เข้าใจตรงกันนะ!! "อ.เจษฎา" แจง นกประหลาดไม่ใช่ลูกพญาครุฑ แท้จริงคือ "ลูกเหยี่ยวรุ้ง"!!
"อ.เจษฎา" ไขกระจ่าง!! ลูกนกประหลาดที่ชาวเน็ตแห่แชร์ ที่เข้าใจว่าเป็น "ลูกพญาครุฑ" แท้จริงแล้วคือ "ลูกเหยี่ยวรุ้ง"!! ชี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พบได้ในป่าทวีปเอเชียเขตร้อน
จากกรณีบนโลกออนไลน์แห่แชร์ภาพลูกนกประหลาดที่ถูกชาวบ้านจับได้ และเข้าใจกันว่าเป็น "ลูกพญาครุฑ" จนสร้างความฮือฮากันอย่างล้นหลาม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค.58 ที่ผ่านมา รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงของเรื่องราวดังกล่าวว่า ลูกนกประหลาดที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นลูกพญาครุฑนั้นแท้จริงแล้วคือ "ลูกเหยี่ยวรุ้ง" สัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถพบได้ในป่าในทวีปเอเชียเขตร้อนนั่นเอง
ทั้งนี้ดร.เจษฎาได้ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ว่า
"สาธุ..ในที่สุด ท่านก็มาปรากฏ "พญาครุฑ"
ขำๆนะครับ จริงๆลูกนกประหลาดที่เป็นข่าวในช่วงนี้ ก็คือ "ลูกเหยี่ยวรุ้ง" เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองครับ
เหยี่ยวรุ้ง หรือ อีรุ้ง (Crested serpent-eagle) เป็นนกล่าเหยื่อขนาดกลางจำพวกเหยี่ยวที่พบได้ในป่าในทวีปเอเชียเขตร้อน มีการกระจายพันธุ์กว้าง อาหารหลักคืองู เหยี่ยวรุ้งเป็นนกล่าเหยื่อขนาดกลาง ขนาดลำตัวยาวประมาณ 51-71 เซนติเมตร ตัวที่โตเต็มวัยขณะบินจะเห็นแถบกว้างสีขาวที่หาง และใต้ปีกชัดเจน พบในอินเดีย, จีน, ไหหลำ, ไต้หวัน, พม่า, ไทย, อินโดจีน, มาเลเซีย
ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคในปริมาณปานกลาง อาศัยอยู่ตามป่าที่ราบและตามป่าบนยอดเขาใกล้ๆ แหล่งน้ำต่างๆ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ข้อมูลเรื่องเหยี่ยวรุ้ง จากวิกิพีเดีย wikipedia/เหยี่ยวรุ้ง
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant