ความจริงจากชีวิตคนขายหวย รวยจริงหรือ?
เรื่องเล่าขณะติดฝน ได้พบเจอกับป้าจันทร์ คนวังสะพุง เมืองเลย ที่ออกบ้านมาขายหวยได้กว่า 10 ปีแล้ว ป้าจะออกจากบ้านมาขายหวยที่เชียงใหม่ประมาณงวดละ 10 วัน กลับบ้านในวันหวยออกเพื่อไปรับหวยจากยี่ปั๊วที่เมืองเลย อยู่บ้านงวดละ 5 วัน ในช่วง 5 วันนั้นป้าก็ทำนาทำไร่ เป็น “ชาวนา”
ป้าเล่าว่าป้าเริ่มอาชีพขายหวยมาตั้งแต่ปี 2548 เพราะว่าไม่สามารถทำนาได้ เพราะมีปัญหากับโรงโม่ และเหมืองเเร่ เขาใช้ทุกวิถีทาง เช่น ปิดกั้นลำน้ำ ใช้อิทธิพลคุกคาม เพราะป้าเป็นหนึ่งในกลุ่มที่คัดค้านต่อสู้ร่วมกับครูประเวียน บุญหนัก (ถูกลอบยิงเสียชีวิต) เป็นเวลากว่า 3 ปี ยื่นเรื่องตั้งแต่อำเภอ เข้าร่วมประท้วงหน้าทำเนียบ ป้าบอกทำมาหมดทุกอย่าง
แต่ด้วยอิทธิพลของนายทุนที่สามารถซื้อได้ตั้งคนในท้องถิ่นตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยันรัฐมนตรี ทำให้ไม่สามารถสู้กับกลุ่มอิทธิพลได้ นายทุนโรงโม่ใช้ทุกวิถีทางทั้งซื้อตัวแกนนำ ซื้อข้าราชการ ใช้อิทธิมืดเข้าคุกคาม รวมถึงทหาร กลุ่มข้าการชั้นสูงล้วนแต่มีหุ้นลมในบริษัท
นายทุนบอกชาวบ้านว่าจะซื้อแต่เเร่ ไร่ละ 30,000-40,000 บาท แล้วขุดแร่ที่ดินยังเป็นของชาวบ้านอยู่ แต่เวลาขุดเเล้วก็เป็นหลุมเป็นบ่อไม่สามารถใช้ทำกินได้อีกแล้ว ปัจจุบันที่ดินที่มีแร่ราคาสูงถึง 200,000 บาท ขณะต่อสู้ป้าเล่าว่าเอาธงของบางพระองค์ไปปักในที่ที่เขาขุดแร่ เขาก็ดึงออก เพราะบริษัทเขาถวายเงิน “มีหุ้นลม”
ป้าและขบวนการเคลื่อนไหวตรวจสอบพบว่ามีผู้มีอิทธิกว่า 32 คน มีหุ้นลมในบริษัท โรงโม่ต่าง ๆ “วิกฤตเหมืองแร่” สร้างความเจ็บปวดให้แก่คนในพื้นที่ แม้เรื่องที่ป้าเล่าเวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ปัญหาเหมืองแร่ โรงโม่ในพื้นที่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข พี่น้องเมืองเลยยังต้องต่อสู้ และเผชิญกับการคุกคามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลพลเรือน หรือทหาร
การขายหวยงวดนี้อาจเป็นงวดสุดท้ายของป้าจัน งวดหน้านี้อาจไม่ได้ขายหวยอีกเพราะรัฐบาลต้องการให้ขาย 80 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เพราะป้ารับมาก็ 90 กว่าบาทแล้ว เพราะต้องผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ไม่รู้กี่มือต่อกี่มือ ทำให้หวยกว่าจะตกมาถึงป้าผู้ขายราคาก็สูงมาก ทั้งยังต้องมาเดินขาย เสียค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าเดินทางทำให้อย่างไงก็ขาย 80 บาทไม่ได้
