การส่งแบบภาพข่าว..ขายทางเนต
การส่งภาพขายแบบภาพข่าว หรือ Editorial
ตัวแทนขายภาพออนไลน์ที่เรียกว่า ไมโครสต็อก (Microstock) นั้น นอกจากจะเปิดรับภาพที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยตรงแล้ว บางแห่งยังเปิดรับภาพประเภทที่เรียกว่า Editorial Use Only อีกด้วย ภาพประเภทนี้เหมาะสำหรับช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพเหตุการณ์ต่าง ๆในรูปแบบที่เรียกว่า “ภาพข่าว” หรือมีเป้าหมายที่จะเป็น “ช่างภาพข่าวอิสระ” ให้กับผู้ใช้งานภาพประเภทนี้จากทั่วโลก โดยไม่ต้องสังกัดสำนักพิมพ์ สำนักข่าว หรือหน่วยงานใดๆ เป็นการเฉพาะ
ในช่วงหลัง ๆ มานี้ นักถ่ายภาพชาวไทยจำนวนหนึ่งที่ขายภาพอยู่ในไมโครสต็อก ได้ส่งภาพประเภทนี้ไปขาย และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากจะได้ยอดดาวน์โหลดภาพจากลูกค้าของไมโครสต็อกแล้ว บางคนที่มีผลงานเด่นยังได้รับการติดต่อซื้อภาพประเภทนี้โดยตรงอีกด้วย เพื่อเป็นการเปิดช่องทางใหม่ๆ ในการนำเสนอผลงานภาพถ่ายของนักถ่ายภาพชาวไทย ออกสู่ตลาดโลก ในตอนนี้ ผมจะกล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องนี้กัน
ภาพประกอบโดย ณกฤช จรูญศรีรักษ์ : http://www.shutterstock.com/g/photofriday
ภาพ Editorial Use Only คืออะไร
คือภาพที่จะถูกนำไปใช้อ้างอิงประกอบในการอธิบายเรื่องใด ๆ หรือสิ่งใด ๆ ที่ไม่ใช่การใช้งานเชิงพาณิชย์โดยตรง ภาพ Editorial สามารถแสดงถึงบุคคล สถานที่ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นการเฉพาะได้ ผู้ใช้งานจะใช้ภาพประเภทนี้เป็นตัวอย่างในการกล่าวถึงบุคคล สถานที่ หรือเหตุการณ์เหล่านั้น
โดยทั่วไปแล้ว ภาพทุกภาพที่มีขายแบบ Royalty Free แบบปกติอยู่ในไมโครสต็อกทุกแห่ง ถือว่าเป็นภาพแบบEditorial อยู่แล้วทั้งสิ้น ผู้ใช้งานสามารถนำภาพไปใช้งานในลักษณะนี้ได้เลย แต่ภาพที่ขายแบบ Editorial โดยเฉพาะนั้น จะไม่สามารถนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ทางการค้าหรือการโฆษณาเพื่อการค้าเหมือน ภาพแบบ Royalty Free ได้
ภาพประกอบโดย ณกฤช จรูญศรีรักษ์ : http://www.shutterstock.com/g/photofriday
ภาพที่ขายแบบ Editorial Use Only จะสามารถใช้งานได้ดังนี้
- ใช้ในการรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ หรือบทความในนิตยสาร
- ใช้ในบล็อกหรือเว็บไซต์ เพื่อประกอบการอธิบายความหมายของสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ใช่การโฆษณาสินค้าหรือบริการโดยตรง
- ใช้ในการนำเสนองานที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ เช่นการศึกษา การวิจัยด้านวิชาการ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ลูกค้าต้องการทำภาพสไลด์เพื่อนำเสนอการเดินทางของบริษัทของเขา ซึ่งไปเจรจาการค้า กับคู่ค้าที่ประเทศฝรั่งเศส ลูกค้านำเสนอภาพของเจ้าหน้าบริษัทและคู่ค้าที่เจรจากันในกรุงลอนดอน ประเทศฝรั่งเศสขึ้นจอโปรเจ็กเตอร์ เพื่อรายงานผลการเดินทางแก่ที่ประชุมในบริษัท เพื่อให้สไลด์ดูดีหรือมีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ ก็สามารถจะดาวน์โหลดภาพคนกำลังท่องเที่ยวหอไอเฟลหรือบรรยากาศการใช้ชีวิต ทั่วไปของคนในลอนดอนมาประกอบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพของกรุงลอนดอนให้ชัดเจนขึ้น การใช้งานภาพในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการใช้งานภายใต้เงื่อนไข Editorial Use only
