30 เม.ย.2558 เป็นวันครบ 40 ปี ที่กรุงไซ่ง่อนแตกและสิ้นสุดสงครามเวียดนามเมื่อปี 2518 โดยที่กรุงลอนดอนมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายผลงานของช่างภาพสำนักข่าวเอพี ที่ประจำอยู่กับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งสู้รบกับกองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ในขณะนั้น
ภาพบางภาพอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่สบายใจได้
ในระหว่างสงครามเวียดนาม สำนักข่าวเอพีประจำกรุงไซง่อน ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ 6 รางวัล ในการรายงานข่าวสงคราม ซึ่ง 4 รางวัลมาจากผลงานภาพถ่าย
ช่วงปี 2500-2520 ที่สำนักงานเอพีกรุงไซง่อน มีช่างภาพมากด้วยประสบการณ์ประจำอยู่
รูปนี้เป็นผลงานเด่นที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2509 เป็นภาพการโยกย้ายศพทหารสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตระหว่างสู้รบในป่าใกล้พรมแดนกัมพูชา โดยศพอยู่ระหว่างถูกดึงขึ้นไปบนเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ
ฮอร์ส ฟาส หัวหน้าช่างภาพของเอพีในช่วงสงครามเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวบีบีซีเมื่อปี 2550 ว่า ตอนนั้น งานของเขาคือพยายามให้รูปได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกวัน และใช้รูปภาพสยบฝ่ายตรงข้าม
ฮอร์ส ฟาส ได้ฝึกช่างภาพชาวเวียดนามหลายคน ซึ่งพวกเขาได้ผลิตผลงานภาพที่โดดเด่น ซึ่งสื่อสารให้ชาวโลกรู้ถึงความเลวร้ายของสงครามต่อผู้คนในพื้นที่
ในมุมมองของนักข่าว สงครามเวียดนามเป็นสงครามที่ต่างออกไป เพราะเป็นสงครามยุคใหม่ที่อนุญาตให้มีการเผยแพร่ภาพได้อย่างเสรี ผู้สื่อข่าวและช่างภาพสามารถเข้าไปในพื้นที่อย่างไร้ข้อจำกัด
เอ็ดดี้ อดัมส์ ช่างภาพสำนักข่าวเอพี จับภาพนี้ไว้ได้ ซึ่งภาพนี้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้ง เป็นภาพของนายพลเหงียน หงอก โลน แห่งเวียดนามใต้ สังหารทหารเวียดกงด้วยปืนสั้นซึ่งจ่อติดศีรษะ รูปนี้เปลี่ยนความคิดของสาธารณชนที่มีต่อสงคราม และเป็นภาพที่ตามหลอกหลอนนายพลเหงียนตลอดชีวิตของเขา
นิค อุท จับภาพ ฟาน ธิ คิม ฟุก เด็กหญิงวัย 9 ขวบ วิ่งหนีระเบิดนาปาล์มในสภาพเปลือย ภาพนี้กลายเป็นอีกภาพที่เป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งในสงครามเวียดนาม
ทหารสหรัฐฯ กว่าหกหมื่นคนเสียชีวิตที่เวียดนาม และบาดเจ็บมากกว่า 3 แสนคน ส่วนชาวเวียดนามนั้น คาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 แสนคน และบาดเจ็บหลายล้านคน
นิทรรศการภาพถ่ายสงครามเวียดนามโดยช่างภาพของสำนักข่าวเอพี จัดแสดงที่ Guardian News and Media’s Gallery กรุงลอนดอน จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 นี้