ประหารคนโกงได้ไหม... แล้วจะแก้ปัญหาจริงหรือ? โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล และต่อภัสสร์ ยมนาค
ซึ่งให้ความเห็นเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน จากมุมมองของทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้บังคับใช้กฎหมายครับ
มาร์ค เจริญวงศ์: สวัสดีครับอาจารย์ต่อตระกูลและต่อภัสสร์ ผมติดตามอ่านบทความชุด“ต่อต้านคอร์รัปชัน” มาเป็นระยะแล้ว วันนี้ผมจึงใคร่ขออนุญาตมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองนะครับ
เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหน้าที่ที่ผมเคยรับผิดชอบผมอยู่ ทำให้เคยมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนของ The United Nations Convention Against Corruption (UNCAC หรืออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชันแห่งสหประชาชาติ) ซึ่งพยายามที่จะกระตุ้นให้ประเทศไทยเร่งดำเนินการในการให้สัตยาบันกับอนุสัญญาฉบับดังกล่าว
ประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกและผู้คุยกันในเวทีของการประชุมครั้งนั้นคือเรื่อง “อัตราโทษจำคุก” ที่ใช้บังคับกับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการคอร์รัปชันซึ่งในอนุสัญญากำหนดไว้ 10 ปี ในประเด็นนี้ ผมมีโอกาสแจ้งให้ที่ประชุมดังกล่าวทราบว่า อัตราโทษตามกฎหมายไทยที่บัญญัติไว้สำหรับผู้กระทำความผิดนี้นั้นกำหนดไว้สูงกว่าที่อนุสัญญากำหนดเป็นอย่างมาก แม้แต่นักกฎหมายไทยหลายๆ คนอาจลืมไปแล้วว่า ข้อหาเจ้าพนักงานรับสินบนนั้นมีโทษสูงสุดถึงขั้น “จำคุกตลอดชีวิต”และ “ประหารชีวิต” ซึ่งโทษในอัตราดังกล่าวนี้มีการกำหนดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 แล้ว แต่ไม่เคยถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ดังนั้น อัตราโทษสำหรับการกระทำผิดนี้
ผมจึงเห็นว่าประเทศของเราได้กำหนดไว้สูงกว่ามาตรฐานสากลแล้ว แต่ประเด็นที่ผมเกิดฉุกใจขึ้นหลังจากนั้นคือ แม้กฎหมายกำหนดให้อำนาจดุลยพินิจในการลงโทษจำคุกในข้อหาดังกล่าวไว้ตั้งแต่ 5 ปีไปจนถึงโทษประหารชีวิต แต่ในความเป็นจริงนั้น การใช้บังคับบทลงโทษนี้ถูกนำมาใช้จริงหรือไม่จะเห็นได้ว่าคดีใหญ่ๆ ระดับประเทศที่เกิดการทุจริตและอยู่ในความสนใจของประชาชนนั้น แม้จะมีการริบทรัพย์และการลงโทษ โดยส่วนใหญ่โทษจำคุกที่นำมาใช้ แม้เราจะกำหนดไว้สูงกว่ามาตรฐานสากลมาก แต่ในทางปฏิบัติหลายต่อหลายคดี เราจะได้ยินว่าผู้กระทำความผิดอาจถูกลงโทษจำคุกเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ทั้งที่การกระทำผิดนั้นก่อความเสียหายให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวง และด้วยการกำหนดโทษในลักษณะดังกล่าว จึงยังทำให้พบเห็นการคอร์รัปชันอยู่ในทุกระดับชั้นของสังคมไทย
ต่อตระกูล: ขอบคุณอัยการมาร์คมากครับ ที่เล่ามานี้อัดแน่นด้วยข้อมูลที่น่าสนใจและประเด็นที่น่าสนทนาด้วยกันหลายประเด็น ทั้งเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก UNCAC ของประเทศไทย มาตรการทางกฎหมายเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน กระบวนการบังคับใช้ และบทลงโทษของกฎหมาย
เริ่มต้นจากประเด็นท้ายก่อน ไม่ใช่แค่นักกฎหมายบางคนเท่านั้นที่ลืม คนที่คลุกคดีอยู่กับการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างผมเองยังเพิ่งทราบว่าที่จริงกฎหมายคอร์รัปชันมีโทษรุนแรงถึงขั้น “ประหารชีวิต”อยู่ตั้งนานแล้ว คงเพราะบทลงโทษนี้ยังไม่เคยถูกนำมาใช้ คนจำนวนมากถึงไม่เคยรู้ อันที่จริงถ้าคุยกันบนพื้นฐานทฤษฎี “Principal-Agent”ที่ Principal ในที่นี้หมายถึงประชาชน จะต้องคอยควบคุม ข้าราชการและนักการเมือง(Agent) นั้น การมีบทลงโทษที่รุนแรง และนำมาใช้ได้จริง จะเป็นการเพิ่มต้นทุนของการทำผิด จึงควรเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการโกงได้ เชื่อว่าถ้านักโทษในคดีทุจริตใหญ่ๆที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ถูกประหารจริงสักคน คนโกงทั้งหลายคงจะกลัวกันลนลาน