ป้าเล่าต่อ ว่าผู้ขายรายย่อยพยายามรวมตัวเพื่อขอรับโควต้าจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยตรง แต่ก็ไม่เคยได้ เพราะ “เฮาเป็นไทบ้านธรรมดา บ่สิมีอำนาจวาสนา เหมือนเจ้านายทหาร สิบ่ต้องต้องเดิน นอนอยู่ซำบาย” ก็มีกิน โควต้าสลากกินแบ่งส่วนใหญ่ทหารได้ แล้วนำมากระจายต่อให้ผู้ขาย ผู้ขายรายย่อยจึงเป็นทั้งผู้รับภาระทั้งหมด ถ้าขายไม่หมดก็ต้องเก็บไว้เอง ถ้าถูกก็ดีไป ถ้าไม่ถูกก็ต้องจำยอม
ไม่เพียงแต่ต้องรับภาระหลายต้นทุน ความเสี่ยงข้างต้น ป้าเล่าว่าเขาจะให้โควต้าผู้ค้ารายย่อยแค่ 5 เล่ม/คน (500 ใบ) จากที่ปัจจุบันให้ 10 เล่ม ป้าว่า 5 เล่มนี้ไม่พอกิน
แม้ว่าปัจจุบันป้าจะทำนา (8 ไร่) ทำไร่อ้อย มีสวนยาง 25 ไร่ แต่ตอนนี้หยุดกรีดแล้ว เพราะไม่คุ้มกับต้นทุนในภาวะที่ราคายางตกต่ำเช่นนี้ ป้าจันบอกว่าที่นายกฯ บอกให้ตัดต้อนยาง “สิตัดหยังเอาไว้รอนายก ฯ คนหน้า ราคายางดีค่อยกรีด สามปีห้าปีรอ” การที่ป้าลงทุนลงแรงไปกับสวนยางนับสิบปีแล้วมีคนป้าคนหนึ่งบอกให้ตัดทิ้งป้ารับบ่ได้ สถานการณ์สวนยางในพื้นที่ที่เคยเป็นความหวังให้แรงงานหนุ่มสาวคืนถิ่น ตอนนี้เขาเหล่านั้นกลับไปทำงานโรงงาน ขายหวยแบบป้าและคนอื่น ๆ หมดแล้ว
อาจกล่าวได้ว่าการคืนความสุขของนายกฯประยุทธ์ ไม่ได้ทำให้คนเล็กคนน้อยมีความสุข แต่บางนโยบายกับสร้างความทุกข์อย่างแสนสาหัสตัดช่องทางทำมาหากินของผู้คนนับหลายพันหลายหมื่นคน ไม่นับว่าใช้อำนาจดิบเถื่อนในการเปิดเหมือง (ดูข่าว) คุกคามคนเล็กคนน้อย หรือกรณีชายฉกรรจ์นับร้อยเข้าไม่คุกคามชาวบ้านผมไม่เห็นประยุทธ์ลงมาดูแล ทั้งที่เป็นอำนาจดิบเถื่อน ผิดกฎหมาย หรือว่าเป็นเหมือนกันเลยเข้าใจกัน
ส่วนเรื่องหวยรัฐบาลนี้ก็ดูหมกหมุ่นแปลก ๆ ผมว่าราคามันจะเพิ่มเป็น 150 หรือ 200 หรือ 1000 บาทต่อใบ ถ้าคนซื้อและคนขายพึงพอใจกับราคานี้ก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะหวยไม่ใช่เศรษฐกิจเรื่องปากท้องเป็น “ความสุข” จากการเสี่ยงโชค ซึ่งไม่พอใจเขาก็ไม่ซื้อแค่นั้นจริงผมว่า ส่วนราคาหวยจะขึ้นจะลงเท่าไหร่ก็ไม่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ไม่น่าเกี่ยวกับเงินเฟ้อ GDP ที่รัฐบาลต้องมาใส่ใจขนาดนี้ หาเวลาไปทำเรื่องอื่นดีกว่า หรือไม่มีปัญญาทำเรื่องอื่นแล้วเลยหมกหมุ่นแต่เรื่องนี้
เรื่องเล่าชีวิตคนขายหวย
โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่