ตัวอย่างที่สอง ลูกค้าต้องการตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้สาระความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ ก็สามารถค้นหาและดาวน์โหลดภาพรถยนต์ที่มองเห็นยี่ห้อหรือรุ่นได้อย่างชัดเจน ที่ขายแบบ Editorial Use ไปใช้งานได้
ภาพประกอบโดย ณกฤช จรูญศรีรักษ์ : http://www.shutterstock.com/g/photofriday
ภาพที่ขายแบบ Editorial Use Only จะไม่สามารถใช้งานได้ในลักษณะต่อไปนี้
- ในวัสดุหรือสื่อใด ๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อการโฆษณาหรือการส่งเสริมการตลาด
- ในงานที่มีวัตถุประสงค์แบบ “โฆษณาแฝง” เช่น ใช้ประกอบบทความที่ผู้เขียนหรือผู้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนใด ๆ จากบุคคลหรือบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ให้เขียนหรือนำเสนอในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นประโยชน์ในทางการค้าต่อผู้ จ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนนั้น
ตัวอย่างเช่น ลูกค้ากำลังส่งสินค้าชนิดใหม่เข้าสู่ตลาดของประเทศฝรั่งเศส จึงได้มาดาวน์โหลดภาพคนกำลังท่องเที่ยวที่หอไอเฟลเพื่อไปประกอบในโปสเตอร์ สำหรับการประชาสัมพันธ์สินค้าดังกล่าวนั้น หรือนำไปประกอบการส่งอีเมลแนะนำสินค้า อย่งนี้ถือว่าเป็นการใช้งานภาพผิดจากข้อตกลงของภาพ Editorial Use Only เป็นต้น
ตัวอย่างที่สอง เครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอล จ้างนักเขียนเพื่อเขียนคอลัมน์หรือบทความประจำในนิตยสาร โดยมุ่งเน้นการเขียนบทความสนับสนุนหรือประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ของบริษัทตนเอง เป็นหลัก หรือไม่ก็มีการลงตรายี่ห้อหรือสัญลักษณ์ของสินค้าหรือบริการอื่นใดไว้ใน ลักษณะที่ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่การเขียนบทความสาธารณะทั่วไป อย่างนี้จะใช้ภาพประกอบแบบ Editorial ไม่ได้
สิ่งนี้คือส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับภาพ Editorial ทุกภาพ ผู้ใช้งานภาพจะใช้ภาพในการประกอบหรือธิบายหรือยกตัวอย่างบุคคล สถานที่ สิ่งของและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ “เป็นจริง” พวกเขาจะต้องได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการอธิบายสิ่งเหล่านี้ ว่ามีความถูกต้อง โดยขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้จากคำอธิบายภาพที่ช่างภาพใส่ไปในคำอธิบายภาพทุก ภาพเป็นสำคัญ
สำหรับภาพที่มีเนื้อหาเหมาะสำหรับเป็นภาพข่าว จะต้องมีคำอธิบายที่ระบุจำเพาะเจาะจงถึงลักษณะสำคัญที่สุดของภาพนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดในการเขียนคำอธิบายภาพก็คือ จะต้องครอบคลุมว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน และ เมื่อใด การอธิบายภาพจะต้องกระชับได้ใจความ ตรงตามความเป็นจริง ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า ความถูกต้องแม่นยำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการบรรยายภาพประเภทนี้
