"ลุงสุเทพ" เหยื่อ 'ควันบุหรี่มือสอง'เรื่องร้าย..ของคนไม่สูบบุหรี่
"ลุงสุเทพ" เหยื่อ 'ควันบุหรี่มือสอง'เรื่องร้าย..ของคนไม่สูบบุหรี่
คงผ่านตากันมาบ้างแล้ว สำหรับโฆษณารณณงค์ "ควันบุหรี่มือสอง"ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้นำเสนอเรื่องราวผ่านชีวิตจริงของ"คุณลุงสุเทพเกรียงเม็งโคตร"ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงและต้องผ่าตัดกล่องเสียงออกเนื่องจากควันบุหรี่ ทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่
ควันบุหรี่มือสองเกิดขึ้นจาก2แหล่ง คือควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมา และควันบุหรี่ที่ลอยจากปลายมวนบุหรี่ แต่ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่จากต้นกำเนิดใดก็ล้วนอันตรายทั้งสิ้น เพราะในแต่ละปีพบว่ามีคนไม่สูบบุหรี่หลายแสนคนต้องเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการได้รับ "ควันบุหรี่มือสอง"
เรื่องราวของคุณลุงสุเทพ เกรียงเม็งโครตสะท้อนข้อเท็จจริงนี้ได้ เป็นอย่างดี
"ผมเป็นคนที่รักการออกกำลังกายไม่สูบ ไม่ดื่ม ยึดหลักดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลาง แต่เมื่อปี พ.ศ.2539ขณะรับราชการเป็นนายกเทศมนตรีต.บัวใหญ่ นครราชสีมา เนื่องจากความเครียด และความกังวล ตลอดจนภาระหน้าที่ที่ต้องติดต่อประสานงานกับสังคม ชุมชนซึ่งส่วนมากก็จะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้เริ่มมีอาการเจ็บคอบ่อย และเสียงเริ่มแหบ ได้ไปพบหมอที่โรงพยาบาลจึงทราบว่าเป็นอาการของมะเร็งกล่องเสียง ทั้งที่ตนไม่สูบ และไม่ดื่ม จึงทำให้แน่ใจว่ามาจากสาเหตุของควันบุหรี่"มือสอง" ซึ่งในขณะนั้นคิดว่าคงไม่สามารถพูดสื่อสารกับใครได้อีกแล้ว จนได้เข้าร่วมฝึกการพูดด้วยหลอดอาหาร ผ่านการแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและกำลังใจที่ดีจากครอบครัว จนสามารถพูดสื่อสารได้จนเกือบปกติ ด้วยการออกเสียงผ่านหลอดลม"
ลุงสุเทพ บอกอีกว่า หลังจากนั้น ก็ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรพิเศษให้กับชมรมผู้ไร้กล่องเสียงโรงพยาบาลราชวิถี ด้วยการเป็นผู้ช่วยสอนการฝึกพูดให้กับผู้ไร้กล่องเสียงได้ให้กลับมามีชีวิตใหม่ เพราะการที่พูดไม่ได้ สื่อสารไม่ได้ ทำให้การดำเนินชิวิตยากลำบากมากขึ้นในหลายๆอย่าง เหมือนกับชีวิตขาดหายไปครึ่งหนึ่ง
"สำหรับคนที่ยังคงสูบบุหรี่ อยากให้มองตน เป็นตัวอย่าง เพราะบุหรี่ไม่เคยให้ประโยชน์กับใครไม่ว่าจะทั้งผู้สูบหรือคนรอบข้าง ทว่ามีแต่โทษทั้งร่างกายและชีวิต เพราะฉะนั้นหยุดสูบเถอะครับ เพื่อสุขภาพของตนเอง และไม่ทำร้ายคนรอบข้าง" สุเทพ เตือนใจไว้อย่างน่าคิด
ขณะที่จรัส นิ่มทิพย์รัตน์ประธานชมรมผู้ไร้กล่องเสียงโรงพยาบาลราชวิถีกล่าวว่ารูหายใจที่เจาะขึ้นมาบริเวณคอ อาจเปรียบเทียบได้กับอวัยวะที่33ของผู้ไร้กล่องเสียงการใช้รูหายใจหน้าคอแทนจมูกไปตลอดชีวิต ซึ่งผู้ป่วยต้องยอมรับสภาพที่จะต้องหายใจด้วยวิธีใหม่และให้เสียงพูดผ่านทางหลอดอาหาร เพราะฉะนั้นการให้ความรู้เรื่องสุขปฏิบัติแก่ผู้ป่วยอย่างถูกวิธีในเรื่องนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ การรวมกลุ่มของอดีตผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง ที่ได้รับการผ่าตัดเอากล่องเสียงออกเพราะผลของโรคและการรักษาทำให้ผู้ป่วยไร้กล่องเสียงนั้น อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายขาดความมั่นใจ รู้สึกมีปมด้อย ถึงขั้นที่ไม่อยากพูดคุยกับใครเลย. ฉะนั้นการจัดตั้งชมรมเพื่อเป็นหนึ่งตัวช่วยที่ดีให้ผู้ป่วยมีความหวังที่จะกลับมาออกเสียงได้เร็ว จำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้กำลังใจทั้งจากตนเองและครอบครัว สิ่งสำคัญซึ่งเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตใหม่ต่อไป
น่าเศร้า...ที่ปัจจุบันยังคงมีผู้ไม่สูบบุหรี่นับล้านคนต้องสัมผัสกับควันบุหรี่มือสองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีสถานที่ปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง!