของตน โดยไม่มีการตรวจกรอง หรือฆ่าเชื้อ เหมือนกับการรับเลือด โดยไม่ได้ตรวจกรอง ผู้บริจาคเลือดทุกคน มีร่างกายแข็งแรงและหวังดี เป็นผู้ให้ ควรได้รับการสรรเสริญ
แต่เลือดที่บริจาคมาแล้ว ถ้าเจอเชื้อโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี (มีมากถึง 4 เปอร์เซ็นต์) และเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี (0.5-1 เปอร์เซ็นต์) หรือเชื้อ HIV ก็จำเป็นต้องทิ้งไป จะไปให้ไม่ได้ เช่นเดียวกันกับการบริจาคนม ต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับทุกคน ให้มีความรู้ที่ถูกต้อง ต้องมีธนาคารกลาง แบบธนาคารเลือด มาดูแล ผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะกล่าวว่าใคร ต้องการให้ความรู้ แต่มีผู้กล่าวหาเข้ามาด้วยวาจาที่ไม่สุภาพจำนวนมาก