ต่อไปนี้เป็นวิธีการเขียนคำอธิบายภาพ Editorial ใน Shutterstock
เพื่อให้ผู้ต้องการใช้งานภาพได้ค้นหาและเลือกภาพที่ต้องการได้ง่ายขึ้น Shutterstock จะใช้รูปแบบต่อไปนี้เป็นมาตรฐานสำหรับอธิบายภาพ Editorial โดยต้องเขียนเรียงตามลำดับดังนี้ (ดูภาพประกอบ)
ส่วนที่ 1 เรียกว่า Dateline หรือ ชื่อเมือง,รัฐ/ประเทศ – เดือน วัน : คำอธิบายที่เป็นจริงในเนื้อหาของภาพ วันที่ที่ถ่ายภาพ สถานที่ถ่ายภาพ และอาจจะเพิ่มคำอธิบายเพิ่มเติมได้อีกถ้าจำเป็น
หมายเหตุ ในส่วนที่ขีดเส้นใต้ไว้นั้น เป็นข้อบังคับว่าต้องเขียนด้วยภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดเท่านั้น เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ผู้ใช้งานรู้ขอบเขตคร่าว ๆ อย่างรวดเร็วในขั้นตอนการค้นหาภาพ ว่าใช่ภาพที่พวกเขาต้องการหรือไม่ การใส่ข้อมูลในส่วนนี้ไม่ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ จะทำให้ภาพถูก Rejected ได้
ส่วนที่ 2 เรียกว่า First Sentence หรือ คำอธิบายภาพประโยคแรก ให้พิจารณาภาพที่จะส่งว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรเป็นสำคัญ อธิบายสิ่งที่อยู่ในภาพ ใส่เฉพาะข้อมูลที่เป็นถูกต้องเป็นจริง และต้องเป็นข้อมูลที่จำเป็นที่สุดซึ่งอธิบายเนื้อหาของภาพนั้นโดยตรงเท่า นั้น ถ้าเป็นภาพที่กล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ให้เริ่มต้นประโยคโดยการระบุชื่อของบุคคลในภาพนั้น ตามด้วยการอธิบายว่าบุคคลนั้น (หรือบุคคลเหล่านั้น) กำลังทำอะไร ข้อควรระวังก็คือ จะต้องอธิบายการกระทำทั้งหมดด้วยPresent tense คืออธิบายแบบปัจจุบันขณะเท่านั้น จะใช้เป็น Past tense หรือ Future tense ไม่ได้ จากนั้นปิดท้ายประโยคนี้ด้วยวันเดือนปี ตามด้วยสถานที่ที่ถ่ายภาพนั้น
ภาพประกอบโดย ณกฤช จรูญศรีรักษ์ : http://www.shutterstock.com/g/photofriday
บุคคลที่ปรากฏในภาพ Editorial
- นักกีฬาและบุคคลที่มีชื่อเสียง จะต้องใส่ชื่อของบุคคลนั้นไปด้วยเสมอ
- ภาพบุคคลทั่ว ๆ ไป ถ้าไม่สามารถหาชื่อมาได้ ให้ใส่คำว่า “unidentified” ลงไปในคำอธิบายภาพทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น ภาพผู้หญิงทั่ว ๆ ไปขายผักในตลาด ก็ต้องเขียนว่า “An unidentified woman sells vegetables…”
- ภาพบุคคลหรือนักกีฬาที่แม้จะไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าถ่ายแบบเดี่ยวเต็มเฟรม หรือโดดเด่นเป็นเนื้อหาสาระหลักสำคัญ ก็ต้องหาชื่อมาใส่ด้วย แต่ถ้าถ่ายในลักษณะเป็นกลุ่ม เป็นทีมหลาย ๆ คน ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อเป็นรายบุคคล
- ภาพเด็ก เป็นภาพที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ จะต้องหาชื่อ อายุ และสถานที่ที่ถ่ายภาพมาให้ได้เสมอ ภาพที่ไม่มีข้อมูลเหล่านี้ จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ผ่าน ยกเว้นว่าเป็นภาพที่ดูน่าสนใจมาก ๆ และเราคิดว่าเหมาะสำหรับเป็นภาพแนวนี้จริง ๆ ก็สามารถใส่ข้อมูลอื่น ๆ ตามความเป็นจริง และในส่วนของชื่อเด็ก ก็สามารถใส่คำว่า “an unidentified child”ได้เช่นกัน
