ผบ.ทอ.ของสหรัฐฯกล่าวว่ากองทัพอากาศของรัสเซียกับจีนกำลังจะแซงหน้าสหรัฐฯภายใน 3-5 ปีนี้
เมื่อวันที่ 26 พ.ค.58 ที่ผ่านมา สำนักข่าว sputnik news ของรัสเซียรายงานว่า นายพล Mark Welsh ผู้บัญชาการกองทัพอากาศของสหรัฐฯได้กล่าวในระหว่างเยี่ยมฐานทัพอากาศที่ Langley ของสหรัฐฯอย่างเป็นทางการว่า "จีนกับรัสเซียถือว่าเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในหลายประเทศที่จะมีเครื่องบินรบสมรรถนะสูงในภายใน 3-5 ปีข้างหน้านี้ เมื่อหลายสิบประเทศทั่วโลกเริ่มหันมานิยมใช้เครื่องบินรบระดับ top-end fighters ของรัสเซียกับของจีนมากขึ้นในอนาคต สหรัฐฯใช้เวลาเกือบสามเท่าของจีนและเจ็ดเท่าของรัสเซีย (ถึงจะตามทัน?)"
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของรายงานว่า มีภัยคุกคามทางสงครามที่กำลังจะมาถึงระหว่างสองประเทศ เว้นเสียแต่กรุงวอชิงตันจะหยุดออกมาเรียกร้องให้กรุงปักกิ่งหยุดโครงการก่อสร้าง (สนามบิน) ในทะเลจีนใต้
บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ The Global Times ซึ่งอยู่ในเครือของหนังสือพิมพ์ People’s Daily ของรัฐบาลจีนกล่าวว่า "หากสหรัฐฯกำหนดเส้นตายเอาไว้ว่าจีนจะต้องหยุดกิจกรรมของตน ดังนั้นสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีนในทะเลจีนใต้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (a US-China war is inevitable in the South China Sea)"
ไหนๆก็พูดถึงเรื่องจีนกับสหรัฐฯแล้ว ถ้าขาดรัสเซียไปรสชาติคงจะกร่อยไปสักนิด ดังนั้นขอเพิ่มอีกข่าวหนึ่งนะครับ วันที่ 27 พ.ค.58 Sputnik news พาดหัวข่าวเรื่องหนึ่งว่า "นายกฯเมดเวเดฟ: รัสเซียทบทวนความสัมพันธ์กับอียูและสหรัฐฯท่ามกลางความร่วมมือกับจีน" (คำว่า "ทบทวน/พิจารณาตรวจสอบ" ในที่นี้สื่อฯเขาใช้คำว่า "review" ซึ่งในทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้วให้ความรู้สึกที่ไม่ค่อยจะเป็นบวกสักเท่าไรนัก ไม่ใช่ทบทวนเพื่อทำให้ดีขึ้นหรือกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น แต่หมายถึงทบทวนว่าจะเอายังไงดีกับมันหว่า? ประมาณนี้อ่ะ)
ตามรายงานข่าว นายกฯ Medvedev ของรัสเซียกล่าวในที่ประชุม international law forum ที่กรุงเซ้นต์ปีเตอร์สเบิร์กว่า กรุงมอสโคว์มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์กับกรุงปักกิ่งและเริ่มดำเนินการเชื่อมต่อโครงการเส้นทางสายไหมของจีนเข้ากับโครงการเขตการค้าเสรียูเรเซียของรัสเซีย
Medvedev กล่าวตอนหนึ่งว่า "นี่ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เป็นบวก และมันทำให้เรามีการทบทวนว่าความสัมพันธ์ของพวกเรากับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆว่าควรจะเป็นอย่างไร ตั้งแต่ปีที่แล้วซึ่งเต็มไปด้วยมุมมองทางกฎหมายที่เกี่ยวกับชีวิตภายใต้สิ่งที่เรียกว่าแซงชั่น"
ในช่วงที่สหรัฐฯและยุโรปแซงชั่นรัสเซียนั้น กรุงมอสโคว์ได้ก้าวขึ้นมากระชับความสัมพันธ์กับกรุงปักกิ่งทั้งด้านพลังงาน การป้องกันประเทศ โดยทั้งสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงในเรื่องพลังงานที่มีมูลค่ามหาศาล และจัดการฝึกซ้อมทางกองทัพร่วมกันด้วย นายกฯรัสเซียกล่าวว่าการที่รัสเซียจะขยายหรือจะยกเลิกแซงชั่นต่อตะวันตกนั้นขึ้นอยู่ทิศทางที่เหมาะสมที่ตะวันตกได้ทำต่อรัสเซีย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมาสำนักงานข่าวสารข้อมูลรัฐสภาของจีนได้เผยแพร่เอกสารยาวประมาณ 9,000 คำซึ่งมีเนื้อโดยย่อพูดถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ทางทหารของจีนเกี่ยวกับความการป้องกันประเทศเพื่อรักษาความปลอดภัยการพัฒนาโดยสันติของจีน โดยอนุญาตให้จีนสามารถกำหนดนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและพร้อมที่จะเผชิญกับภัยคุกคามทั่วโลกได้ ซึ่งรวมถึงลัทธิการใช้อำนาจเป็นใหญ่ (hegemonism) และลัทธิการแทรกแซงสมัยใหม่ (neo-interventionism) ด้วย
แม้จีนจะไม่ได้เอ่ยถึงประเทศใดที่จัดอยู่ในคำนิยามของทั้งสองคำนี้ แต่สังเกตได้จากท่าทีที่ก้าวร้าวและยั่วยุของอเมริกาในทะเลจีนใต้ โดยสรหัฐฯพยายามยุแหย่ให้บางประเทศในเอเซียเกิดความผิดใจกันกับจีนอยู่บ่อยๆ รวมทั้งสิ่งที่จีนเรียกว่า "ปฏิวัติสีกองกำลังต่อต้านจีน" ซึ่งมีความพยายามเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในจีนและดินแดนใต้การปกครองของจีนอย่างฮ่งกงและไต้หวัน จีนมองว่าสิ่งเหล่านี้คือการท้าทายต่อความมั่นคงของชาติและความมีเสถียรภาพของสังคมในประเทศจีนด้วย ดังนั้นทั้งสองคำนี้จึงน่าจะเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างไปยังสหรัฐฯ อียู และญี่ปุ่นด้วย และเมื่อเร็วๆนี้ก็มีข่าวจากทางจีนว่า จีนกำลังจะขยายบทบาททางกองทัพของตนเข้าสู่น่านน้ำสากลด้วย เหตุผลก็คงจะคล้ายๆกับของสหรัฐฯที่มีอยู่ทั่วมหาสมุทรในทุกมุมโลกว่าเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยจากภัยคุกคามสารพัดอย่างที่สหรัฐฯจะยกมาเป็นข้ออ้างในการขยายอิทธิพลทางการทหารของตนซึ่งมีมากกว่าของฮิตเลอร์ในอดีตหลายเท่านัก งานนี้จีนก็เลยเล่นเกลือจิ้มเกลือดูบ้าง