ต่อภัสสร์: เห็นด้วยครับ แต่การให้ลงโทษรุนแรงได้จริง อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตในภาพกว้าง อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น สำหรับคดีทุจริตที่ไม่ใหญ่มาก และไม่ได้อยู่ในสายตาประชาชน ซึ่งมีอยู่มากนั้น ทำได้ยาก การทุจริตแบบนี้จึงอาจจะไม่ถูกยังยั้งได้
ในแง่ทฤษฎี ถ้าจะทำให้การลงโทษหนักแก้ปัญหาในภาพกว้างได้ ต้องอยู่บนสมมุติฐานว่าสังคมมีกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพโดยประชาชน ทั้งการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวก ความเข้าใจง่ายของข้อมูลที่เปิดเผย และที่สำคัญคือความทุ่มเท
ของประชาชนผู้มีจิตสาธารณะจำนวนมาก ดังนั้น ในสภาพสังคมที่การร้องเรียนอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้ง และการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะทั้งลำบากและเข้าใจยาก ทำให้การร้องเรียนมีน้อยเมื่อเทียบกับการทุจริตที่เกิดขึ้นจริง จึงเป็นปัญหาที่สำคัญของมาตรการบนทฤษฎีนี้
อีกประเด็นหนึ่งคือ การใช้บทลงโทษรุนแรงอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป เห็นได้จากในอดีตที่ประเทศไทยเคยใช้มาตรการเหล่านี้ลงโทษคู่ต่อสู้ทางการเมือง หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศ เช่น จีนที่ประหารนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงไปแล้วหลายคน ผมเคยฟังนักวิชาการจีนพูดถึงในงานสัมมนาว่าที่จริงเป็นการตัดตอนไม่ให้สาวมาถึงสมาชิกพรรคระดับสูงคนอื่นๆ
ต่อตระกูล: นี่จึงเป็นผลให้มาตรการทางกฎหมายในลักษณะนี้ในอดีตที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จในไทย ถ้ากระบวนการสืบสวนคดีคอร์รัปชันยังทำได้ยาก และเป็นไปอย่างล่าช้า พ่อเคยอยู่ในคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. หลายคณะ เข้าใจดีว่าทำไมถึงทำได้ยากนัก ยิ่งเป็นคดีที่มีนักการเมืองและข้าราชการใหญ่ๆเกี่ยวข้องยิ่งล่าช้า เพราะด้วยอำนาจและอิทธิพล หลักฐานจึงมักถูกกลบเกลื่อนอย่างแนบเนียน และพยานก็มักจะไม่ยอมให้ความร่วมมือ จนคดีหมดอายุความนี่ขนาดมีโทษไม่มากนะ แค่ถูกปรับและจำคุกไม่นานเขาก็ยังกลัวมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะนักการเมืองที่จะต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่งและตัดสิทธิเล่นการเมือง เสียโอกาสที่จะหาเงินได้มหาศาล คนเหล่านี้ก็จะทุ่มทุน ทุ่มแรงสุดฤทธิ์เพื่อให้รอดอยู่แล้ว หากจะเน้นลงโทษสูงสุดตามกฏหมายที่มีอยู่คือประหารชีวิต จะยิ่งเอาผิดยากยิ่งขึ้นหรือเปล่า?
ต่อภัสสร์: สรุปคือการมีโทษหนักและใช้ได้จริง ก็จะนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่จะเป็นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันทั้งระบบอย่างยั่งยืนจริงได้ ก็ต่อเมื่อมีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้ออำนวย
ต่อตระกูล: ถูกต้อง แต่จะไปรอให้สภาพสังคมเอื้ออำนวยก็ไม่รู้จะอีกปีกี่ชาติ ดังนั้นการที่ไทยได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมกับยูเอนในอนุสัญญา UNCAC ในปีพ.ศ.2554 ซึ่งคุณมาร์คมีส่วนร่วมด้วยนั้นนับเป็นการสร้างประโยชน์อย่างมากเพราะมันนำไปสู่การปรับปรุง พ.ร.บ. ของ ป.ป.ช. ที่ให้เพิ่มมาตรการป้องกันการคอร์รัปชันเชิงรุกเข้ามาใช้หลายประการ เช่น การให้มีคณะติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อเก็บหลักฐานไว้พร้อมตลอดทุกขั้นตอนพร้อมที่จะฟ้องได้ทุกเมื่อ เมื่อใดที่ลงมือทุจริต ตลอดจนการเปิดเผยราคากลางและต้องเปิดเผยชื่อผู้รับผิดชอบที่ทำราคากลางและที่มาของตัวเลขราคากลางต่างๆ นั้น
ถึงแม้ว่ามาตรการเหล่านี้ยังมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็เริ่มเห็นผลที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในสัญญาก่อสร้างหลายแสนล้านได้บ้างแล้ว