ส่วนที่ 3 เรียกว่า Second Sentense หรือคำอธิบายภาพประโยคที่สอง โดยทั่ว ๆ ไปแล้วคำอธิบายภาพประโยคที่สองจะไม่จำเป็นมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคำอธิบายในประโยคแรกยังอธิบายเนื้อหาของภาพได้ไม่มากหรือชัดเจนพอ ก็สามารถเพิ่มข้อความอธิบายเพิ่มเข้าไปได้อีก เช่น ภาพเกี่ยวกับสถานที่สำคัญ ๆ หรือเมืองสำคัญ ๆ สามารถถ่ายมาส่งเป็นภาพรูปแบบนี้ได้อย่างดี แม้จะว่าจะไม่ได้ถ่ายในช่วงเทศกาลหรืองานฉลองสำคัญก็ตาม
ภาพประกอบโดย ณกฤช จรูญศรีรักษ์ : http://www.shutterstock.com/g/photofriday
คุณภาพทางเทคนิคของภาพ Editorial
โดยทั่วไปแล้ว คุณภาพทางเทคนิคของภาพประเภทนี้ก็ใช้เกณฑ์เดียวกับภาพสต็อกทั่วไป การปรับแต่งทั่ว ๆ ไปตามสมควร เช่น แก้ไข White Balance ที่ผิดพลาดในการถ่ายภาพ เพิ่มความสว่างเล็กน้อย (ทั่วทั้งภาพ) ปรับ Contrastเล็กน้อย หรือปรับเพิ่ม Clarity เล็กน้อย ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ก็มีข้อแตกต่างอื่น ๆ บางอย่างที่ห้ามทำ เพื่อให้ภาพมีความเหมาะสมกับการใช้งานในลักษณะ Editorial ส่วนใหญ่จะเป็นการตัดต่อและเปลี่ยนแปลงลักษณะของภาพ ซึ่งห้ามไม่ให้มีการตัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันจะทำให้ภาพที่ถ่ายมานั้น มีเนื้อหาสาระหรือข้อเท็จจริงสำคัญที่ผิดไปจากต้นฉบับเดิมที่ถ่ายมา ตัวอย่างเช่น
ภาพประกอบโดย ณกฤช จรูญศรีรักษ์ : http://www.shutterstock.com/g/photofriday
- สีเสื้อของตัวแบบเป็นสีใดสีหนึ่ง แล้วมีการเปลี่ยนให้เป็นสีอื่น ๆ
- มีภาพที่องค์ประกอบดูไม่สมบูรณ์ ใช้โปรแกรม Copy เอาส่วนต่าง ๆ ในภาพมาต่อกันให้ดูสมบูรณ์
- ตัวแบบสูบบุหรี่ มีการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ ทำให้ควันบุหรี่ดูมากขึ้นหรือน้อยลง
- ตัวแบบมีสิว ริ้วรอยบนใบหน้า แล้วมีการตกแต่งเพื่อให้ผิวหน้าเนียนเรียบขึ้น
- ภาพที่มีการลบหรือตัดเอาโลโก้ เครื่องหมายการค้าออกไป เช่น ภาพรถยนต์ที่ลบยี่ห้อหรือป้ายทะเบียนออกด้วยโปรแกรมตกแต่งภาพ
- ถ่ายภาพคนเดินขบวนประท้วง แล้วใช้โปรแกรมลบหรือเพิ่มข้อความในป้ายประท้วง
- ถ่ายภาพในเวลากลางวันหรือเวลาเย็น แล้วเปลี่ยนภาพให้ดูมืดลงเหมือนถ่ายในเวลากลางคืน
- ตัดส่วนภาพ (Crop) เพื่อให้ได้องค์ประกอบภาพที่ดูดี (โดยทั่วไปตัดส่วนได้ไม่เกิน 10%)
- ถ่ายภาพบุคคลหรือวัตถุที่มีทั้งส่วนมืดมากและสว่างมาก แล้วใช้โปรแกรมเพิ่มความสว่างให้ส่วนมืด หรือลดความสว่างในส่วนสว่างมากเกินไป แม้ว่าภาพจะดูดี แต่ก็จะไม่ผ่านหากส่งเป็น Editorial
- ภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลที่บันทึกไว้ใน EXIF ไม่ว่ามากหรือน้อย จะไม่ผ่าน ต้องปล่อยไว้เหมือนเดิม
ภาพประกอบโดย ณกฤช จรูญศรีรักษ์ : http://www.shutterstock.com/g/photofriday
ภาพประเภทที่ส่งเป็นภาพสต็อกแบบ Editorial ได้ จะเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมที่จะส่งแบบภาพ Royalty Freeทั่วไป ซึ่งอาจจะเกิดจากเนื้อหาสาระของภาพ หรือไม่ก็ข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น มีภาพของคนซึ่งไม่สามารถหา Model Release มาได้ หรือมีสัญลักษณ์ โลโก้ เครื่องหมายการค้า ติดอยู่ในภาพจำนวนมาก เป็นต้น เช่น ภาพตึก ภาพสถาปัตยกรรม ภาพเมืองต่าง ๆ ภาพกีฬา ภาพแฟชั่น ภาพวิถีชีวิต ภาพการใช้ชีวิตสังคมเมือง ภาพการท่องเที่ยว ภาพงานแสดงสินค้าหรืองาน Event ต่าง ๆ ภาพการเฉลิมฉลองประจำชาติต่าง ๆ ภาพเหตุการณ์ทางการเมือง การทหาร แม้แต่ภาพสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็สามารถที่จะถ่ายแล้วส่งเป็นภาพแบบ Editorial ได้ โดยไม่จำเป็นต้องลบหรือแก้ไขเครื่องหมายข้อความต่าง ๆ บนฉลาก ฯลฯ
