นางอุรสาราชเทวี เทวีของพญาอินทรปฐมคลอดราชบุตรออกทางปากมีชื่อ "สุวัณณมุกขทวาร" เมื่ออายุ ๗ เดือนก็มีอภินิหารแรงกล้า พราหมณ์ปุโรหิตจึงไปทูลยุยงให้ลอยแพพระกุมารและพระเทวีไปเสีย มิฉะนั้นจะเกิดอุบาทว์แก่เมือง ฝ่ายไอยมหาอุปราช ทราบว่าพระเทวีและพระกุมารถูกลอยแพก็รีบกลับเมืองแล้วให้จัดพิธีบวงสรวงพญานาคและปักเสาประทีปโคมทองทุกท่าน้ำ
ครั้งนั้นพญานาคชื่อ พญาศรีสัตตนาคก็พาบริวารนำหินไปทำฝาย ปิดทางต้นน้ำแม่โขงไว้มิให้ไหลลงสู่สมุทร (ทุกวันนี้เรียกว่า"ฝายนาค"หรือ"ลี่ผี") เมื่อน้ำท้นขึ้นเต็มฝั่งแล้ว แพของพระเทวีและพระกุมารก็ย้อนไปถึงท่าโคมคำ ไอยมหาอุปราชจึงรับธิดาและนัดดาไว้ แล้วต่อมาก็ให้สร้างเป็นเมืองให้ชื่อว่า "นครสุวรรณโคมคำ เมืองโยนกนาคนคร เชียงแสน"
อาณาจักรโยนกนาคนครนี้มีพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพรหม พระเจ้าชัยศิริ
ตำนานได้กล่าวถึงประวัติตอนปฐมวัยของ "พระเจ้าพรหมกุมาร" เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ ๗ ปี ก็สามารถเล่าเรียนวิชาเพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม จนจบครบถ้วนกระบวนความ หรือเมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ ๑๓ ปี ได้ทรงสุบินว่า มีเทพยดามาบอกว่า จะมีช้างเผือก ๓ ตัวล่องน้ำโขงมา และให้เจ้าพรหมกุมารไปล้างหน้าที่นั่น หากจับช้างตัวแรกได้จะมีอานุภาพปราบได้ทั้ง ๔ ทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ ๒ จะมีอานุภาพได้ชมภูทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ ๓ จะปราบแว่นแคว้นล้านนาได้
พอรุ่งเช้า เจ้าพรหมกุมารจึงได้พาบริวารประมาณ ๕๐ คน ไปยังท่าน้ำ ครั้งแรกเห็นงูเหลือมเลื่อมเป็นมันระยับลอยผ่านไปแล้ว ๑ ตัว พอตัวที่ ๒ ก็เป็นงูอีกเหมือนกัน พอตัวที่ ๓ เจ้าพรหมกุมารจึงทรงนึกถึงเรื่องในสุบินนั้นคงเป็นงูนี้่เอง จึงพร้อมกับบริวารช่วยกันจับงู พระเจ้าพรหมก็ลงน้ำ ไปถึงก็เอาไม้รวกเกาะคองูนั้น พอขอไม้รวกเกาะคองู งูก็แปรสภาพเป็นช้างเผือกทันที มหาดเล็ก 50 คน ก็ช่วยกันเอาขอไม้รวกเกาะคอช้างจะเอาขึ้นฝั่งทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมขึ้นฝั่ง เดินไปเดินมาอยู่ในน้ำนั่นเอง
เจ้าพรหมราชกุมาร ก็ใช้ให้มหาดเล็กไปกราบทูลพระราชบิดาว่าได้ช้างเผือกแล้ว แต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง เมื่อพระเจ้าพังคราชทรงทราบเช่นนั้นก็เรียกโหรหลวงมาถาม โหรหลวงก็ทูลว่า ให้เอาทองคำประมาณยี่สิบตำลึงมาตีพางอันหนึ่ง (พางคือระฆังหรือกระดิ่งผูกคอช้าง) แล้วบอกว่าให้พระราชโอรสองค์ใหญ่เอาพางไปที่ฝั่งแม่น้ำ และเอาไม้ตีพางเข้าพอพางดังช้างจะขึ้นฝั่งเอง
พระเจ้าพังคราชก็มีรับสั่งให้ทำพางขึ้นและนำไปที่ฝั่งแม่น้ำโขง และไม้เคาะที่พางก็มีเสียงดังเหมือนระฆัง ช้างก็ขึ้นมาจากฝั่ง เจ้าพรหมกุมารก็นำช้างเข้าเมือง พระราชบิดาก็สร้างโรงช้างเผือกเข้าเลี้ยงบำรุงไว้ที่นั่น ช้างก็เลยได้ชื่อว่า “ช้างเผือกพางคำ”
ในพงศาวดารโยนก กล่าวว่า ในช่วงปลายศาสนาของพระพุทธโกนาคมะนั้น ได้เกิดโรคระบาด ราชบุตรแห่งเมืองปาตลีบุตรจึงพาผู้คนอพยพไปตั้งอยู่ในเขตโพธิสารหลวง ต่อมาราชบุตรชื่อ" กุรุวงษากุมาร "ได้สร้างเป็นเมืองขึ้นมา พอพระเจ้าโพธิสารหลวงทราบข่าวก็ไปรบหลายครั้งแต่ก็พ่ายแพ้ จนพระองค์ต้องยกราชสมบัติให้แก่กุรุวงษากุมาร
ต่อมาได้เรียกชื่อแคว้นนั้นว่ากุรุรัฐและเรียกประชาชนว่า "กล๋อม" ยังมีนางกุมารีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าเมืองได้อพยพหนีโรคร้ายไปอยู่ในป่า และพาบริวารปลูกข้าวอยู่ที่ขอบหนองแห่งหนึ่ง และได้สร้างเมืองชื่อ "อินทปฐาน"
ต่อมาเจ้ากุรุวงษากุมารได้นางนั้นเป็นชายาจึงรวมสองเมืองเข้าด้วยกันให้ชื่อว่า "อินทปัตถมหานคร" จากนั้นก็มีกษัตริย์สืบมาถึง ๔๔,๘๐๐ องค์
ราชสำนักหงษาวดี