ภาพประกอบโดย Hinnamsaisuy : http://www.shutterstock.com/g/hinnamsaisuy
ไมโครสต็อกที่รับภาพแบบ Editorial Use Only คือ
- www.shutterstock.com ส่งภาพได้ทุกประเภทตามย่อหน้าที่ผ่านมา
- www.dreamstime.com ส่งภาพได้ทุกประเภทเหมือน Shutterstock
- www.123rf.com ส่งภาพได้ทุกประเภทเหมือน Shutterstock
- www.istockphoto.com ไม่รับภาพ Editorial ประเภทภาพกีฬา ภาพการแสดงคอนเสิร์ตหรือการแสดงของศิลปินต่าง ๆ ภาพประเภทรายงานข่าวในแนวบุคคลหรือนักธุรกิจนั่งสนทนากัน เป็นต้น เนื่องจาก iStockphoto เป็นไมโครสต็อกในเครือของ Getty Images ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจภาพสต็อก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและเน้นการนำเสนอภาพประเภทเหล่านี้อยู่แล้ว ภาพอีกประเภทหนึ่งที่ iStockphoto จะไม่รับคือ ภาพของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ยังเป็นต้นแบบซึ่งยังไม่ออกวางจำหน่ายอย่าง เป็นทางการ เช่น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ถ่ายจากงานแสดงสินค้า หรือรถยนต์รุ่นที่นำมาทดสอบเพื่อการผลิตจริงที่เป็นภาพแบบ Spy Shot เป็นต้น
ภาพประกอบโดย ยุทธศักดิ์ จันณรงค์ : http://www.shutterstock.com/g/koratmember
การส่งภาพแบบ Editorial Use Only นี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักถ่ายภาพที่ชอบถ่ายภาพในสไตล์งานข่าว หรือมีจุดมุ่งหมายในการเข้าสู่อาชีพช่างภาพข่าวมืออาชีพต่อไปในอนาคต หรือบันทึกภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งไม่สะดวกในการส่งขายแบบ Royalty Free ตามปกติ จากข้อมูลที่ได้จากนักถ่ายภาพสต็อกชาวไทยซึ่งส่งภาพแนวนี้เข้าไปขายในไมโคร สต็อก ยืนยันว่า ยอดดาวน์โหลดของภาพประเภทนี้ มีไม่น้อยกว่าภาพประเภทอื่น ๆ ที่ส่งกันแบบ RF ปกติอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพแนวนี้ยังมีนักถ่ายภาพสต็อกส่งขายกันน้อย ทำให้มีโอกาสขายได้มาก การตกแต่งภาพก็ใช้เวลาและขั้นตอนต่าง ๆ ไม่มาก เนื่องจากไม่ต้องไปกังวลกับการลบเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ต้องห้ามสำหรับการส่งแบบปกติ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องใช้ Model Release หรือใบอนุญาตการเป็นแบบในกรณีที่ถ่ายภาพซึ่งมีบุคคลปรากฏอยู่ในภาพ และอัตราการได้รับ Approved สำหรับภาพประเภทนี้ก็มีสูงกว่าภาพทั่วๆ ไปอยู่พอสมควร เนื่องจาก คู่แข่งยังมีน้อยอยู่นั่นเอง
ภาพประกอบโดย ธีรวุฒิ มาสวัสดิ์ : http://www.shutterstock.com/g/jannoon028
ภาพประกอบที่ใช้ในบทความนี้ ใช้ภาพของสมาชิก www.stockphotothailand.com ที่มีภาพแบบEditorial Use Only อยู่ใน Portfolio สามารถเข้าชมได้ตามที่อยู่ที่ได้กำกับไว้ใต้ภาพแต่ละภาพครับ ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